1.แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์โดยเฉพาะสาขาตจวิทยา หรือแพทย์ผิวหนัง
นพ.โมลี วนิชสุวรรณ เป็นคนจังหวัดสตูลโดยกำเนิด ในช่วงมัธยมศึกษาได้เข้ามาเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และสอบติดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเรียนจบได้มาประจำอยู่ที่โรงพยาบาลสงขลา และได้มีโอกาสมาเรียนแพทย์เฉพาะทางด้านตจวิทยา (ผิวหนัง) ที่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล หลังจากนั้นได้เข้ารับราชการอยู่ที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปีพ.ศ.2530 จนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันโรงพยาบาลสมุทรสาครได้รับการยกฐานะจากโรงพยาบาลทั่วไปเป็นโรงพยาบาลศูนย์ มีแพทย์ พยาบาล พนักงาน เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ ประมาณ 2,000 คน สามารถให้บริการผู้ป่วยนอกได้ถึงวันละกว่า 3,000 คน ผู้ป่วยในวันละ 600 คน
"ในอดีตสาขาวิชา ตจวิทยา เป็นสาขาที่ไม่ค่อยมีแพทย์คนใดสนใจเรียนเท่าใดนัก เพราะถูกมองว่าเป็นเหมือนเป็นสาขาวิชาเล็กๆ และไม่สำคัญ แต่ปัจจุบันสาขาวิชา ตจวิทยากลับเป็นสาขาวิชาที่แพทย์ให้ความสนใจมากอันดับต้นๆของประเทศ แต่ที่เลือกเรียนสาขาวิชานี้ เป็นเพราะไม่ชอบงานผ่าตัด และเป็นสาขาวิชาที่มองเห็นได้ชัดเจนในการวินิจฉัยโรค " นพ.โมลีกล่าว
2.ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จและก้าวสู่นักบริหาร
เมื่อศึกษาจบหลักสูตรแพทย์ ก็ไปเริ่มงานรับราชการที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร เริ่มทำงานด้านบริหารจากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ เมื่อผู้อำนวยการได้ขอให้ช่วยจัดงานปีใหม่ของโรงพยาบาลให้ ตอนแรกก็ตกใจ เพราะไม่เคยทำงานด้านการจัดการมาก่อนเลย และได้ปฏิเสธคำขอของผู้อำนวยการไป แต่ผู้อำนวยการได้ยืนยันว่าผมสามารถทำได้ และจะสนับสนุนทุกอย่าง ก็เลยตกปากรับคำ และเป็นงานแรกที่ได้ทำในการบริหารจัดการ จบงานนี้ได้เรียนรู้ว่า การทำงานในการบริหารจัดการให้ได้ดีเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย โดยเฉพาะการจัดการกับคนและทีมงาน หลังจากนั้นผมก็ได้รับมอบหมายให้ทำงานเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการมาตั้งแต่นั้นมา เป็นจุดเริ่มต้นและได้เรียนรู้งานบริหาร โดยงานบริหารก็มีเสน่ห์ในตัวของมันเอง ส่วนงานบริการด้านการตรวจโรคก็ทำควบคู่กันไปตลอด สำหรับการบริหารนั้นมักจะกระทบต่อคนส่วนมาก ซึ่งหากบริหารได้ดี ก็จะมีประโยชน์ต่อคนจำนวนมากเช่นกัน ผมโชคดีที่ได้มีโอกาสทำงานกับผู้อำนวยการหลายๆท่านซึ่งแต่ละท่านก็มีแนวคิดและหลักการบริหารที่ไม่เหมือนกัน ทำให้ผมได้เรียนรู้งานด้านนี้มากมายและหลากหลาย
3.บุคคลที่เป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิตในการทำงานหรือเรียกได้ว่าเป็นแบบอย่าง
นักบริหารที่ผมให้การเคารพและยึดเป็นแบบอย่างนั้นมีหลายท่าน แต่ที่รู้สึกว่าเป็นแบบอย่างที่ดี คือ นพ.พินิจ หิรัญโชติ อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาครหรืออดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครปฐม ท่านเป็นผู้ที่มีทักษะการเป็นผู้นำสูง มีทักษะในการจูงใจให้คนตั้งใจทำงาน และอีกท่านหนึ่งที่ผมประทับใจ คือ นพ.ประเสริฐ ขันเงิน อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลพุทธชินราช สิ่งที่ประทับใจคือ ท่านเป็นคนที่เชี่ยวชาญทั้งงานบริหารและวิชาการ ดูภายนอกเป็นคนที่ค่อนข้างจะออกไปในทางบู๊ไม่น่าสนใจงานวิชาการมาก แต่พอได้ทำงานร่วมกัน รู้สึกว่าไม่ได้เป็นอย่างนั้น ท่านมีมุมในด้านการเรียนรู้ที่สูงมาก วันหนึ่งเมื่อท่านได้เกษียณแล้ว ผมเห็นท่านนั่งอ่านหนังสืออยู่ เลยถามท่านว่า ท่านเกษียณแล้วนะยังอ่านตำรายากๆอย่างนี้อยู่หรือ ท่านบอกว่า "การเรียนรู้ไม่มีสิ้นสุด ถ้าอยากจะเป็นผู้บริหารที่ดี ต้องมีการเรียนรู้ตลอดเวลา" ท่านจึงเป็นแรงบันดาลใจให้ผมกลับมาเป็นคนขยันอ่านหนังสืออีกครั้ง ทุกครั้งที่ผมมีเวลาว่าง ผมมักจะอ่านหนังสือ ผมคิดว่าการอ่านหนังสือแล้วจดบันทึกเอาไว้ มักจะเป็นบทเรียนที่ดีเสมอ ผมจะต้องเรียนรู้หลักการด้านบริหารให้มากกว่านี้ ถ้าผมทำได้ ก็จะมีประโยชน์ต่อการทำงานและตนเอง
4.ความรู้สึกเมื่อได้รับการเสนอชื่อเป็นแพทย์ดีเด่นของแพทยสภา
ผมได้รับการเสนอชื่อแพทย์ดีเด่นทางด้านบริหาร ส่วนหนึ่งคือความภูมิใจ ที่แพทยสภาให้เกียรติเรา แต่จริง ๆ แพทย์ที่มีฝีมือ มีความรู้ มีคุณธรรม และเหมาะสมยังมีอีกมากมาย ผมอาจจะเป็นคนหนึ่งที่โชคดี ที่ได้มาอยู่ที่ ๆ มีโอกาสสร้างสรรค์ผลงานให้เห็นและคิดว่ายังมีคนที่ดีและเพียบพร้อมในวงการแพทย์อีกเยอะ รางวัลที่ได้เป็นเสมือนกำลังใจให้ผมได้ตั้งใจทำงานให้ดียิ่งขึ้น
5.ทัศนคติหรือหลักการบริหารที่ยึดถือปฏิบัติ
ในเรื่องของหลักการบริหาร ผมมองว่าสิ่งสำคัญที่สุด คือตัวตนของเราสำคัญที่สุด ตัวตนของเราต้องเป็นคนที่มองเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน โปร่งใส มีธรรมาภิบาลในการบริหารงาน ไม่ไปทางด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป ไม่แข็งกระด้างหรืออ่อนแอเกินไป ต้องรักผู้ร่วมงาน แต่จะไม่ต้องเสียงานที่ทำ และไม่ต้องรักงานหรือมุ่งงานจนเกินไปจนเสียระบบการบังคับบัญชา มันจะต้องมีความสมดุลระหว่างงานกับผู้ใต้บังคับบัญชาให้ได้ เพราะงานบริหารนั้น มันเหมือนเหยียบอยู่บนกระดานหก ที่ต้องรักษาสมดุลย์ให้ได้ ไปด้านใดด้านหนึ่งมากไปไม่ดี โลกตอนนี้ซับซ้อนเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก เราต้องตามให้ทันการเปลี่ยนแปลงให้ได้ ดังนั้นต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต
6.ผลงานด้านการบริหารที่ภูมิใจมากที่สุด
เรื่องแรกคือ เรื่อง ระบบรักษาพยาบาลแรงงานข้ามชาติในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเดิมผมมาอยู่โรงพยาบาลแห่งนี้ตั้งแต่ไม่มีแรงงานข้ามชาติ แต่เมื่องานบางอย่างที่คนไทยไม่ทำ จนมีต่างด้าวเข้ามาโรงพยาบาลเต็มไปหมด การมาของแรงงานข้ามชาติ ส่งผลต่อความเสี่ยงที่จะมีการระบาดของโรคเข้าสู่คนไทย และปัญหาเรื่องระบบบริการในโรงพยาบาลเพราะเป็นการเพิ่มภาระให้เจ้าหน้าที่ และงบประมาณ เจ้าหน้าที่ พยาบาลก็เครียด คิดว่าทำไมต้องรักษา เลยคิดว่าจะทำอย่างไรให้เจ้าหน้าที่เปลี่ยนทัศนคติในเรื่องการดูแลแรงงานข้ามชาติ ให้มองว่าเป็นภารกิจไม่ใช่ภาระเพื่อให้คนไทยปลอดภัย ปัจจุบันทางโรงพยาบาลได้แยกแผนกออกมาต่างหาก เพื่อความสะดวกของแรงงานต่างด้าวและลดความไม่สบายใจของคนไทยที่เข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาล แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ไม่รู้ภาษาไทย สื่อสารกับแพทย์และพยาบาลไม่ได้ วิธีการบริหารคือ เรามีพนักงานที่ได้รับการอบรมให้มีความรู้ในการซักประวัติคนไข้จากโรงพยาบาล ที่เป็นชาวพม่าที่พูดไทยได้ พิมพ์ดีดภาษาไทยได้ เป็นผู้ช่วยเหลือคนไข้ และเป็นล่ามให้กับแพทย์และพยาบาล เป็นการอำนวยความสะดวกให้แรงงานต่างด้าว
นอกจากนี้เรามีทีมควบคุมโรค มีหน่วยลงพื้นที่และหน่วยเคลื่อนที่เร็ว เราส่งหน่วยเคลื่อนที่ประจำสัปดาห์ออกไป เราสร้างทีมผู้สื่อข่าวสาธารณสุขของต่างด้าว มีการเชิญแกนนำกลุ่มมาให้ความรู้ด้านสาธารณสุข ให้พวกเขาเป็นหูเป็นตา มีการฝึกอบรมจากรุ่นสู่รุ่น เราพยายามไม่ให้มีการเกิดการระบาดของโรคระบาดเกิดขึ้นในพื้นที่ ในโรงงานและที่พักอาศัย มีการตรวจตราด้านสาธารณูปโภค เรื่องน้ำประปา การขับถ่ายทิ้งสิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอย ซึ่งดำเนินการอย่างบูรณาการ มีการประชุมการจัดการกับทุกภาคส่วนของจังหวัดอย่างเป็นระบบ
เรื่องที่สอง เป็นภูมิใจในความสำเร็จในการจัดตั้งโรงพยาบาลที่อยู่ในความรับผิดชอบอีก 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลวัดเกตุมดีศรีวราราม (โรงพยาบาลสมุทรสาคร 2) ที่สร้างโดยทุนทรัพย์ของทางวัด ที่พุทธศาสนิกชนได้ร่วมกันบริจาคผ่านทางพระครูไพศาลสาครกิจ เจ้าอาวาสวัดเกตุมดีศรีวราราม 200 ล้านบาทและโรงพยาบาลนครท่าฉลอม โรงพยาบาลที่เอกชนและประชาชนชาวสมุทรสาครร่วมผลักดันสร้างขึ้นโดยให้เป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลสมุทรสาคร สิ่งที่ต้องจัดการคือ กำลังคนที่ยังไม่มี และ งบประมาณ
เรื่องที่สาม คือ ภูมิใจที่ได้รับเลือกให้เป็นประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งเป็นชมรมที่กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญมาก ภูมิใจที่ได้รับการโหวตจากผู้อำนวยการเกือบทุกโรงพยาบาล 70% ทั้งที่ไม่ได้สมัคร
HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit