การเปิดงาน มีพ.ญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย นายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.กาญจนา นิตยะ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดร.แสงเดือน มูลสม ผู้แทนเครือข่ายมหาวิทยาลัยสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งประเทศไทย และ Dr. John MacArthur ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือไทย – สหรัฐ ด้านสาธารณสุข ณ ลานอัฒจันทร์ ศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งรณรงค์เรื่องวัคซีนพิษสุนัขบ้าให้แก่ประชาชนทั่วไป หลังพบระบาดเพิ่มช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีอัตราตาย100%
พ.ญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ จากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิด "การประชุมวิชาการเครือข่ายสุขภาพหนึ่งเดียว (Global One Health Day 2018) ศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน กรุงเทพมหานคร โดยกล่าวว่า สุขภาพหนึ่งเดียว หรือ One Health มีที่มาจากคำว่า One World, One Health ซึ่งถูกพูดถึงในการประชุมของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2547 ที่พูดถึงประเด็นความสัมพันธ์ถึงการติดต่อของโรคระหว่างคน สัตว์และสัตว์ป่า รวมถึงสิ่งแวดล้อม และนำสู่การตระหนัก การทำงานข้ามสาขาวิชา
ทั้งนี้โรคติดต่ออุบัติใหม่ส่วนใหญ่มีต้นกำเนิดมาจาก หรือประมาณ 75% ของโรคติดต่ออุบัติใหม่ติดมาจากสัตว์และสัตว์ป่า หรือโรคประจำถิ่นเช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคพิษสุนัขบ้าล้วนเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ซึ่งต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของหน่วยงานเครือข่าย แนวคิดนี้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานของแผนงานโครงการต่าง ๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติตัวอย่างของประเทศไทยเช่น ปี 2547 เรามีสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติในหลายพื้นที่ของประเทศ จึงได้มีการประสานงานแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างภาคสัตว์และภาคคน นำสู่การควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ในเรื่องโครงการโรคพิษสุนัขบ้ายังทำให้เกิด "โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า" ตามพระปณิธานของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
เห็นได้ว่า ความร่วมมือกันตามความคิดสุขภาพหนึ่งเดียว นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดทิศทางนโยบายและการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาคสุขภาพคน สัตว์ สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ One Health ยังเป็นประเด็นที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจและได้มีการสถาปนา "วันสุขภาพหนึ่งเดียวโลก" หรือ "Global One Health Day" ขึ้นเป็นความร่วมมือด้าน One Health ในระดับนานาชาติ ให้เป็นวันที่ 3 พฤศจิกายน ของทุกปี ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 3 ของประเทศไทย ที่จัดกิจกรรมดังกล่าวนี้ขึ้น เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานให้เกิดความเข้มแข็งเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน แสดงให้ทั่วโลกเห็นศักยภาพและถ่ายทอดแนวคิดนี้ให้กว้างขึ้นสู่ประชาชน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในอันที่จะทำให้ One Health ประสบความสำเร็จ ประชาชนสามารถป้องกันตนเองจากสัตว์สู่คนได้ และทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการเฝ้าระวังป้องกัน และควบคุมโรคแบบบูรณาการภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
พ.ญ.จุไร กล่าวว่า ไทยรณรงค์แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวมาตั้งแต่ปี 2550 แล้ว โดยในปี 2559 มีการลงนามความร่วมมือของ 7 กระทรวงและ1 องค์กร ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข และสภากาชาดไทย เป็นการบูรณการความร่วมมือทั้งด้านการตรวจวินิจฉัย วัคซีน ภาคสัตว์ การพยายามให้ความรู้โดยสอดแทรกแนวคิดสุขภาพเดียวแก่เด็กเยาวชนและในหลักสูตรของมหาวิทยาลัย
การรณรงค์ส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาครัฐ แต่ในภาคประชาชนมีความสำคัญที่จะต้องมีความเข้าใจว่า โรคอะไรจากสัตว์ที่จะมาสู่ตัว ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้โครงการประสบความสำเร็จนำสู่การป้องกัน ทำให้โรคไม่ระบาดและตัวประชาชนปลอดภัย เช่น กรณีสุนัข ถ้าเข้าใจความเสี่ยงว่าจะนำโรคพิษสุนัขบ้าได้ ก็จะมีการพาไปฉีดวัคซีน ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องของสุขภาพหนึ่งเดียว และความรู้ความเข้าใจภาคประชาชนยังมีไม่มาก จึงมีการจัดงานกิจกรรมแบบนี้ขึ้น ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 3 เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน
สำหรับการรณรงค์มีหลายโรค โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน มีโรคอุบัติใหม่ด้วย เช่น ไข้หวัดนก โรคซาร์ ซึ่งโรคติดต่อจากสัตว์มีประมาณ 70% มาจากสัตว์ เวลานี้โรคที่น่าห่วงได้แก่ โรคพิษสุนัขบ้า เราเคยทำได้ดี โรคลดลง แต่ในช่วง1- 2 ปีมานี้กลับเพิ่มขึ้น เริ่มต้นจากการให้วัคซีนในสัตว์ที่อาจจะครอบคลุมน้อยลง ส่งผลให้เกิดการระบาดในสัตว์และมาสู่คน แต่ตอนนี้เราเริ่มดำเนินการทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว มีการฉีดวัคซีนในสัตว์มากขึ้น มีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง ส่วนภาคคนประชาชนมีความเข้าใจมากขึ้น แม้ลูกสุนัขก็สามารถนำเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้ หลังจากกรมควบคุมโรคเคยสำรวจพบผลลัพธ์ที่น่าตกใจว่า ประชาชนประมาณ 50% เข้าใจผิดว่า ลูกสุนัขไม่สามารถนำเชื้อได้ และบางส่วนเข้าใจว่า เป็นโรคพิษสุนัขบ้าแล้วไม่เสียชีวิต แต่ความจริงแล้วทำให้เสียชีวิต 100%"ส่วนปัญหาอุปสรรคในการดำเนินแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวนั้น ในส่วนของกรมควบคุมโรคมี 2 จุดใหญ่ได้แก่ 1. การประสานงานกับหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ เพราะมีทั้งภาคสัตว์ สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม จึงมีภาคีเครือข่ายมากมายและการประสานข้อมูลส่งต่อกัน เพื่อให้รู้ว่ามีการระบาดตรงไหนและ 2. ปัญหาความรู้ความเข้าใจของประชาชน สำหรับเรื่องงบประมาณเวลานี้มีหลายหน่วยงานมาสนับสนุน แต่ในอนาคตระยะยาวเราต้องมองถึงความยั่งยืนของประเทศ รัฐบาลคงจะต้องหางบประมาณมาสนับสนุนตรงนี้ ซึ่งเรื่องนี้บรรจุอยู่ในแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและควบคุมโรคอุบัติใหม่ของประเทศอยู่แล้ว ในระยะยาวคิดว่าน่าจะไปได้ดีและเราจะสามารถเป็นผู้นำได้ในโซนอาเซียน ด้านบุคคลากรมีเพียงพอ ถ้าประชาชนช่วยเราด้วยจะยิ่งดี"
ดร.แสงเดือน มูลสม ผู้แทนเครือข่ายมหาวิทยาลัยสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งประเทศไทย (Thailand One Health University Network- THOHUN) เปิดเผยว่า 8ปีที่ผ่านมา เครือข่ายมหาวิทยาลัย ร่วม 8 หน่วยงานอบรมให้ความรู้ ผลิตนักศึกษาอาสาสมัครสาธารณสุขและผู้ปฏิบัติงานสาธารณสุขอื่น ๆ รวมทั้งสิ้นมากกว่า 4,000 คน เครือข่ายมหาวิทยาลัยฯมุ่งมั่นจะดำเนินการผลิตนักศึกษา และ สนับสนุนหน่วยงานของรัฐเพื่อให้การพัฒนาบุคลากรทางสาธารณสุข ให้มีความรู้หรือมีศักยภาพที่จะป้องกันตัวเองและสื่อสารให้กับประชาชนทั่วไปให้รู้เรื่อง มีความตระหนักและสามารถที่จะร่วมมือกันไปกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งของภาครัฐ ภาคเอกชน และที่ขาดไม่ได้คือ จากประชาชนทั่วไป เพื่อที่จะให้สามารถรับมือ เพื่อร่วมมือกันเฝ้าระวัง ให้ประชาชนของเราปลอดภัยจากโรคสัตว์สู่คนต่อไป
ในโอกาสนี้ยังมีการมอบประกาศนียบัตรให้แก่ผู้สนับสนุน พร้อมการรณรงค์เรื่องวัคซีนพิษสุนัขบ้าให้แก่ประชาชนทั่วไปโดยกรมปศุสัตว์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกรมควบคุมโรค การบรรยายเชิงอนุรักษ์ในการดำเนินงานด้านสุขภาพหนึ่งเดียวโดย นายสัตวแพทย์ ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีการแสดงเพื่อการเฉลิมฉลอง วันสุขภาพหนึ่งเดียว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit