ด้วยกระทรวงการคลังมอบหมายให้กรมศุลกากรดำเนินการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวดและต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 เพื่อเป็นการปรับสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทยซึ่งมีผลต่อภาพลักษณ์ด้านการค้าและการลงทุน อันมีผลต่อการปรับสถานะไทยออกจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List - PWL) ซึ่งนายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร ได้สั่งการให้นายชูชัย อุดมโภชน์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบสิทธิประโยชน์ทางศุลกากร และนายกิตติ สุทธิสัมพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ดำเนินการวางแผนการจับกุม
จากการประสานและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วย PCU (PORT CONTROL UNIT) ของสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง หน่วย CCU (CONTAINER CONTROL UNIT) ของศุลกากรประเทศเวียดนาม หน่วย CCU (CONTAINER CONTROL UNIT) ของศุลกากรประเทศมาเลเซีย และหน่วยงานกิจการพรมแดนของประเทศอังกฤษ (UK BORDER FORCE) พบว่ามีการนำเข้าสินค้าประเภทบุหรี่ที่ไม่สามารถพิสูจน์แหล่งผลิตได้ว่าผลิตในประเทศใดและผลิตโดยบริษัทอะไร อันอาจไม่ปลอดภัยกับผู้บริโภคทั้งในและนอกประเทศ ตลอดจนอาจมีการละเมิดเครื่องหมายการค้า โดยใช้สิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรนำของเข้าเก็บในเขตประกอบการเสรีตาม พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 เพื่อรอการส่งออกและลักลอบนำเข้าไปจำหน่ายในประเทศมาเลเซีย จึงได้แจ้งข้อมูลให้ฝ่ายสืบสวนและปราบปราม ส่วนควบคุมทางศุลกากร พิจารณาดำเนินการตรวจสอบจับกุม โดยมีผลการจับกุมดังนี้
1. ตู้คอนเทนเนอร์หมายเลข TGHU6562276 และ GESU5570994 สำแดงชนิดสินค้า บุหรี่ ซิกาแรต ยี่ห้อ SAAT ปริมาณ 2,160 CTNS (21,600,000 มวน) ราคา 3,601,868 บาท ประเทศกำเนิด เวียดนาม ประเทศต้นทางบรรทุก สิงคโปร์ ระบุบริษัทผู้ผลิต ในประเทศเวียดนาม ผลการตรวจสอบพบปริมาณ น้ำหนัก ตรงตามสำแดง ตรวจสอบที่ซองบุหรี่พบว่ามีรหัสบาร์โค้ดเลขที่ 4897048970480 ซึ่งรหัส 489 เป็นรหัสที่แสดงว่าสินค้าผลิตในประเทศฮ่องกงและไม่ปรากฏข้อความใดที่แสดงให้เห็นว่าสินค้าผลิตในประเทศเวียดนามและจากการประสานข้อมูลจากหน่วย CCU (CONTAINER CONTROL UNIT) ของศุลกากรประเทศเวียดนามพบว่าบริษัทผู้ผลิตที่ระบุ ไม่ได้ผลิตบุหรี่ยี่ห้อ SAAT และส่งออกไปประเทศสิงคโปร์แต่อย่างใด กรณีเป็นการสำแดงประเทศกำเนิดเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อกำกัด อันเป็นความผิดตามกฎหมายศุลกากร
2. ตู้คอนเทนเนอร์หมายเลข CAIU9932785 และ HDMU6343694 สำแดงชนิดสินค้า บุหรี่ ซิกาแรต ยี่ห้อ U2 ปริมาณ 1,452 CTNS (14,520,000 มวน) ราคา 2,885,266.52 บาท ประเทศกำเนิด สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประเทศต้นทางบรรทุก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระบุบริษัทผู้ผลิต ในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ผลการตรวจสอบพบปริมาณ น้ำหนัก ตรงตามสำแดง ตรวจสอบที่ซองบุหรี่พบว่ามีรหัสบาร์โค้ดเลขที่ 5060249730002 ซึ่งรหัส 506 เป็นรหัสที่แสดงว่าสินค้าผลิตในประเทศอังกฤษ และไม่ปรากฏข้อความใดที่แสดงให้เห็นว่าสินค้าผลิตในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กรณีเป็นการสำแดงประเทศกำเนิดเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อกำกัด อันเป็นความผิดตามกฎหมายศุลกากร
พฤติการณ์ในการกระทำความผิด
1. สินค้าบุหรี่ทั้งหมดนำเข้ามาโดยใช้สิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรโดยนำของเข้าเก็บในเขตประกอบการเสรีนิคมอุตสาหกรรมฉลุง จังหวัดสงขลา เพื่อรอการส่งออกไปจำหน่ายประเทศมาเลเซียทางด่านศุลกากรสะเดาและด่านศุลกากรตากใบ แต่จากการตรวจสอบข้อมูลจากหน่วย CCU (CONTAINER CONTROL UNIT) ของศุลกากรประเทศมาเลเซียไม่พบข้อมูลการนำเขาบุหรี่จากประเทศไทยผ่านชายแดนแต่อย่างใด จึงเชื่อได้ว่าบุหรี่บางส่วนได้ลักลอบนำเข้าประเทศมาเลเซียและบางส่วนลักลอบนำกลับมาจำหน่ายในประเทศไทย
2. ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแสดงรูปภาพ ข้อความคำเตือนเกี่ยวกับพิษภัยและช่องทางการติดต่อเพื่อการเลิกยาสูบ ในฉลากของบุหรี่ซิกาแรต พ.ศ.2556 ข้อ7 กำหนดให้มีข้อความแสดงวันเดือนปีที่ผลิตและแสดงแหล่งที่มาของบุหรี่ซิกาแรตว่าได้ผลิตขึ้นในประเทศใดไว้ที่ซองหรือภาชนะบรรจุบุหรี่ แต่สินค้าที่นำเข้าไม่ปรากฏข้อความดังกล่าว
3. สินค้าบุหรี่ยี่ห้อ SAAT จดทะเบียนโดยบริษัทผู้ผลิต ซึ่งตั้งอยู่ที่ประเทศฮ่องกง และ U2 จดทะเบียนโดยบริษัทผู้ผลิต ซึ่งตั้งอยู่ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
จากการตรวจสอบสินค้าที่นำเข้าจริงและเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้พบว่ามีความแตกต่างกัน กรณีเป็นความผิดฐานปลอมหรือเลียนแบบเครื่องหมายการค้า ซึ่งสินค้าที่ละเมิดเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นสินค้าต้องห้ามในการนำผ่านตามประกาศกระทรวงพาณิชย์
4. รวมมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ 300 ล้านบาท
สรุปจากข้อเท็จจริงทั้งหมด เป็นความผิดฐานสำแดงเมืองกำเนิดเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยง ข้อห้าม ข้อกำกัด อันเป็นความผิดตามมาตรา 99, 27 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 ประกอบกับมาตรา 16, 17 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 9) 2482 มาตรา 108-110 (1) แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 31 อนุ 1, อนุ 4 พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ และมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. ห้ามนำของที่มีการแสดงเมืองกำเนิดเป็นเท็จ พุทธศักราช 2481
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit