“กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย” ผสาน “มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์” สานต่อโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริ พื้นที่ลุ่มน้ำน่าน ปีที่ 2

27 Dec 2017
“กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย” ผสาน “มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์” สานต่อโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริ พื้นที่ลุ่มน้ำน่าน ปีที่ 2

กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย โดยนายวรพจน์ พรประภา (ที่สองจากซ้าย) กรรมการกองทุน ผสานความร่วมมือกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยดร.รอยล จิตรดอน (ที่สามจากซ้าย) เลขาธิการมูลนิธิ พร้อมด้วย พ.อ.กาญจน์ณัฏฐ์ เพชรแสง (ที่สองจากขวา) รอง ผอ.กอ.รมน.จังหวัดน่าน ผู้แทนกองทัพภาคที่ 3 นายปรีชา สมชัย (ซ้ายสุด) นายอำเภอบ่อเกลือ ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ร่วมเปิดกิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำและปลูกพืชอุ้มน้ำ บริเวณชุมชนบ้านนาบง ภายใต้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริ พื้นที่ลุ่มน้ำน่าน ปีที่ 2 โดยมีประชาชนชุมชนบ้านนาบง ร้านผู้จำหน่ายและจิตอาสาจากกลุ่มลูกค้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ฮอนด้า กว่า 300 คน เข้าร่วมกิจกรรมฯ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคมที่ผ่านมา

กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ภายใต้มูลนิธิฮอนด้าประเทศไทย ผสานความร่วมมือกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สานต่อโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริ พื้นที่ลุ่มน้ำน่าน ปีที่ 2 กับกิจกรรมนำร่องสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านนาบง กองทัพภาคที่ 3 ร้านผู้จำหน่ายและจิตอาสาจากกลุ่มลูกค้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ฮอนด้าจากจังหวัดน่านและใกล้เคียง ร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำในบริเวณลำห้วยจำนวน 7 ฝายและปลูกพืชอุ้มน้ำบริเวณร่องน้ำ เช่น กล้วยป่า กล้วยน้ำว้า และต๋าว รวม 350 ต้น เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับป่าต้นน้ำ คาดหลังการดำเนินงานปี 2562 จะสามารถฟื้นฟูพื้นที่เขาหัวโล้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งและดินถล่มกว่า 3,000 ไร่ ช่วยให้ประชากรกว่า 4,700 ครัวเรือนมีน้ำอุปโภค-บริโภค และเพิ่มแหล่งน้ำสำรองสำหรับทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี และเป็นชุมชนต้นแบบในการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืน

นายวรพจน์ พรประภา กรรมการกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย กล่าวว่า "ทางกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทยได้ให้ความสำคัญกับปัญหาการจัดการน้ำมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับเป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย จึงได้ผสานความร่วมมือกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ตั้งแต่ปี 2558 ด้วยการสนับสนุนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรี จนสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งที่ตำบลนาแขมและเมืองเก่าได้เป็นผลสำเร็จ และขยายผลสู่พื้นที่ลุ่มน้ำน่านในปี 2560 ภายใต้โครงการ "พัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน" บริเวณชุมชนบ้านดงผาปูนและบ้านนาบง เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำที่เคยประสบปัญหาเขาหัวโล้นให้กลับมาอย่างยั่งยืน ส่งผลให้ประชาชนมีความเข้าใจในพื้นที่ทำกินของตน และสามารถพัฒนาหรือบริหารจัดการน้ำได้ด้วยตนเอง พร้อมส่งต่อองค์ความรู้สู่ชุมชนต่อไป โดยมีระยะการดำเนินงาน 3 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560-2562 โดยกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทยให้การสนับสนุนงบประมาณรวมทั้ง 2 ลุ่มน้ำเป็นจำนวน 23.6 ล้านบาท"

ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์กล่าวว่า "มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. ได้น้อมนำแนวพระราชดำริด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ขับเคลื่อนเป็นเครือข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ โดยได้ดำเนินงานศึกษาและพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการแก้ปัญหาพื้นที่เขาหัวโล้นและการปลูกพืชไร่บนภูเขาในจังหวัดน่าน ซึ่งมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขาหัวโล้น ชาวบ้านยังทำเกษตรเชิงเดี่ยวในพื้นที่เขา โดยไม่มีระบบน้ำสำหรับปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น โดยมีกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทยให้การสนับสนุนการดำเนินงานระยะเวลา 3 ปี สำหรับโครงการในปี 2561 ถือเป็นปีที่ 2 ดำเนินงานวางระบบท่อส่งน้ำ กระจายสู่แปลงเกษตร ปรับปรุงคันนา ขุดสระสำรองน้ำ และปรับเปลี่ยนวิถีการเพาะปลูก ครอบคลุม 4 ลำห้วย พื้นที่เกษตรที่จะได้รับประโยชน์ 96 แปลง 726 ไร่ รวมทั้งการสร้างความเข้าใจร่วมกับชุมชน เพื่อเปลี่ยนพื้นที่ทำเกษตรบนเขาไปสู่พื้นที่ลุ่มด้านล่าง สร้างฝายชะลอน้ำและปลูกกล้วย ทำให้ดินชุ่มชื้น อุ้มน้ำได้มากขึ้น และช่วยเพิ่มพืชคลุมหน้าดิน เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำให้กลับมาสมบูรณ์ และชุมชนอยู่ร่วมกับป่าได้ มีรายได้ที่มั่นคง มีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอตลอดทั้งปี และสามารถขยายผลออกไปสู่ชุมชนอื่น ๆ จนเกิดการบริหารจัดการน้ำที่เชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ และเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป"

นายปรีชา สมชัย นายอำเภอบ่อเกลือ ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวว่า "ผมขอขอบคุณกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ที่ได้ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) รวมทั้งแสดงความชื่นชมคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชนบ้านดงผาปูน และเทศบาลตำบลบ่อเกลือใต้ ที่ร่วมดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ บ้านดงผาปูนและบ้านนาบง โดยน้อมนำแนวพระราชดำริมาบริหารจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ดำเนินงานแก้ไขปัญหาเขาหัวโล้นที่เป็นปัญหาเรื้อรังมายาวนาน ทั้งปัญหาภัยแล้งและดินถล่ม ด้วยการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ พัฒนาแหล่งน้ำ และบริหารจัดการน้ำ เพื่อใช้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำรองสำหรับการอุปโภค บริโภค พร้อมแนวทางการฟื้นฟูพื้นที่ทำเกษตรบริเวณเชิงเขา ป้องกันปัญหาดินถล่ม ซึ่งการดำเนินงานนี้ จะเป็นต้นแบบในการฟื้นฟูพื้นที่เขาหัวโล้นให้กับพื้นที่อื่นๆ ของจังหวัดน่าน ทำให้เกิดการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน เกิดการมีส่วนร่วมดูแลรักษาป่าต้นน้ำ และช่วยให้ประชาชนมีรายได้จากการทำเกษตรแบบอยู่ร่วมกับป่าได้"

พ.อ. กาญจน์ณัฎฐ์ เพชรแสง รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จังหวัดน่าน กล่าวในฐานะผู้แทนกองทัพภาคที่ 3 ว่า "กองทัพภาคที่ 3 และ กอ.รมน. ได้ให้ความสำคัญต่อการรักษาความมั่นคง ในส่วนของการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้ในพื้นที่ภาคเหนืออย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจังหวัดน่านที่ถือว่าเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของประเทศ ที่ผ่านมาทางกองทัพภาคที่ 3 ได้ร่วมมือกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) กรมป่าไม้ กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และภาคเอกชน ดำเนินการฟื้นฟูป่าไม้ ลำห้วยสาขา และสร้างฝายดักตะกอนชะลอความชุ่มชื้นและกักเก็บน้ำในพื้นที่บ้านดงผาปูนและบ้านนาบง ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน เพื่อพัฒนาต้นแบบการแก้ไขปัญหาพื้นที่เขาหัวโล้นอย่างยั่งยืน และสืบสานพระราชปณิธานด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมน้อมนำแนวพระราชดำริมาเป็นหลักปฏิบัติ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สามารถอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืนต่อไป"

สำหรับโครงการ "พัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน" แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ (พ.ศ. 2560-2562) ตามปัญหาการจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน 3 พื้นที่ แบ่งเป็น 1. พื้นที่ต้นน้ำที่บ้านนาบงและบ้านดงผาปูน ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน 2. พื้นที่กลางน้ำที่บ้านร้องแง ตำบลวรนคร อำเภอปัว จังหวัดน่าน และ 3. พื้นที่ปลายน้ำที่ตำบลป่าหมาก อำเภอบางกระทุ่มจังหวัดพิษณุโลก โดยกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทยให้การสนับสนุนงบประมาณรวม 13 ล้านบาท เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนด้วยการพัฒนาศักยภาพชุมชนให้สามารถพัฒนาและบริหารจัดการน้ำได้ด้วยตนเอง และพร้อมขยายผลความสำเร็จสู่พื้นที่ใกล้เคียง