นายวีระกล่าวอีกว่า หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองด้านศิลปวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เด่นชัดที่สุดคือ สถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่ วิจิตรบรรจงและมีเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งหลายแห่งได้รับการขึ้นบัญชีมรดกโลกทางวัฒนธรรมขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) อาทิ นครวัด บุโรพุทโธ พระราชวังเว้ เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร เป็นต้น ซึ่งโบราณสถานเหล่านี้นอกจากจะมีคุณค่าในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้แล้ว ยังเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมและประเพณีอันทรงคุณค่าที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ความเป็นมาของผู้คนในพื้นที่
นายวีระ กล่าวด้วยว่า การอนุรักษ์โบราณสถานที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงในท่ามกลางสภาพการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปที่มีทั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติและภัยจากการกระทำของมนุษย์ หากจะอาศัยศักยภาพของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งหรือประเทศใดประเทศหนึ่งแต่เพียงลำพังคงไม่เพียงพออีกต่อไปในการอนุรักษ์ คุ้มครองและบริหารจัดการโบราณสถานอันทรงคุณค่าเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้น เครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และความร่วมมือของประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่องานอนุรักษ์ทางสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่ในภูมิภาคนี้
อย่างไรก็ตาม การอนุรักษ์จะต้องอาศัยความร่วมมือจากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ สถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ ศิลปะ เป็นต้นรวมทั้งให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม ซึ่งนอกจากการอนุรักษ์โบราณสถานให้คงความโดดเด่นเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะแล้ว ยังช่วยสร้างรายได้จากการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอีกดัวย อาทิ เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวารที่มีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติมาเที่ยวปีละ 1.3 ล้านคน สร้างรายได้ให้ประเทศไทยปีละ 40 ล้านบาท และที่สำคัญจะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของประเทศให้แก่ประชาชนและชาวต่างชาติโดยผ่านสื่อต่างๆ อาทิ สื่อภาพยนตร์ที่ช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศ อาทิ ภาพยนตร์เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ภูเขาไฟระเบิดถล่มเมืองบอมเบย์ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นต้น