ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า วันที่ 23 มีนาคม ของทุกปี องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization : WMO) พร้อมด้วยประเทศสมาชิก และชุมชนอุตุนิยมวิทยาทั่วโลก จะร่วมกันเฉลิมฉลอง "วันอุตุนิยมวิทยาโลก" ซึ่งถือเป็นวันระลึกถึงการก่อตั้งองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก เมื่อปี พ.ศ.2493 โดยจะกำหนดหัวข้อเรื่องไว้ทุกปี และปี พ.ศ. 2561 นี้ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกได้กำหนดหัวข้อเรื่องว่า "Weather-Ready, Climate-Smart" (พร้อมเรื่องอากาศ ฉลาดเท่าทันภูมิอากาศ) ด้วยตระหนักถึงสภาวะอากาศรุนแรงผิดปกติ ที่เกิดขึ้นจากสภาพภูมิอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลง อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากมีการเตรียมความพร้อมรับมือกับสภาพอากาศที่รุนแรงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีระบบเตือนภัยล่วงหน้า การคาดการณ์สภาวะอากาศรุนแรงที่มีประสิทธิภาพและแม่นยำ การออกการคาดการณ์พร้อมคำเตือน อย่างสม่ำเสมอและเชื่อถือได้เกี่ยวกับสภาพอากาศ จะลดความสูญเสียและผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้
กรมอุตุนิยมวิทยา หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลฯ ได้เตรียมจัดการสัมมนาวิชาการวันอุตุนิยมวิทยาโลก 2561 เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลอง "วันอุตุนิยมวิทยาโลก" และเป็นโอกาสที่ดีที่กรมอุตุนิยมวิทยาซึ่งเป็นสมาชิกขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก จะเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานของกรมอุตุนิยมวิทยา รวมทั้งเพื่อสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจและการเตรียมความพร้อมรับมือกับสภาวะอากาศรุนแรงผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแก่ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ข้อคิดเห็น และสร้างความสัมพันธ์กับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับสังคมยุค 4.0 กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ใช้ระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง หรือ ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ ในการพัฒนาการพยากรณ์อากาศเชิงตัวเลข ผสมผสานกับข้อมูลการตรวจอากาศ ข้อมูลดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา และเรดาร์ตรวจอากาศ เพื่อให้ได้ผลการพยากรณ์อากาศที่มีรายละเอียดสูงในระดับตำบลที่ถูกต้อง แม่นยำ ซึ่งการมีเครื่องมือสื่อสารการพยากรณ์อากาศที่ชัดเจนในหลายช่องทาง ทั้งทางสื่อสารมวลชนประเภทต่างๆ และสื่อสังคมออนไลน์ โดยมุ่งเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง จะทำให้ประชาชนทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงข้อมูลอุตุนิยมวิทยาได้อย่างรวดเร็ว ทันสมัยเข้ากับยุค "ไทยแลนด์ 4.0" นอกจากนี้กรมอุตุนิยมวิทยายังได้นำเทคโนโลยีข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data มาใช้ในการวิเคราะห์และจัดการข้อมูล เพื่อพัฒนาผลผลิตและตอบสนองต่อความต้องการของทุกภาคส่วนให้มีข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการอย่างชาญฉลาด อาทิ การเกษตรกรรม อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว และพลังงาน เป็นต้น ส่งผลต่อความเชื่อมั่น ความมั่นคง และความปลอดภัยในอนาคต
สำหรับการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาในปัจจุบัน ได้นำกรอบ SIGMA มาเป็นแนวทางการดำเนินงาน โดย S : Safety & Security หมายถึง การคำนวณสภาวะอากาศ เพื่อความปลอดภัย และการบริหารจัดการล่วงหน้าสำหรับหน่วยงานต่างๆ อาทิ ความปลอดภัยด้านการบิน การบริหารจัดการน้ำ ภัยธรรมชาติ และแผ่นดินไหว เป็นต้น I : Digital Infrastructure คือ การสร้างโครงข่ายโทรคมนาคมทางอุตุนิยมวิทยา การสร้าง DATA Center ด้านอุตุนิยมวิทยา และการใช้ HPC (High Performance Computing) หรือ การประมวลผลที่มีประสิทธิภาพสูงช่วยในการพยากรณ์อากาศ G : Digital Government การใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์มาใช้ในการตัดสินใจ M : Digital Manpower การพัฒนาศักยภาพบุคลากร และ A : API & Application การสร้างแอปพลิเคชั่นเพื่อบริการข้อมูลด้านการพยากรณ์อากาศ
ทั้งนี้ การจัดงานสัมมนาวิชาการวันอุตุนิยมวิทยาโลก ประจำปี 2561 ของกรมอุตุนิยมวิทยา จะมีขึ้นในวันที่ 23 มีนาคม 2561 ณ โรงแรมวินเซอร์ สวีทส์ ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ ซึ่งภายในงานจะมีการจัดสัมมนาวิชาการ และการเสวนาใน 2 เรื่อง คือ เรื่อง "Weather-Ready, Climate-Smart, Water-Wise ยุค 4.0" และเรื่อง "ฉลาดเท่าทันภูมิอากาศ : Climate-Smart" โดยวิทยากรผู้มีความรู้และประสบการณ์ด้านอุตุนิยมวิทยา เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน นิสิตนักศึกษา รวมถึงผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับรู้ ตลอดจนประชาชนทั่วไปได้เข้าใจบทบาทและหน้าที่ของกรมอุตุนิยมวิทยา สามารถประยุกต์ใช้ข้อมูลและผลผลิตด้านอุตุนิยมวิทยาได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ประชาชนมีความเข้าใจสภาวะอากาศมากขึ้น ลดความตื่นตระหนกเกี่ยวกับสภาวะอากาศรุนแรงผิดปกติที่เกิดขึ้นจากสภาพภูมิอากาศ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit