กรีนพีซ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ นักกิจกรรมนำเสนอนาฬิกาทราย ชี้วิกฤตมลพิษ PM2.5 เป็นวาระเร่งด่วน ต้องลงมือทำทันที

22 Feb 2018
วันนี้นักกิจกรรมกรีนพีซ นำเสนอนาฬิกาทรายที่บรรจุ บรรจุฝุ่นที่เก็บรวบรวมจากพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษจากในกรุงเทพฯ และ จากหลายจังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ เพื่อส่งมอบให้กับตัวแทนนายกรัฐมนตรีบริเวณด้านหน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล

นาฬิกาทรายเป็นสัญลักษณ์ถึงความเร่งด่วนของวิกฤตมลพิษทางอากาศที่รัฐบาลต้องลงมือทำในทันทีก่อนที่จะสายเกินไป โดยเฉพาะมลพิษทางอากาศที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ซึ่งมีแหล่งกำเนิดจากภาคการคมนาคม การผลิตไฟฟ้า และอุตสาหกรรมการผลิต และการเผาในที่โล่ง ทั้งนี้นักกิจกรรมกรีนพีซยังได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลด้วย

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า "คนกรุงเทพฯ ไม่สมควรที่จะสูดอากาศที่มีฝุ่นพิษอีกต่อไป มลพิษทางอากาศเป็นอันตรายต่อชีวิตของคน ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ รวมถึงต่อเมืองที่มีบทบาทสำคัญอย่างกรุงเทพมหานคร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติโดยตำแหน่ง จะต้องสั่งการให้กรมควบคุมมลพิษ ยกระดับดัชนีคุณภาพอากาศ PM2.5 และระบบการรายงานคุณภาพอากาศที่ทันสมัยโดยทันที และเสนอแผนปฏิบัติการที่หนักแน่นและจริงจังเพื่อจัดการกับวิกฤตมลพิษ PM 2.5 ไม่ใช่การยื้อเวลาออกไป เพื่อปกป้องสุขภาพประชาชน"

กรีนพีซทำการจัดลำดับเมืองที่มีเผชิญกับมลพิษ PM2.5 ในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 จนถึงปัจจุบัน โดยมีข้อค้นพบที่สำคัญคือ คุณภาพอากาศในพื้นที่เมืองยังอยู่ในระดับแย่และมีแนวโน้มแย่ลงอย่างต่อเนื่อง พื้นที่เมืองส่วนใหญ่รวมถึงกรุงเทพมหานครมีความเข้มข้น PM2.5 เฉลี่ยรายปีเกินเกณฑ์มาตรฐานในบรรยากาศทั่วไปของประเทศไทยและทุกเมืองมีความเข้มข้น PM2.5 เฉลี่ยรายปีเกินระดับที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลก เมื่อพิจารณาถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ความเข้มข้นของ PM2.5 ในพื้นที่เมืองของประเทศไทยยังคงเป็นตัวชี้วัดที่อยู่ในระดับแย่และยังไม่มีเป้าหมายรับมือ

ในช่วงวันที่ 1 มกราคมถึง 21 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศที่เลวร้ายที่สุด ในจำนวนรวม 52 วัน บางพื้นที่มีความเข้มข้นเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของ PM2.5 เกินค่ามาตรฐานในบรรยากาศทั่วไปตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลกถึง 40 วัน

ในจดหมายเปิดผนึกที่ส่งถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องนโยบายจัดการคุณภาพอากาศ PM2.5 ของประเทศไทย กรีนพีซย้ำว่า การที่จะไปให้ถึงวิสัยทัศน์ "อากาศสะอาดเพื่อเราทุกคน(Safe Air for All)" ที่รัฐบาลตั้งไว้ในร่างแผนยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพอากาศ 20 ปี รัฐบาลจะต้อง ;

  • กำหนดค่ามาตรฐาน PM2.5 และปรอทที่แหล่งกำเนิดที่อยู่กับที่(Stationery Sources) รวมถึงการตรวจวัดและรายงานการปล่อย PM2.5 และปรอทจากปล่องโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
  • ตั้งเป้าหมายการลดการสัมผัสฝุ่นละออง PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไปของกลุ่มประชากรลงอย่างน้อยที่สุดร้อยละ 30 ภายในระยะเวลาของการดำเนินงานในร่างแผนยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพอากาศ 20 ปี
  • เพิ่มเป้าหมายการลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากมลพิษทางอากาศให้เป็นตัวชี้วัดในแผนยุทธศาสตร์ให้ชัดเจน
  • ติดตามตรวจสอบและรายงานความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5) และสารมลพิษทางอากาศอื่นๆ ที่เป็นภัยคุกคามสุขภาพอนามัยของประชาชน เช่น โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน(PAHs) โดยสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้
  • คำนึงการดำเนินมาตรการในข้อ 8(Article 8) ของอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอทที่มุ่งเน้นถึงการควบคุมและลดการปล่อย(emission)ปรอทออกสู่บรรยากาศจากแหล่งกำเนิดที่มีจุดกำเนิดแน่นอน(point sources) ตามรายการที่ระบุไว้ในภาคผนวก D (Annex D) ของอนุสัญญาฯ อันได้แก่ โรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นต้น

หมายเหตุ

[1] จดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล https://www.greenpeace.or.th/UPP/Air-Pollution/Letter-to-PM-Prayuth-PM2.5.pdf

[2] http://www.greenpeace.org/seasia/th/campaigns/Urban-Revolution/Air-Pollution/Right-To-Clean-Air/City-ranking/

[3] https://www.greenpeace.or.th/UPP/Air-Pollution/PM2.5-and-day-that-exceed-standard.pdf

[4] การวิเคราะห์ข้อมูลล่าสุดใน State of Global Air https://www.stateofglobalair.org/data ระบุว่า PM2.5 ก่อให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในประเทศไทยประมาณ 37,500 คน ในปี 2558 และจากผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระบุว่าจนถึง พ.ศ. 2554 มลพิษทางอากาศรวมถึงฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5) จากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอยู่ในประเทศไทยเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรประมาณ 1,550 คนต่อปี อัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรอาจเพิ่มขึ้นถึง 5,300 คนต่อปี

[5] สืบเนื่องจากการที่ประเทศไทยลงนามเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท(Minamata Convention on Mercury)เป็นประเทศแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาคีอนุสัญญาได้ยอมรับร่วมกันว่า "ปรอทเป็นสารเคมีที่ทั่วโลกมีความกังวลเนื่องจากปรอทสามารถเคลื่อนย้ายได้ไกลในชั้นบรรยากาศ ปรอทตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมของมนุษย์ ปรอทมีความสามารถในการสะสมในสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ และปรอทส่งผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ