กว่าสามปีที่ พิพัฒน์ พงศ์ประยูร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบาเงง อำเภอโคกโพธิ์ เข้ามารับตำแหน่งที่นี่ ก็พยายามยามแก้ไขปัญหานี้โดยตลอด เริ่มด้วยการชักชวนเพื่อนครูช่วยกันระดมเงินของตนเอง และขอความร่วมมือผู้ปกครองด้วยการสมทบทุนข้าวสารเพื่อจัดอาหารเช้าให้แก่นักเรียน
"เงินเพื่อนครู 300 บาท ของผมอีก 500 บาท และข้าวสารจากผู้ปกครองครอบครัวละหนึ่งกิโลกรัมต่อเดือนทำให้เรามีอาหารเช้าให้เด็กได้ แต่สิ่งที่เราทำไม่ใช่ความยั่งยืนเราต้องหาทางอื่น" ผอ.พิพัฒน์ กล่าว
ด้วยต้นทุนของชุมชนที่มีแหล่งความรู้ทางด้านการเพาะเห็ดนางฟ้า โรงเรียนบ้านบาเงง จึงได้เริ่มทำกิจกรรมเพาะเห็ดนางฟ้าเพื่อนำมาเป็นอาหารเช้าและกลางวันของนักเรียน และขยายผลเข้าสู่ "การส่งเสริมการเรียนรู้สู่วิถีแบบพอเพียง" ตาม "โครงการส่งเสริมการเรียนรู้สุขภาวะสำหรับเด็กด้อยโอกาส" ที่สนับสนุนโดย สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยให้นักเรียนเรียนรู้วิธีการเพาะและแปรรูปเห็ดนางฟ้าโดยการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ในชุมชน
"นักเรียนได้มาศึกษาการเพาะเห็ดและเรียนรู้แนวคิดการลดละสารเคมีในการทำการเกษตรแบบวิถีพอเพียงจากศูนย์เรียนรู้ แล้วกลับไปทำทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน นับว่าเป็นความสำเร็จในร่วมมือระหว่างโรงเรียนและชุมชน ซึ่งได้ผลดียิ่ง เด็กๆ ให้ความสนใจมาก การนำเห็ดไปเพาะที่บ้าน ผู้ปกครองเองก็พอใจและมีส่วนร่วมในกิจกรรม" สุลัยมาน จันทร์เทพ ปราชญ์ท้องถิ่นผู้ศึกษาด้านวิถีเกษตรพอเพียงคู่ขนานกับการทำงานกับเด็กและเยาวชนผู้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการเล่าถึงปัจจัยความสำเร็จ
โดยเครื่องมือสำคัญที่ทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากคือ Mini Mushroom House ที่ ผอ.พิพัฒน์ พงศ์ประยูร ได้พัฒนาขึ้นให้เป็นตู้เพาะเห็ดขนาดเล็ก ใส่เห็ดได้ประมาณ 15-20 ก้อน มีราคาประหยัด ใช้วัสดุท้องถิ่นเช่นเศษไม้และไม้ไผ่ทำโครงตู้ คลุมด้วยตาข่ายกรองแสง และตู้เพาะเห็ด Mini Mushroom House นี้เอง ยังได้ถูกส่งไปยังบ้านของนักเรียนทุกคน พร้อมๆ กับความรู้เรื่องของการเพาะเห็ดที่อยู่ในตัวเด็กแต่ละคนที่จะกลับไปถ่ายทอดให้คนในครอบครัว
"ลูกมีความรับผิดชอบมากขึ้น ต้องคอยรดน้ำ คอยสังเกตการเจริญเติบโตของเห็ด" "เป็นกิจกรรมที่ได้ทำร่วมกันในครอบครัว" "ประหยัดค่ากับข้าว เป็นแหล่งอาหารในบ้าน" คือเสียงตอบรับจากผู้ปกครอง
นอกจากการนำเห็ดนางฟ้ามาเป็นอาหารเช้าและกลางวันของนักเรียนแล้ว ผลผลิตที่ได้อย่างมากมายยังถูกนำมาใช้สอนให้นักเรียนรู้จักแปรรูปเป็นอาหาร เห็ดนางฟ้าถูกแปลงร่างเป็นอาหารหลายอย่าง กลายเป็นอาหารอร่อย กินง่าย และเป็นการถนอมอาหารจากผลผลิตเห็ดนางฟ้าที่เหลืออยู่ด้วย
"เด็กๆ ชอบเห็ดเทมปุระหรือเห็ดชุบแป้งทอดกันมาก การแปรรูปเห็ดช่วยให้เด็กเปลี่ยนเจตคติจากการไม่ชอบกินผักให้หันมากินผัก ซึ่งเราก็ต่อยอดจากเห็ดทอดมาเป็นผักต่างๆ ทอด เช่นผักบุ้งทอด เด็กก็ชอบกิน และที่น่าสนใจอีกอย่างคือ แหนมเห็ด แหนมเป็นการถนอมอาหารที่ไม่ใช่อาหารท้องถิ่น แต่ก็มีเด็กหลายคนชอบกินมาก" ผอ.พิพัฒน์ เล่าถึงการขยายผลลัพธ์ที่มากกว่าอาหารเช้าและกลางวันของเด็ก
นอกจาก เทมปุระเห็ด และ แหนมเห็ด เห็ดนางฟ้ายังแปลงร่างไปได้อีกหลายอย่างอาทิ น้ำเห็ดพร้อมดื่ม ห่อหมกเห็ด ขนมจากเห็ด หรือเป็นส่วนผสมในอาหารหลายชนิด นอกจากนั้นยังถูกแปลงร่างในรูปแบบการถนอมอาหารเก็บไว้กินได้นานๆ เช่น เห็ดสวรรค์ ข้าวเกรียบเห็ด หรือน้ำพริกเห็ดรสชาติต่างๆ ฯลฯ
"ชอบห่อหมกเห็ดค่ะ หนูช่วยแม่ทำด้วย ทำจากเห็ดที่หนูเพาะเองที่บ้าน แต่ก่อนหนูไม่กินผัก แต่หลังจากหัดกินเห็ด หนูหัดกินผักบุ้งและผักคะน้า ตอนนี้ชอบกินผัก" ดญ.ฟิตดาว เซง นักเรียนชั้น ป.5 เล่าให้ฟังว่าแม่ชอบใจมากที่ตนเองเพาะเห็ดได้ และดีใจที่ตนเองสนใจเข้าครัวและหัดกินผัก
จากเห็ดนางฟ้าที่เข้ามาเป็นอาหารของนักเรียน สู่โครงการเพาะเห็ดในทุกบ้าน ต่อยอดด้วยการเรียนรู้การแปรรูปเห็ดนางฟ้าในชั่วโมงลดเวลาเรียนเพิ่มเวลาการเรียนรู้และหลังเลิกเรียน ทำให้เด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านบาเงงทุกคนสามารถเพาะเห็ดได้และทำอาหารจากเห็ดเป็น
ส่งผลให้เด็กมีสุขภาพดีขึ้นอย่างชัดเจน วัดผลได้จากน้ำหนักและส่วนสูง มีความรับผิดชอบ รู้จักการแบ่งงานกันทำ และมีจิตอาสาในการนำวัตถุดิบหลายอย่างมาจากบ้าน เช่น ใบมะพร้าว ใบจาก ใบตอง หรือสิ่งต่างๆ เพื่อนำมาแปรรูปอาหารที่โรงเรียน รวมทั้งผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนโดยรวมก็ดีขึ้นจากการที่เด็กมีภาวะโภชนาการดีขึ้น มีความสุขในการเรียนมากขึ้น
"เราเชื่อว่าโครงการนี้จะยั่งยืนต่อไปเพราะนี่คือการทำงานร่วมกันระหว่างบ้านและโรงเรียน ทุกบ้านของนักเรียนในวันนี้มี Mini Mushroom House และทุกครอบครัวเพาะเห็ด ทำอาหารจากเห็ด และแปรรูปเห็ดได้ เป็นความยั่งยืนของแหล่งอาหาร ลดรายจ่ายและมีรายได้เสริม และเชื่อว่าเป็นคำตอบในเรื่องของสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของนักเรียนและคนในชุมชน" ผอ.พิพัฒน์ กล่าวสรุป
การส่งเสริมการเรียนรู้สู่วิถีแบบพอเพียง ที่มีจุดเริ่มต้นจาก Mini Mushroom House ที่ทำขึ้นง่ายๆ ต้นทุนต่ำ ที่ขยายขึ้นมาจากความห่วงใยของครูต่อสุขภาวะเด็กที่ขาดสารอาหาร เพราะข้อจำกัดในอาชีพของครอบครัว ได้โยงใยบ้านและโรงเรียนเข้าหากัน ร่วมสร้างสุขภาวะทั้งทางโภชนาการและทางจิตใจให้แก่ชุมชน เป็นนวัตกรรมง่ายๆ แต่สามารถสร้างสุขภาวะให้แก่ชุมชนบ้านบาเงงได้อย่างยั่งยืน.
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit