มูลนิธิซิตี้ จับมือคีนัน ปั้นชุมชนต้นแบบ ปลอดหนี้ครัวเรือน

29 Aug 2018
มูลนิธิซิตี้ ร่วมกับสถาบันคีนันแห่งเอเซีย เดินหน้าปั้นชุมชนต้นแบบ ภายใต้ "โครงการพัฒนา เครือข่ายองค์กรชุมชน เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงิน" มุ่งกระจายความรู้ด้านการบริหารการเงินส่วนบุคคลสู่ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของประเทศ
มูลนิธิซิตี้ จับมือคีนัน ปั้นชุมชนต้นแบบ ปลอดหนี้ครัวเรือน

นางสาววันวิสาข์ โคมินทร์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายสื่อสารองค์กร ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย ในฐานะตัวแทน จากมูลนิธิซิตี้ เปิดเผยว่า "จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยในไตรมาสแรกปีนี้ระบุสถานการณ์หนี้ครัวเรือน ของประเทศไทยยังอยู่ในสภาพที่น่าเป็นห่วง โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 77.6% และมียอดคงค้างหนี้ครัวเรือนสูงกว่า 12 ล้านล้านบาท ซึ่งปัญหาหนี้ครัวเรือนเกิดจากพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เกินตัวและไม่ระมัดระวัง โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานที่มีอายุ 25-35 ปี ทำให้ก่อหนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะมีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย ทั้งยังประสบปัญหาในการชำระหนี้และเลือกแก้ไขปัญหาด้วยการกู้เงินนอกระบบ เพราะขาดความรู้และทักษะทางการเงิน ขาดการทำบัญชีครัวเรือนและการออม จึงส่งผลให้ไม่สามารถจัดการหรือแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ"

"มูลนิธิซิตี้ ซึ่งมีพันธกิจในการส่งเสริมความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของผู้มีรายได้น้อย ในชุมชนทั่วโลก จึงได้จับมือกับสถาบันคีนันแห่งเอเซียพัฒนา "โครงการพัฒนาเครือข่ายองค์กรชุมชน เพื่อสร้าง ความมั่นคงทางการเงิน" โดยมุ่งเน้นที่จะสร้างเสริมความรู้และวินัยทางการเงินที่ดีในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ผ่านการ ให้ความรู้ด้านการบริหารการเงินส่วนบุคคล โดยครอบคลุมตั้งแต่เรื่องการกำหนดเป้าหมายทางการเงิน การบริหาร ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน การออมเงิน และการบริหารจัดการหนี้สิน ซึ่งนำไปสู่การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในระยะยาว"

ภายใต้โครงการดังกล่าว ทางมูลนิธิซิตี้และสถาบันคีนันแห่งเอเซียได้ทำงานร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ซึ่งเป็นองค์กรหลักที่ให้การสนับสนุนชุมชนในการสร้างที่อยู่อาศัย จากผลการสำรวจ ผู้มีรายได้น้อยในชุมชมแออัดที่มีปัญหาความไม่มั่นคงในที่ดินและที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ 31 สิงหาคม 2560) พบว่า มีผู้เดือดร้อนจำนวนกว่า 701,702 ครัวเรือน จาก 6,456 ชุมชนทั่วประเทศที่ประสบปัญหานี้ ดังนั้น พอช. จึงได้ริเริ่มและดำเนินโครงการบ้านมั่นคงตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน โดยข้อมูลล่าสุด ณ 31 กรกฎาคม 2561 พบว่า พอช. มีจำนวนโครงการบ้านมั่นคงกว่า 1,051 โครงการ เพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อน จำนวน 104,173ครัวเรือนทั่วประเทศ เฉพาะในจังหวัดกรุงเทพมหานคร มีจำนวน 14,630 ครัวเรือน ที่ได้รับการช่วยเหลือผ่านการ ดำเนินงาน 174 โครงการ โดยสมาชิกชุมชนเหล่านี้มีรายได้อยู่ระหว่าง 5,000-15,000 บาทต่อเดือนด้านนาย ริชาร์ด เบิร์นฮาร์ด กรรมการอำนวยการ สถาบันคีนันแห่งเอเซีย กล่าวว่า "พอช. จะทำการคัดสรรชุมชนที่ มีการจัดตั้งสหกรณ์อย่างมั่นคง สมาชิกมีการออมเงินกับสหกรณ์ตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อมาเข้าร่วมกับโครงการฯ โดยในระยะแรก พอช. ได้คัดเลือก 20 ชุมชน ใน 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี โดยมีผู้นำชุมชนจำนวน 104 คน และ สมาชิกสหกรณ์จำนวน 528 คน รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากพอช. จำนวน 12 คน เพื่อเข้ารับการอบรมหลักสูตรการบริหารการเงินส่วนบุคคล ซึ่งคีนันเป็นหน่วยงานหลักในการบริหาร และดำเนิน โครงการฯ รับผิดชอบในการประสานงานสมาชิกชุมชน ออกแบบหลักสูตรที่เหมาะสมกับบริบทชุมชนจัดฝึกอบรม และติดตามผลหลังการอบรม"

"สำหรับผลความสำเร็จโครงการฯ ในปีที่ 1 พบว่า สมาชิกชุมชนที่ได้ผ่านการอบรมยังคงมีการออมเงินสม่ำเสมอ 85% มีการทำตามเป้าหมายทางการเงินที่ได้วางไว้ 78% มีการวางแผนการใช้จ่ายล่วงหน้าในแต่ละเดือน 73% และมีการจดบันทึกบัญชีครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง 61% โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการชำระหนี้สินตรงตามเวลา 84% โดย เพิ่มขึ้นกว่า 24% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนเข้าอบรม ปัจจุบันโครงการฯ เข้าสู่ปีที่ 2 ซึ่งได้ขยายผลไปยังชุมชนใหม่ โดยมีเป้าหมายจำนวนผู้เข้าร่วมอบรมทั้งสิ้น 960 คน ซึ่งมาจาก 20 ชุมชนเดิม และ 20 ชุมชนใหม่ มุ่งเน้นในการ พัฒนาและส่งเสริมทักษะและความรู้ให้กับกลุ่มผู้นำชุมชน เพื่อก้าวขึ้นมาเป็นที่ปรึกษาทางการเงินชุมชนและพี่เลี้ยงทางการเงินสำหรับสมาชิกชุมชนอื่นๆ ต่อไป โดยได้กำหนดเป้าไว้ว่า 80% ของผู้เข้าร่วมอบรมจะมีความรู้ ทางการเงินเพิ่มขึ้น 35% โดยวัดจากแบบทดสอบก่อนและหลังการฝึกอบรม และ 70% จะมีการทำบัญชีครัวเรือน และมีเงินออมเพิ่มขึ้น 10% เมื่อสิ้นสุดโครงการฯ"

นายริชาร์ด กล่าวต่อว่า "มูลนิธิซิตี้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสให้กับผู้มีรายได้น้อย ในชุมชนต่างๆ มาโดยตลอด จึงได้ร่วมมือกับคีนันโดยให้การสนับสนุนด้านงบประมาณในการดำเนินโครงการฯ และแบ่งปันองค์ความรู้ด้านการบริหารการเงินผ่านการเป็นอาสาสมัครในบทบาทของวิทยากรและพี่เลี้ยงในการ ฝึกอบรมให้กับสมาชิกชุมชน ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมากและมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทาง การเงินที่ดีขึ้น ทั้งด้านการใช้จ่ายเงินและการออมอย่างมีวินัย ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ กำลังส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน"

"ตัวอย่างชุมชนต้นแบบที่สมาชิกชุมชนให้ความร่วมมือเข้าร่วมอบรมและนำความรู้ไปใช้ ทั้งการทำบัญชีครัวเรือน และการออมเงิน ได้แก่ สหกรณ์เคหสถานคลองลัดภาชีร่วมพัฒนา จำกัด (ชุมชนคลองลัดภาชี เขตภาษีเจริญ) ที่คนในชุมชนเคยถูกไล่รื้อที่อยู่อาศัย ก่อนจะรวมตัวกันจัดตั้งสหกรณ์ ยื่นกู้เงินซื้อที่ดินขนาด 3 ไร่ 3 งาน เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ ชุมชนดังกล่าวมีสมาชิก 79 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่มีรายได้ครัวเรือนต่อเดือนอยู่ระหว่าง 5,000-15,000 บาท สมาชิกในชุมชนเคยประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินและมีภาระหนี้สินจากการกู้เงินนอก ระบบ ซึ่งสหกรณ์ของชุมชนได้มีส่วนช่วยเหลือสมาชิกโดยทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในการริเริ่มกองทุน หมุนเวียน และส่งเสริมการออมผ่านหุ้นสหกรณ์ จนสามารถแก้ปัญหาให้กับสมาชิกชุมชนได้ แต่สมาชิกส่วนใหญ่ ยังขาดความรู้เรื่องการบริหารจัดการเงิน พอช. จึงได้แนะนำกลุ่มตัวแทนสหกรณ์ของชุมชนให้เข้าร่วมกิจกรรมการ อบรมกับ "โครงการพัฒนาเครือข่ายองค์กรชุมชน เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงิน" ของมูลนิธิซิตี้ ตั้งแต่ปี 2560"

"ปัจจุบัน สมาชิกทุกครัวเรือนได้ผ่านการอบรมกับโครงการฯ แล้ว และส่วนใหญ่มีการบริหารจัดการหนี้สินที่ดีขึ้น ทำให้ไม่มีปัญหาภาระหนี้สินที่เกินกำลังจะชำระและไม่มีการกู้เงินนอกระบบ เริ่มมีการออมเงินอย่างต่อเนื่อง จนบางคนมีเงินลงทุนตั้งต้นเพื่อเริ่มทำธุรกิจของตัวเองได้ ทั้งยังมีการใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น จากการลด รายจ่ายที่ไม่จำเป็นลง เช่น ลดการสูบบุหรี่ ลดการเล่นพนัน และลดการดื่มสุรา ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย"

"โครงการพัฒนาเครือข่ายองค์กรชุมชน เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงิน คือ โครงการที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหา หนี้ครัวเรือนในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยของประเทศได้ ซึ่งตอนนี้ได้เริ่มต้นในลักษณะเป็นโครงการต้นแบบภายในชุมชน เล็กๆ อย่าง ชุมชนคลองลัดภาชี และจะค่อยๆ ขยายตัวขึ้น จนท้ายที่สุดจะครอบคลุมเครือข่ายองค์กรชุมชนที่เป็น สมาชิกของ พอช. และขยายผลไปสู่ชุมชนทั่วประเทศต่อไป" นายริชาร์ด กล่าวทิ้งท้าย

HTML::image( HTML::image(