นอนกรน...ภัยร้ายใกล้ตัว

19 Mar 2018
ให้ความรู้โดย : แพทย์หญิง พรรณทิพา สมุทรสาคร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโสต ศอ นาสิก และโรคนอนกรน โรงพยาบาลธนบุรี2

การนอนกรน เกิดจากกล้ามเนื้อคอคลายตัวขณะหลับจนทำให้ช่องคอแคบลง ซึ่งส่งผลให้ต้องหายใจเข้าออกแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อทางเดินหายใจแคบลงจนถึงจุดหนึ่ง ความแรงของลมหายใจที่ยิ่งเพิ่มมากขึ้นจนเกิดการสั่นสะเทือนของเนื้อเยื่อภายในระบบทางเดินหายใจ ทำให้มีเสียงกรนตามมา นอกจากนี้การกรนยังเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น เกิดการปิดกั้นของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเกิดจากการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อภายในระบบทางเดินหายใจ เช่น ลิ้น ลิ้นไก่ เพดานอ่อน คอ หรืออาจเกิดจากสารหล่อลื่นในระบบทางเดินหายใจลดลง ทำให้เกิดอาการแห้ง และบวม ทางเดินหายใจจึงแคบลง เมื่อหายใจจึงเกิดเป็นเสียงกรน

พญ.พรรณทิพา สมุทรสาคร กล่าวว่า นอกจากการนอนกรนแล้ว ยังมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (obstructive sleep apnea : OSA) อาจมีการหยุดหายใจร่วมด้วย เมื่อเนื้อเยื่อคอหรือลิ้นหย่อนลงไปปิดทางเดินหายใจส่วนต้น ร่างกายจะพยายามหายใจเข้ามากขึ้นเพื่อให้อากาศผ่านเข้าทางเดินหายใจที่ตีบลง ยิ่งทำให้ทางเดินหายใจแคบขึ้นจนกระทั่งปิดสนิท คล้ายกับการดูดชิ้นของอาหารด้วยหลอด ชิ้นของอาหารจะติดที่ปลายหลอด ทำให้ไม่สามารถผ่านไปได้ อาหารในที่นี้เปรียบเสมือนอากาศนั่นเอง เมื่ออากาศไม่สามารถผ่านทางเดินอากาศที่ปิดสนิท ร่างกายจึงไม่สามารถนำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายได้ เมื่อสมองขาดออกซิเจน จะทำให้ผู้ป่วยตื่นขึ้นในรูปแบบการหายใจแรงหรือไอแรง เพื่อปรับตำแหน่งของลิ้นใหม่ ในวงรอบของการนอน อาจมีการกรนและภาวะหยุดหายใจหลายครั้ง เป็นผลทำให้ผู้ป่วยนอนหลับไม่เพียงพอและสมองได้รับออกซิเจนไม่เต็มที่

อาการที่บ่งบอกว่ามี ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และควรปรึกษาแพทย์

อาการตอนกลางคืน

  • สะดุ้งเฮือก หรือหายใจแรงเหมือนขาดอากาศ
  • หายใจขัด หรือคล้ายสำลักน้ำลาย
  • นอนหลับไม่ต่อเนื่องกระสับกระส่าย
  • ผู้ป่วยเด็กอาจเปลี่ยนท่านอนบ่อย ชอบนอนตะแคง นอนคว่ำมากกว่า นอนหงาย หรือมีปัสสาวะรดที่นอนได้

อาการตอนกลางวัน

  • ง่วงนอนตอนกลางวันจนรบกวนการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวัน
  • ตื่นนอนไม่สดชื่นแม้จะนอนพอ นอนหลับไม่เต็มอิ่ม
  • ปวดศีรษะตอนตื่นนอน
  • ประสิทธิภาพในการทำงานหรือการเรียนลดลง หรือขาดสมาธิและความจำแย่ลง
  • ผู้ป่วยเด็กอาจมีอาการซนผิดปกติสมาธิสั้นในเวลากลางวัน หรืออาจมีผลการเรียนแย่ลง

แนวทางในการตรวจวินิจฉัย

1.การซักประวัติ โดยเฉพาะจากคู่นอนหรือบุคคลที่สังเกตอาการผู้ป่วยได้

2.การตรวจทั่วไปและการตรวจทางหู คอ จมูกอย่างละเอียด เพื่อประเมินหาตำแหน่งของการอุดกั้นของทางเดินหายใจ อาจมีการส่องกล้องภายในทางเดินหายใจส่วนต้น

3.การตรวจเพิ่มเติม เช่น การถ่ายภาพ รังสี (X-ray) บริเวณกะโหลกศีรษะ เพื่อประเมินขนาดของต่อมอดีนอยด์ (ในผู้ป่วยเด็ก) และเพื่อประเมินโครงสร้างกระดูกใบหน้า ขากรรไกร และเนื้อเยื่อของทางเดินหายใจส่วนบนในผู้ป่วยผู้ใหญ่

4.การตรวจการนอนหลับ (Polysomnography) ใช้เวลาตรวจช่วงกลางคืนอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาของการนอนหลับในคนทั่วไป ถือเป็นการตรวจที่ มีความสำคัญในการวินิจฉัยแยกภาวะหยุดหายใจขณะหลับ จาการนอนกรนธรรมดา บอกความรุนแรงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และวินิจฉัยความผิดปกติอื่นๆที่เกิดขึ้นในขณะนอนหลับ นอกจากนี้ยังสามารถช่วยในการวางแผนการรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกได้

การรักษา

ปัจจุบันทางเลือกในการรักษา OSA มีอยู่ค่อนข้างมาก แนวทางในการรักษาของผู้ป่วยแต่ละรายขึ้นกับปัจจัยต่างๆ เช่น ความรุนแรงของโรค สาเหตุที่ตรวจพบหรือสงสัย ความต้องการของผู้ป่วย ตลอดจนข้อดี ข้อเสียและข้อจำกัดของการรักษาแต่ละแบบ การรักษาในปัจจุบันแบ่งเป็น

1. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

  • การลดน้ำหนักโดยการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • การหลีกเลี่ยงการนอนหงาย อาจนอนตะแคงหรือนอนศีรษะสูง
  • การหลีกเลี่ยงยาหรือเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์กดสมองส่วนกลาง เช่น ยานอนหลับ ยาแก้แพ้ชนิดแก้แพ้ชนิดที่ทำให้ง่วง และแอลกอฮอล์
  • การบริหารกล้ามเนื้อบริเวณช่องปากและคอหอย

2. การรักษาที่ไม่ใช่การผ่าตัด

  • การใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก หรือเรียกว่า Continuous Positive Airway Pressure (CPAP) เป็นเครื่องที่สามารถส่งลมที่มีแรงดันบวกออกมา ผ่านหน้ากาก และลมจะช่วยค้ำยันกล้ามเนื้อช่องคอให้ไม่หย่อนตัวลง
  • การใส่เครื่องมือในช่องปาก (Oral appliance) เพื่อเลื่อนขากรรไกรล่าง (หรือลิ้น) ออกมาด้านหน้า ทำให้ช่องทางเดินหายใจกว้างขึ้น

3. การรักษาด้วยการผ่าตัด

มีหลักการเพื่อเพิ่มขนาดของทางเดินหายใจให้กว้างขึ้นหรือทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอหอยมีการตึงตัวเพิ่มขึ้น โดยมีข้อบ่งชี้ คือ

  • ตรวจพบตำแหน่งของการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบนชัดเจน

-อาการจากการนอนกรนและ/หรือโรคหยุดหายใจขณะหลับฯรบกวนชีวิตประจำวันของผู้ป่วยและคนใกล้ชิด

  • ผู้ป่วยปฎิเสธหรือไม่สามารถทนต่อผลข้างเคียงของ CPAP หรือการรักษาในรูปแบบอื่น ๆ ที่ไม่ใช่วิธีผ่าตัด
  • อาจพิจารณาการผ่าตัดเพื่อช่วยเสริมให้ผลการรักษาในแบบอื่น ๆ เช่น CPAP หรือ Oral appliance ให้ได้ผลดียิ่งขึ้น

อาการนอนกรนเพียงอย่างเดียว พบได้บ่อยและไม่ใช่โรค แต่ถ้ามีอาการสงสัยโรคหยุดหายใจขณะหลับฯร่วมด้วยหรืออาการนอนกรนนั้นรุนแรงจนรบกวนชีวิตประจำวันของผู้ป่วย คู่นอน รวมทั้งบุคคลในครอบครัว ผู้ป่วยควรให้ความสำคัญและควรได้รับการตรวจวินิจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาสาเหตุและแนวทางในการรักษาที่เหมาะสมต่อไป