ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC กล่าวว่า "การทำการพัฒนาโครงการระดับอย่าง EEC ไม่ใช่เรื่องง่าย และคนที่อยู่ในพื้นที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของเรื่อง ที่จำเป็นต้องได้รับความเข้าใจที่ถูกต้อง และเป็นผู้ที่ได้รับผลจากโครงการนี้โดยตรง และความเข้าใจที่แตกต่างระหว่างคนในพื้นที่และนอกพื้นที่ในขณะนี้ก็ยังมีค่อนข้างมาก อย่างเช่น ในภูมิภาคอื่นจะมีคำถามว่าทำไมถึงไม่ทำโครงการแบบนี้ให้พวกเขาบ้าง แต่ขณะเดียวกันเมื่อกลับมามองในพื้นที่ EEC เองกลับเกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน การเสวนาร่วมกันในครั้งนี้จะทำให้เราเข้าใจกันและกันมากขึ้น และความตั้งใจของคณะทำงาน EEC ก็คือการพัฒนาพื้นที่อย่างจริงจัง ซึ่งโครงการนี้จะไม่เกิดประโยชน์กับเพียงคนในพื้นที่ 3 จังหวัดเท่านั้น แต่ยังเป็นประตูที่เปิดไปสู่โอกาสให้กับจังหวัดอื่นๆ และประเทศไทยด้วย"
คณะกรรมการประสานงานพัฒนาท้องถิ่นระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ CAEC ก่อตั้งขึ้นภายใต้ FORUM 21 ซึ่งเล็งเห็นถึงความสำคัญของการทำงานในพื้นที่ EEC ว่าไม่มีใครรู้จักและเข้าใจพื้นที่ได้มากเท่ากับปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงได้สร้างเครือข่าย CAEC จากทั้ง 3 จังหวัดขึ้น ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา โดยมีคณะทำงานจังหวัดละ 15 คน ซึ่งในการเสวนาครั้งนี้ผู้แทนจากทั้ง 3 จังหวัดได้นำเสนอจุดเด่นของแต่ละจังหวัด และสะท้อนปัญหาที่ต้องการแก้ไขในจังหวัดของตนเองต่อ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ EEC และคณะทำงาน เพื่อหาแนวทางในการทำงานร่วมกันกับคณะ EEC ให้เกิดประโยชน์ต่อพื้นที่และประชาชนในจังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา มากที่สุด
โดย ดร.เพ่ง บัวหอม ปลัดเทศบาล ตำบลบางเสร่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ประธานคณะกรรมการประสานงานพัฒนาท้องถิ่นระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ได้นำเสนอถึงวิสัยทัศน์ของจังหวัดชลบุรีว่า จะชูจุดเด่นในการเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวนานาชาติ และพัฒนาอุตสาหกรรมสะอาด ใน 2 มิติ คือ ชายทะเล และ ป่าอ้อย ในขณะที่ประชาชนในพื้นที่ชลบุรีมีการรับรู้ถึงโครงการ EEC มากขึ้นกว่าเดิมแต่ยังคงมีปัญหาวิตกกังวลเรื่องการจราจร ปัญหาที่ดินแสมสาร ผลกระทบจากการก่อสร้าง ปัญหาแรงงาน ประชากรแฝง อาชญากรรม และความสะอาด
ในขณะที่ ดร.กิตติเกษม ชำนิไกร ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มะขามคู่ ผู้แทนจังหวัดระยอง กล่าวว่า จังหวัดระยองเป็นเมืองที่มีจุดเด่นในภาคการเกษตร การเพาะปลูกยางพารา มันสำปะหลัง และผลไม้ โดยภาคเกษตรกรรมยึดพื้นที่กว่าครึ่งของจังหวัด นอกจากนั้นยังแสดงวิสัยทัศน์ในการพัฒนาระยองเป็นเมืองแห่งนวัตกรรม แต่ยังคงมีปัญหาที่รู้สึกวิตกกังวลในพื้นที่ ทั้งเรื่องการบุกรุกชายหาด ปัญหาคุณภาพแหล่งน้ำ มลพิษทางอากาศ การจราจร สาธารณสุข ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน และน้ำท่วมที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้จ่าสิบเอกวัฒนชัย บุญมานะ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เสม็ดเหนือ ผู้แทนจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ฉะเชิงเทรามีจุดเด่นเรื่องการคมนาคมที่เชื่อมโยงกับหลายพื้นที่ มีโครงสร้างพื้นฐานที่ค่อนข้างดี และปัจจุบันฉะเชิงเทราก็ได้รับความนิยมในการมาท่องเที่ยวมาก และยังมีทั้งพื้นที่สีเขียวเป็นพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม โดยทางจังหวัดฉะเชิงเทราก็เห็นว่าโครงการ EEC มีความเหมาะสม แต่ก็ยังมีกังวลอยู่ในเรื่องสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต ความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน และผังเมืองใหม่ คนฉะเชิงเทราจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง
โดยเลขาธิการ EEC ได้รับฟังข้อมูลจากผู้แทนจาก 3 จังหวัดในเครือข่าย CAEC และร่วมเสวนาในหัวข้อ "เศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาท้องถิ่นในเขต EEC" โดยเริ่มจากการนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับโครงการ EEC ให้คณะกรรมการประสานงานพัฒนาท้องถิ่นระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ CAEC เข้าใจ และอธิบายถึงโครงการ EEC ว่าคือการทำให้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 เป็นรูปธรรมด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่ และทำให้พื้นที่ EEC เป็นฐานสะสมการลงทุน และ ฐานสะสมเทคโนโลยี เพื่อเยาวชนไทย EEC จึงได้สนับสนุนหลักสูตรการศึกษาเร่งรัด และร่วมพัฒนาหลักสูตรการศึกษาใหม่ เพื่อป้อนบุคลากรเข้าสู่อุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC โดยหลักสูตรจะมุ่งให้เยาวชนได้เห็นและคุ้นเคยกับเทคโนโลยี เพื่อทำให้เกิดความสนใจ และสร้างแรงบันดาลใจในการเลือกอาชีพในอนาคต ทั้งยังได้ร่วมตอบข้อซักถามจากผู้เข้าร่วมการเสวนาครั้งนี้ ซึ่งจะนำข้อมูลทั้งหมดไปหารือกับคณะทำงานต่อไป เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทุก ๆ ด้าน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit