กระทรวงดิจิทัลฯ หนุน สพธอ. จับมือ ม.หอการค้าไทย จัดประชุมใหญ่ระดับอาเซียน สร้างมาตรการ คุ้มครองเยาวชนพ้นภัยไซเบอร์

09 Feb 2018
กระทรวงดิจิทัลฯ สนับสนุน สพธอ. ร่วมกับ สถาบันวิชาการนโยบายกิจการสาธารณะกับธุรกิจและการกำกับดูแล ม.หอการค้าไทย จัดประชุมระดับนานาชาติ หัวข้อ "ครอบครัวปลอดภัยในยุคดิจิทัล" เพื่อสร้างมาตรการป้องกัน พร้อมแนวทางปรับปรุงกฎหมาย คุ้มครองเด็กและเยาวชนไทยปลอดภัยจากการใช้สื่อออนไลน์
กระทรวงดิจิทัลฯ หนุน สพธอ. จับมือ ม.หอการค้าไทย จัดประชุมใหญ่ระดับอาเซียน สร้างมาตรการ คุ้มครองเยาวชนพ้นภัยไซเบอร์

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า กระทรวงดิจิทัลฯ โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ./ETDA ได้ร่วมกับสถาบันวิชาการนโยบายกิจการสาธารณะกับธุรกิจและการกำกับดูแล (APaR) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยความร่วมมือของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดประชุมนานาชาติเรื่อง "ครอบครัวปลอดภัยในยุคดิจิทัล : Building a Safe Online Environment for Children" ระหว่างวันที่ 8–9 กุมภาพันธ์ 2561 ณ ห้อง Open Forum ชั้น 21 สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกในอาเซียน

กระทรวงดิจิทัลฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เป็นอนาคตของชาติ แต่ด้วย ยุคปัจจุบันที่ทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลา ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเราจะคุ้มครองเยาวชนจากสิ่งที่ไม่เหมาะสมที่อยู่บนโลกออนไลน์ได้อย่างไร อาทิ เนื้อหาบนโลกอินเทอร์เน็ตที่มีความรุนแรง และความไม่เหมาะสม กับเยาวชน ดังนั้น การประชุมครั้งนี้จึงมีความสำคัญเนื่องจากผู้เข้าร่วมประชุมจะได้รับฟังนโยบายและแนวปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวของต่างประเทศ เพื่อนำมาประยุกต์ให้เข้ากับประเทศไทยในการสร้างโลกอินเทอร์เน็ตให้ปลอดภัยกับเยาวชน โดยต้องมีการสร้างมาตรการระวัง ป้องกันภัย และรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น

จากรายงานผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยปี 2560 ของ สพธอ. โดยผู้ศึกษาพบว่า กลุ่มเด็กและเยาวชน อายุน้อยกว่า 17 ปี มีการใช้อินเทอร์เน็ตในวันทำงานโดยเฉลี่ย 5.48 ชั่วโมงต่อวันและในวันหยุดโดยเฉลี่ย 7.12 ชั่วโมงต่อวัน สำหรับกิจกรรมทางออนไลน์ที่เป็นอันดับ 1 คือ การใช้สื่อสังคมออนไลน์ประเภทต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา มีภัยคุกคามทางออนไลน์ที่เกิดแก่เด็กและเยาวชนในหลายรูปแบบ ทั้งการข่มขู่ การหลอกลวง การกลั่นแกล้งกันบนอินเทอร์เน็ต (Cyberbullying) การทำลามกอนาจารต่อเด็กและเยาวชน รวมทั้งการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ขาดความระมัดระวังและความตระหนักของเด็กและเยาวชนทำให้เกิดภัยคุกคามอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น

การประชุมนานาชาติครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องถึงภัยคุกคามออนไลน์ในยุคดิจิทัลที่เยาวชนสามารถเข้าถึงสื่อออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา แต่เนื้อหาของสื่อบนอินเทอร์เน็ตบางอย่างอาจไม่เหมาะสมกับเยาวชน จึงถูกนำไปแสวงหาประโยชน์ได้โดยง่าย ดังนั้น ภัยออนไลน์ต่อเยาวชนจึงเป็นประเด็น ที่ทั่วโลกให้ความสนใจและเล็งเห็นถึงความเร่งด่วนในการออกมาตรการคุ้มครองเยาวชนจากภัยออนไลน์

"ประเทศไทย ไม่ต่างจากประเทศอื่นที่กำลังเผชิญกับความท้าทายในยุคดิจิทัล รัฐบาลพยายามดำเนินการหลายอย่าง เช่น เมื่อต้นปีที่แล้วได้มีการตรากฎหมายตั้งกระทรวงดิจิทัลฯ ขึ้น เพื่อเดินหน้าดำเนินการเรื่อง Digital Economy โดยเฉพาะ เนื่องจากตระหนักถึงความสำคัญว่า เทคโนโลยีดิจิทัลจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ในทุกด้านของประเทศ ที่สำคัญเราตระหนักดีว่า จำต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อพัฒนาและยกระดับประเทศในยุคเทคโนโลยีก้าวกระโดด (Disruptive Technology) โดยกระทรวงฯ ต้องการให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ทั้งการดำเนินงานผ่านโครงการเน็ตประชารัฐในปีที่ผ่านมา และมีโครงการจะขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ที่อยู่ในท้องที่ห่างไกลก็สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ และเมื่อดูแลทุกภาคส่วนแล้ว ก็ต้องเข้าไปดูแลเด็กและเยาวชน โดยต้องทำให้มั่นใจว่า เด็กและเยาวชนจะต้องโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะดูแลปกป้องตนเองได้ และมีวิจารณญาณในการตัดสินว่า อะไรเป็นเนื้อหาหรือข้อมูลที่เหมาะสม" ดร.พิเชฐฯ กล่าว

ทั้งนี้ การจัดประชุมในครั้งนี้ ได้เชิญผู้ร่วมเสวนาชั้นนำจากองค์กรและมหาวิทยาลัยระดับโลก อาทิ International Institute of Communications (IIC), Facebook, Google, 3DU Play, University of Vienna และ University of Hong Kong มาให้ความรู้และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย