ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารในยุค Thailand 4.0 จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และตอบรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมอาหาร ทั้งในแง่ความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค ความปลอดภัยอาหาร ตลอดจนเทคโนโลยีล่าสุดและนวัตกรรมใหม่ๆ โดยนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการพัฒนาและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหารและบริการที่ตอบโจทย์ของผู้บริโภค จะเห็นได้จากผลสำรวจการวิจัยและพัฒนาและกิจกรรมนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรม ในรอบการสำรวจประจำปี 2560 พบว่า อุตสาหกรรมอาหารมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามากที่สุดเป็นอันดับแรก คือ 15,051 ล้านบาท โดยผ่านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การพัฒนาสูตรอาหารและคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อให้สอดคล้องตามความต้องการและพฤติกรรมการบริโภคที่ปรับเปลี่ยนไป แต่การลงทุนเหล่านี้มาจากบริษัทขนาดใหญ่ ในขณะที่อุตสาหกรรมอาหารของไทยกว่า 90% เป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในวันนี้ จะช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ และผู้ประกอบการอื่นๆ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในห่วงโช่มูลค่าอาหารของไทย หันมาให้ความสำคัญกับการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ทั้งในตลาดไทยและตลาดสากล รวมทั้งเติบโตอย่างยั่งยืน
ดร.กฤษฎา เสกตระกูล รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารเป็นหนึ่งอุตสาหกรรมหลักที่สำคัญของประเทศไทยและเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่อยู่ในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารกว่า 60 บริษัท มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมกว่า 9.8 แสนล้านบาท คิดเป็นประมาณ 6% ของมูลค่ารวมของตลาด และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้นสะท้อนให้เห็นจากรายได้และกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่เติบโต 6-7% ต่อปีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยความร่วมมือครั้งนี้ จะช่วยจุดประกายและผลักดันให้ บจ.ขนาดกลางและเล็กในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ที่ดำเนินธุรกิจด้านอุตสาหกรรมอาหารเกิดความตระหนักและนำนวัตกรรมมาขับเคลื่อนธุรกิจ อันจะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารไทยให้เติบโต สร้าง Well-being Economy ของประเทศไทยให้แข็งแกร่งและยั่งยืนในระยะยาว
ด้านนายธีรนันท์ ศรีหงส์ ประธานสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) กล่าวว่า TMA มุ่งเน้นการยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันด้านต่างๆ เพื่อสร้างขีดความสามารถของทั้งบุคลากร องค์กร และ ประเทศ ให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคอุตสาหกรรม 4.0 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการบริหารจัดการด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และดิจิทัล ผ่านกิจกรรมหลากหลาย ซึ่ง TMA ได้มุ่งเน้นเรื่องการพัฒนานวัตกรรมและการบริหารจัดการ ในภาคอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร มาตั้งแต่เริ่มโครงการ Thailand Competitiveness Enhancement ในปี 2552 เราทำงานอย่างใกล้ชิดกับ Food Innopolis ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) มาโดยตลอด ในการเสาะหาแหล่งองค์ความรู้และเชื่อมโยงเครือข่าย cluster อุตสาหกรรมอาหารสำคัญจากทั่วโลก เพื่อช่วยสนับสนุนการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็น Food Innovation Hub ในภูมิภาคนี้
ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการสนับสนุนการให้ความรู้เพื่อเพิ่มพูนทักษะที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหาร อาทิ เทคโนโลยีใหม่ในการแปรรูป การวิจัยและพัฒนา กฎหมาย ทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนให้คำปรึกษา และส่งเสริมให้ บจ. ที่ดำเนินธุรกิจด้านอุตสาหกรรมอาหารเข้าถึงบริการของภาครัฐเพื่อต่อยอดการทำธุรกิจในอนาคต
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit