วันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมร่มไม้ – สายธาร สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) จึงจัดงานแถลงข่าว " โรงพยาบาล HA โรงพยาบาลคุณภาพ มาตรฐานสากล " เพื่อสื่อสารถึงความสำคัญของมาตรฐาน HA ที่จะช่วยพัฒนาระบบบริการของสถานพยาบาลให้เกิดการบริการกับผู้ป่วยที่มีคุณภาพสูงสุด
นายแพทย์กิตตินันท์ อนรรฆมณี ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล กล่าวว่า มาตรฐาน HA มุ่งเน้นเรื่อง คุณภาพ ความปลอดภัย และส่งเสริมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเน้น ซึ่งจะทำให้ระบบงานของแพทย์และพยาบาลมีคุณภาพ และปลอดภัยมากขึ้นเรื่อย ๆ
โดยมาตรฐาน HA ได้รับการรับรองจาก ISQua เป็นครั้งแรกในปี 2552 -2556 ครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2556- 2560 และครั้งที่ 3 ในปี 2560 ซึ่งทุกครั้ง สพร.ได้พัฒนาปรับปรุงเนื้อหามาตรฐานให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง " ครั้งที่แล้วที่เราได้รับการรับรอง เรายังไม่ได้พูดถึงสื่อโซเชียลมีเดียชัดนัก แต่ครั้งนี้มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก เช่นเรื่อง สื่อสังคมออนไลน์ ทางการแพทย์ใช้ไลน์ ปรึกษาหารือ ซึ่งชัดว่าเกี่ยวข้องกับเรื่อง จริยธรรมของแพทย์ หรือผู้ป่วยกำลังจะเสียชีวิต เราควรจะปล่อยผู้ป่วยไปเมื่อไหร่ เมื่อแพทย์ลงความเห็นว่าสมองตายแล้ว หรือรอถามญาติ ตรงนี้เป็นแนวทางว่าเราควรจะบริหารจัดเรื่องเหล่านี้อย่างไร เพื่อสุดท้ายแล้วนำไปสู่ มาตรฐานและความปลอดภัยสูงสุดของผู้ที่เกี่ยวข้อง และความสำคัญที่สุดคือผู้ป่วยเอง"
ปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐาน HA แล้วจำนวน 782 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 66.04 ของโรงพยาบาลทั้งหมด แยกเป็น โรงพยาบาลรัฐ 699 แห่ง เอกชน จำนวน 83 แห่ง
ในมุมมองของโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน HA นายแพทย์ชวนนท์ อิ่มอาบ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวัดเพลง จังหวัดราชบุรี เล่าว่า
"ตอน มาเป็น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลใหม่ ๆ ผมก็คิดว่าจะพัฒนาโรงพยาบาลอย่างไร หลายๆ คนในโรงพยาบาลก็แนะนำ จนรู้ว่ามาตรฐาน HA เป็นมาตรฐานนานาชาติ เมื่อได้นำมาใช้ จึงรู้ว่าเป็นแนวทางที่ทำให้รับฟัง ปัญหา เสียงของผู้ป่วย ญาติ และนำมาคิดวิธีการแก้ไขปัญหา วางระบบในการจัดการ เพื่อให้การบริการมีคุณภาพที่ดีขึ้น เช่น ปัญหาเก้าอี้เต็ม ผู้ป่วยยืนรอในตอนเช้า เราก็ขยายเวลาให้แพทย์ออกตรวจเช้าขึ้น คนไข้เบาหวาน ที่เราควบคุมน้ำตาลได้ร้อยละ 50 กระบวนการเรียนรู้ของ HA ทำให้เราคิดว่า ทำอย่างไรจะเพิ่มได้เป็นร้อย 60 หรือ 70 ผู้ป่วยฉุกเฉินเฉียบพลัน เจ็บหน้าอก ทำอย่างไรให้ ผู้ป่วยได้รับวินิจฉัย การบริการที่ไวขึ้น ผมมั่นในว่าแนวทางของ HA ดำเนินการมาอย่างยาวนาน และเชื่อมั่นได้จริง ๆ สุดท้ายคนที่ได้ประโยชน์มากที่สุด คือ ผู้ป่วย คือประชาชนเอง
ด้าน สุกัญญา มิเกล ในฐานะประชาชนที่เคยได้รับการผ่าคลอด ลูกทั้ง 2 คน จากโรงพยาบาลชลประทานซึ่งได้รับรองมาตรฐาน HA เล่าว่า
"สิ่งที่สัมผัสได้ คือ โรงพยาบาลมีการจัดจำแนะเอกสารดีมาก แล้วมีดูแลตั้งแต่ฝากท้อง อบรม แพทย์มีการสื่อสารกับผู้ป่วยเราเลยเข้าใจคุณหมอมากขึ้น เห็นทางเลือกต่าง ๆ รู้ว่าการตัดสินใจของคนในโรงพยาบาลก็ทำด้วยมีความรับผิดชอบของเขา คุณภาพตรงนี้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงว่ามีมากขึ้น เพราะเราเข้ามาคลอดลูกคนที่ 2 ด้วย ก็ยิ่งเข้าใจมากขึ้น ตอนนี้บางครั้งที่เข้าโรงพยาบาลเอกชน เลยนึกถึงโรงพยาบาลรัฐมาก เพราะสำหรับคนทุกระดับชั้น จริงๆ เสมอภาค ไม่มีอภิสิทธิ์ ถูกและดี ไม่ใช่ไม่มีในโลก มีได้ในโรงพยาบาลรัฐโดยระบบนี้แน่นอน "
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังมีโรงพยาบาลของรัฐหลายแห่ง ที่ยังไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน HA ซึ่งนายแพทย์ชวนนท์ มองว่าแม้มาตรฐาน HA ไม่ได้เป็นมาตรการบังคับ แต่ก็เป็นมาตรฐานเดียวที่กระทรวงสาธารณสุขยอมรับและกำหนดเป็นนโยบายว่า โรงพยาบาลทุกแห่งต้องผ่านมาตรฐาน HA
"เรา เป็นบุคลกรทางการแพทย์ เราก็อยากให้บริการที่ดีกับประชาชนแน่นอนอยู่แล้ว แต่ดี หรือไม่ดีจริง ก็ต้องมีมาตรฐาน มีคนอื่นมารับรอง เหมือนมี น้ำดื่ม 2 ขวด ขวดหนึ่งมี อย. กับไม่มี คนก็อยากดื่มขวดที่มี อย. อยู่แล้ว เมื่อ HA ออกมาตรฐานใหม่ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อวงการ การแพทย์ และการสาธารสุขให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งมาตรฐานของ สรพ ผมเชื่อว่า การันตีได้ว่าดีจริงๆ "สุกัญญา มิเกล เล่าต่อว่า " ตอนนี้เราก็บอก เพื่อน ๆ ญาติ ให้เข้าโรงพยาบาลรัฐ อย่างน้อย ความเชื่อใจ ปลอดภัย มีสูง มาตรฐาน HA จะเป็นประโยชน์มาก ๆ สำหรับผู้ป่วย เพราะเป็นตัวบอกเลยจ่ายบาทเดียว หรือแพงแค่ไหนก็แล้วแต่ ส่งที่เราได้กลับมา คือการดูชีวิต เราได้คุณภาพชีวิตที่ดีกลับคืนมา โดยมีมาตรฐานเทียบเท่ากับที่เมืองนอกเขามี แต่เราต้องเข้าใจว่าต้อง ค่อย ๆ เป็น ค่อยๆ ไป แต่เราสัมผัสได้รู้ว่ามีระบบการดูแล เข้าใจคนไข้ แม้แต่สวนหย่อม ที่ดูแลสุขภาพจิตของผู้ป่วยและอีกหลาย ๆ เรื่อง"
การพัฒนามาตรฐาน HA ให้เกิดความยั่งยืนนั้นเป็นกระบวนการที่เป็นพลวัต มีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความคาดหวัง ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งสิ่งนี้สามารถเกิดขึ้นได้ ด้วยแนวทางที่ นายแพทย์กิตตินันท์ กล่าวทิ้งท้ายว่า " ไม่ว่าอย่างไร เราทุกคนต้องเข้าโรงพยาบาล ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้เราทุกคนต้องการคุณภาพ โรงพยาบาลจึงเป็นสมบัติของทุกคนและถึงจุดหนึ่ง ประชาชนจะเข้ามามีส่วนมากขึ้นในการช่วยกันคิด ช่วยกันสะท้อน มากขึ้น เมื่อเกิดความเข้าใจ ผู้ป่วยจะดูแลตัวเอง เห็นทางเลือกมากขึ้น แล้วเราจะช่วยป้องกันไม่ให้หลาย ๆ ปัญหา เช่น การฟ้องร้องเกิดขึ้นได้ "
จึงขอสรุปอย่างง่าย ๆ ตรงนี้ ว่า มาตรฐาน HA (Healthcare Accreditation) ต้องการการมีส่วนร่วมจากประชาชน เพื่อให้บริการที่มีคุณภาพสูงสุดตกแก่ประชาชนอย่างเรา ๆ นั่นเอง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit