ภายในงานได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ ประธานกรรมการโครงการประกวดวรรณกรรมรางวัล "แว่นแก้ว" เป็นประธานเปิดงาน ร่วมกับ สุวดี จงสถิตย์วัฒนา ประธานบริษัท นานมีบุ๊คส์ มอบรางวัล ให้กับ 15 นักเขียนคุณภาพ พร้อมด้วยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิรศ.เกริก ยุ้นพันธ์, ชมัยพร แสงกระจ่าง, โตมร ศุขปรีชา ฯลฯ ร่วมเปิดวงเสวนาพูดคุยถึงเบื้องหลังการคัดเลือกผลงานที่ได้รับรางวัลทั้ง 4 ประเภท และงานเสวนาพิเศษ โดย ธิดา พิทักษ์สินสุข, รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร , ผกาพันธุ์ วีระสิงห์ เผยแนวคิดและประสบการณ์ส่งเสริมการอ่านเด็กและเยาวชนไทย ภายใต้แนวคิด "การอ่านวรรณกรรมกระตุ้นให้เด็กขบคิดถึงเรื่องในสังคมได้อย่างไร โดยมี จักรกฤต โยมพยอม (ครูทอม) ดำเนินรายการ ณ อาคารนานมีบุ๊คส์ สุขุมวิท31
สุวดี จงสถิตย์วัฒนา ประธานบริษัท นานมีบุ๊คส์ กล่าวว่า "โครงการประกวดวรรณกรรมรางวัล "แว่นแก้ว" ได้ดำเนินมาร่วม 18 ปี โดยมุ่งหวังเปิดเวทีแจ้งเกิดนักเขียนคุณภาพ มอบโอกาสให้นักอ่านวัยเยาว์รุ่นใหม่ให้ได้รู้จักกับวรรณกรรมอันทรงคุณค่า ในฐานะผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือ สื่อ และนวัตกรรมการเรียนรู้สำหรับคนทุกวัย ดิฉันภาคภูมิใจ ที่ได้ร่วมได้ผลิตและสร้างสรรค์ผลงานเขียนคุณภาพ สู่วงการสิ่งพิมพ์ของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยยึดมั่น และให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการอ่านซึ่งเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ตลอดชีวิต และในปี 2561 นี้ เรายังคงดำเนินพันธกิจต่อไปเป็นครั้งที่ 14 ดิฉันจึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมสนับสนุนผลงานโดยนักเขียนไทย รวมถึงร่วมส่งผลงานเข้าประกวดในครั้งต่อๆ ไป เพื่อปลูกสร้างสังคมแห่งการอ่านเพื่อการเรียนรู้อย่างยั่งยืนของเยาวชนรุ่นหลังสืบต่อไป"
ด้านนักเขียนเจ้าของรางวัลชนะเลิศทั้ง 4 ประเภท เผยถึงแรงบันดาลใจในการส่งเสริมเยาวชนผ่านงานเขียนของตนเองไว้อย่างโดดเด่น จนได้รับคัดเลือกเป็นผลงานที่ดีที่สุดในแต่ละประเภท
หทัยชนก เชียงทอง ประเภทนิทานภาพส่งเสริมคุณธรรม กล่าวว่า "ช่วงปี 2554 หลายๆ ท่านน่าจะจำเหตุการณ์น้ำท่วมในปีนั้นได้ ดิฉันจึงแต่งหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาในฐานะผู้ที่ประสบเหตุเช่นกัน เพราะมีหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นจากเหตุการณ์นั้น ที่เด่นชัดคือเรื่อง 'น้ำใจ' จากเพื่อนบ้านที่ในสภาวะปกติเราไม่เคยคุยกัน แต่เหตุการณ์น้ำท่วม ทำให้เกิดการเอื้ออาทรแก่กันและกัน แรงบันดาลใจนี้เองจึงเกิดหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาในที่สุด"
ยุวดี สุวรรณศักดิ์ ประเภทหนังสือภาพเสริมความรู้ กล่าวว่า "ขวัญได้มีโอกาสสอนนิทาน และศิลปะ เด็กที่มีอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย จึงเกิดไอเดียทำหนังสือที่ช่วยกล่อมเกลาให้เขาลดความโกรธ และสามารถจัดการความกลัวที่เกิดขึ้นได้ ด้วยเทคนิคต่างๆ ในหนังสือ เช่นการนำศาสตร์ของโยคะ มาเป็นเทคนิคกำจัดความโกรธ โดยไม่ไปทำร้ายคนที่เรารัก หรือคนรอบข้าง จึงหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยแบ่งปันคุณพ่อคุณแม่ เพื่อการแก้ปัญหาในครอบครัวได้ค่ะ"
รุจรวี นาเอก ประเภทนวนิยายเยาวชน กล่าวว่า "เด็กชายผู้ระบายสีฟ้าไม่เป็น เป็นเรื่องที่ใช้เวลาพัฒนามาเป็นเวลา 4 ปี จนมาป็นเรื่องราวของเด็กผู้ชายที่มองไม่เห็นสีฟ้า แต่อยากจะวาดรูปเพื่อให้คุณพ่อของเขากลับมาเห็นอีกครั้ง รุจตั้งใจไว้ว่าอยากจะเขียนขึ้นเพื่อเป็นกำลังใจ สำหรับคนที่มีความฝันทุกคน ทุกๆ ความฝันมีปัญหาเสมอ แต่มันจะผ่านไปได้ โดยที่เราต้องตั้งมั่นกับสิ่งนั้นค่ะ และสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเรื่องนี้ คืออยากให้เด็กๆ ได้มองข้ามความแตกต่างไปสู่ตัวตนที่สวยงามจากข้างในมากกว่าค่ะ"
ภูพิงค์ มะโน ประเภทสารคดีสำหรับเยาวชน กล่าวว่า "ผมได้มีโอกาสไปเรียนเรื่องการชงชาที่ญี่ปุ่น เพราะคิดว่าเมื่อกลับมาเมืองไทยอยากมีร้านชาเล็กๆ ของตัวเอง แต่กลับกลายเป็นว่าการไปเรียนทำให้ผมได้รับรู้ถึงเรื่องของสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งหลายๆ สิ่งทำให้ผมฉุกคิดได้ว่า ที่คนญี่ปุ่นเป็นแบบทุกวันนี้ เพราะเขามีสังคมและวัฒนธรรมที่หล่อหลอมเขาขึ้นมา เช่นเดียวกับที่คนไทยเป็นแบบนี้ เพราะคนไทยมีเบ้าหลอมของประวัติศาสตร์อีกแบบหนึ่ง ผมจึงเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้น เพื่อหวังจะให้เยาวชนไทยได้แง่คิดว่า เราควรจะรู้จักทั้งตัวเอง และผู้อื่นนั่นเองครับ"
ผลการประกวดวรรณกรรมรางวัล "แว่นแก้ว" ครั้งที่ 13 แบ่งการประกวดออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทนิทานภาพส่งเสริมคุณธรรม ประเภทหนังสือภาพเสริมความรู้ ประเภทนวนิยายสำหรับเยาวชน และประเภทสารคดีสำหรับเยาวชน
ประเภทนิทานภาพส่งเสริมคุณธรรม รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เรื่อง "สุขใจในวันน้ำท่วม" โดย หทัยชนก เชียงทอง และสุทัศน์ ปาละมะ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ เรื่อง "เจ้าถ่านกับการให้ไม่รู้จบ" โดย สรรประภา วุฒิวร รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ เรื่อง "มีอะไรให้ช่วยไหมจ๊ะ" โดย พัชรา พันธุ์ธนากุล และ รางวัลชมเชย ได้แก่ เรื่อง "โกโก้ ฮิปโปธรรมดา" โดย ณิชา พีชวณิชย์ และกิตติยา แอนดรูว์
ประเภทหนังสือภาพเสริมความรู้ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เรื่อง "เจ้าสิงโตโมโหโทโส" โดย ยุวดี สุวรรณศักดิ์ชัย และวิสาขา ภู่สำรวจ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เรื่อง "เธอเห็นฉันไหม" โดย อัญชลี อารีย์วงศ์
ประเภทนวนิยายสำหรับเยาวชน รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เรื่อง "เด็กชายผู้ระบายสีฟ้าไม่เป็น" โดย รุจรวี นาเอก รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ เรื่อง"จิ๋วกับน้อย" โดย สุริศร แก้วม่วง รางวัลชมเชย จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ เรื่อง "กล่องตุ๊กตาสีใสกับจดหมายของพ่อ" โดย ขจรพัฒน์ สุขภัทราพิรมย์ เรื่อง "ม้าน้ำสีทอง" โดย วิชชา ลุนาชัย และ เรื่อง "Color Land ดินแดนสีสัน" โดย กิตติพัฒน์ วิริยะ
ประเภทสารคดีสำหรับเยาวชน รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เรื่อง "มากกว่าชา" โดย ภูพิงค์ มะโน
สำหรับโครงการประกวดวรรณกรรมรางวัล "แว่นแก้ว" ครั้งที่ 14 แบ่งการประกวดออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มหนังสือสำหรับเด็กเล็ก (ภาษาไทย) อายุ 3-8 ปี ประกอบด้วยประเภทนิทานภาพส่งเสริมคุณธรรม และประเภทหนังสือภาพเสริมความรู้ และกลุ่มหนังสือสำหรับเยาวชน (ภาษาไทย) อายุ 12-18 ปี แบ่งออกเป็น ประเภทนวนิยายสำหรับเยาวชน และประเภทสารคดีสำหรับเยาวชน โดยมีรางวัลชนะเลิศประเภทละ 1 รางวัล ได้รับเงินรางวัล ๆ ละ 50,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ประเภทละ 1 รางวัล ได้รับเงินรางวัล ๆ ละ 30,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ประเภทละ 1 รางวัล ได้รับเงินรางวัล ๆ ละ 10,000 บาท และรางวัลชมเชย ประเภทละ 1 รางวัล ได้รับเงินรางวัล ๆ ละ 5,000 บาท ผลงานที่ได้รับรางวัลทุกเรื่องจะได้รับโล่พระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หนังสือได้รับการจัดพิมพ์และจำหน่ายโดยบริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด พร้อมค่าลิขสิทธิ์นอกเหนือจากเงินรางวัล ผู้ที่สนใจสามารถส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้ –20 เมษายน 2561 ประกาศผลในเดือนสิงหาคม 2561 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.nanmeebooks.com ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0-2662-3000 ต่อ 5272 หรือ 5215 โทรสาร 0-2662-0334, 0-2662-1505 หรือ e-mail: [email protected]
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit