3 นวตกรรมผู้เปลี่ยนเกมในอุตสาหกรรมการผลิตปี 2561

10 Jan 2018
โดย นาย แอนโทนี บอร์น ผู้อำนวยการอุตสาหกรรมส่วนกลาง ฝ่ายการผลิตและเทคโนโลยีระดับสูง (ไฮเทค) บริษัท ไอเอฟเอส
3 นวตกรรมผู้เปลี่ยนเกมในอุตสาหกรรมการผลิตปี 2561

ไอโอที ( IOT ) จะถูกสร้างรวมไว้ในผลิตภัณฑ์ที่เริ่มตั้งแต่การออกแบบ บรรดาผู้ผลิตจะนำโมเดลธุรกิจที่มีบริการเป็นศูนย์กลางเข้ามาปรับใช้เพิ่มมากขึ้น และการพิมพ์สามมิติ (3D) จะก้าวสู่จุดพลิกผันที่สามารถให้ผลประโยชน์ทางธุรกิจได้ในวงกว้าง ทั้งหมดนี้ เป็นการคาดการณ์ ของไอเอฟเอสที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2561

ในปลายปี 2561 ผู้ผลิตมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์จะนำเทคโนโลยี ไอโอที ไปรวมไว้ในผลิตภัณฑ์ของตนเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ

เมื่อพูดถึง "ไอโอที" สิ่งแรกที่คุณคิดถึงน่าจะเป็นเซ็นเซอร์แบบใหม่ที่สามารถหาซื้อได้ในราคาไม่แพงซึ่งกำลังถูกนำมาใส่ไว้ผลิตภัณฑ์ สำหรับผมแล้ว มุมมองดังกล่าวจะเปลี่ยนไปในปี 2561 เนื่องจาก ไอโอที กำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด หากเราคิดว่า ไอโอที เป็นเหมือนระบบประสาทของผลิตภัณฑ์ ในปี 2561 เราจะเห็นเส้นประสาท (สัญญาณ) ต่างๆ ที่โยงใยและเติบโตจนเกิดเป็นสมองของผลิตภัณฑ์ขึ้นมา สิ่งนี้ครอบคลุมถึงการรับ การส่ง การขยายตัว และการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างต่อเนื่องตลอดชั่วอายุขัยของผลิตภัณฑ์ ซึ่งส่งผลให้เกิดบริการและกระแสรายได้ใหม่ๆ โดยอุตสาหกรรมการผลิตเป็นหนึ่งในตลาดที่ได้รับผลกระทบจาก ไอโอที มากที่สุดในปัจจุบัน จากข้อมูลของโกลบอล มาร์เก็ต อินไซด์ (Global Market Insights) พบว่า ไอโอที ในตลาดการผลิต มีมูลค่ามากกว่า 20 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2559 และจะขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ (CAGR โดยประมาณ) ตั้งแต่ปี 2560 ถึง 2567 การลงทุน ไอโอที ในปัจจุบันในสภาพแวดล้อมของการผลิตจะก่อให้เกิด 3 โครงการหลักดังนี้

การผลิตอัจฉริยะเพื่อเพิ่มผลผลิต คุณภาพผลิตภัณฑ์ หรือการดำเนินงานและความปลอดภัยของพนักงาน รวมถึงการใช้ทรัพยากรที่ลดลง

ผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมต่อกันจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ รวมถึงการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในภาคสนาม การวิเคราะห์จากระยะไกล และการบำรุงรักษาจากระยะไกลซัพพลายเชนที่มีระบบเชื่อมต่อระหว่างกันจะเพิ่มความสามารถในการมองเห็นภาพรวมทั้งระบบและการทำงานร่วมกันในซัพพลายเชน การติดตามสินทรัพย์ หรือสินค้าคงคลังเพื่อส่งเสริมให้การดำเนินงานด้านซัพพลายเชนที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

เราจะเห็น ไอโอที ถูกนำมารวมไว้เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการออกแบบของโครงการด้าน ไอโอที ดังกล่าว บริษัทผู้ผลิตกำลังตระหนักว่าการสร้างเทคโนโลยี ไอโอที ใส่ไว้ในผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ในขั้นตอนของการออกแบบนั้น ไม่เพียงแต่ช่วยให้คุณสามารถตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของอุปกรณ์เพื่อคาดการณ์เวลาที่ต้องดำเนินการซ่อมแซมได้เท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างข้อได้เปรียบด้านการแข่งขันที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนเกมในตลาดด้วย!

ภายในสิ้นปี 2561 ผู้ผลิตมากกว่า 50% จะนำเทคโนโลยี ไอโอที มาใส่ไว้ในผลิตภัณฑ์ของตนตั้งแต่เริ่มกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นการคิดไว้แล้วล่วงหน้าในขั้นตอนการออกแบบ และจะเริ่มทบทวนตัวเองว่าบริการและรายได้ในลักษณะใดบ้างที่จะได้รับจากผลิตภัณฑ์นี้ตลอดอายุการใช้งาน

จริงๆ แล้ว รายได้ของเราจะมาจากที่ใดบ้างในช่วงห้าปีนับจากนี้ ถือว่าเป็นคำถามที่ดีทีเดียว เพราะสิ่งนี้จะนำเราไปสู่การคาดการณ์ที่สำคัญของผมในลำดับต่อไป...

ความก้าวหน้าของบริการภิวัฒน์จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว: ในปี 2563 รายได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของบรรดาผู้ผลิตส่วนใหญ่จะมาจากบริการ

เมื่ออุตสาหกรรมการผลิตเริ่มกลายเป็นตลาดเปิดเสรีที่ตัวสินค้าเริ่มไม่มีความแตกต่างกันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความแตกต่างให้กับตัวเอง ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการอยู่รอดและการสร้างผลกำไรให้กับบริษัท ในตอนนี้เราเริ่มเห็นแล้วว่าบรรดาผู้ผลิตจำนวนมากกำลังเปลี่ยนไปใช้โมเดลธุรกิจที่เน้นการให้บริการเป็นหลัก หรือที่เรียกว่า "บริการภิวัฒน์" (servitization)

บริการภิวัฒน์เป็นแนวทางเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ผลิตเพื่อยกระดับข้อเสนอโดยรวมนอกเหนือจากตัวผลิตภัณฑ์แต่เพียงอย่างเดียว ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ แอปเปิ้ล ที่ได้นำแนวทางนี้มาใช้เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาหลังจากที่ ไอพอดสามารถชิงส่วนแบ่งตลาดสูงสุดมาได้ จากนั้น แอปเปิ้ล จึงได้เปิดตัวบริการ ไอทูนส์ เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิม และสร้างความแตกต่างให้กับตัวเองในตลาด รวมถึงสร้างรายได้ให้เพิ่มมากขึ้นด้วย คุณอาจคิดว่าสิ่งนี้ใช้ไม่ได้กับธุรกิจของคุณ แต่โปรดทราบว่าบริษัทต่างๆ กำลังเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากบริการภิวัฒน์ในภาคส่วนต่างๆ เป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น ฟิลิปส์ ซึ่งให้บริการ"แสงสว่างในรูปของบริการ", สำหรับสนามบิน สคิปโฮล (Schiphol) ที่อยู่นอกกรุงอัมสเตอร์ดัม กล่าวคือสนามบิน สคิปโฮล จะต้องจ่ายเงินค่าแสงสว่างที่ใช้ไป ขณะที่ ฟิลิปส์ ยังคงเป็นมีกรรมสิทธิ์ในระบบและอุปกรณ์ติดตั้งทั้งหมด ทั้งนี้ ฟิลิปส์ และ คอฟลี่ (Cofely) ซึ่งเป็นบริษัทคู่ค้าจะร่วมกันดูแลด้านประสิทธิภาพการทำงานและความมีเสถียรภาพของระบบ ครอบคลุมถึงการนำอุปกรณ์กลับมาใช้ใหม่และการรีไซเคิลเมื่อสิ้นสุดอายุการใช้งาน การดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้บริษัทลดค่าไฟลงได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์โดยไม่ต้องซื้อโคมไฟส่องสว่างเพิ่ม!

ผมมองเห็นการพัฒนาในรูปแบบนี้ในกลุ่มลูกค้าของไอเอฟเอสด้วยเช่นกัน อย่างเช่น ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ระดับโลกที่ชื่อว่า โนวี่ สไตล์ กรุ๊ป (Nowy Styl Group) ที่มองว่าบริการภิวัฒน์เป็นส่วนสำคัญต่อการเติบโตของบริษัท ในปี 2560 บริษัทได้ประกาศว่า "การผลิตเก้าอี้คงไม่เพียงพออีกต่อไปแล้วสำหรับเรา" และได้เริ่มดำเนินการเปลี่ยนแปลงบริษัทจากผู้ผลิตเฉพาะอย่างก้าวสู่การเป็นบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกด้านการตกแต่งภายในสำหรับสำนักงานต่างๆ อีกตัวอย่างหนึ่งคือบริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดซึ่งได้เริ่มนำเสนอระบบการจัดส่งและการให้บริการเพิ่มเติม บริษัทเข้าใจดีว่าการเลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่เหมาะสมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของวัตถุประสงค์หลักของลูกค้าเท่านั้น นั่นคือการรักษาสถานที่ทำงานให้ถูกสุขลักษณะ การใช้ผลิตภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด การเลือกอุปกรณ์เสริมที่เหมาะสม การสร้างขั้นตอนที่ถูกต้อง ทั้งหมดนี้ล้วนมีความสำคัญต่อการรักษาสถานที่ทำงานให้มีความสะอาดอย่างต่อเนื่อง

ทั้งสองบริษัทตระหนักดีว่าเทคโนโลยีจะช่วยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบเก้าอี้ที่สวยงามหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีประสิทธิภาพ แต่อย่าลืมว่าผลิตภัณฑ์หรูหราในปัจจุบันกำลังจะกลายเป็นสิ่งของที่หาซื้อได้ทั่วไปในเวลาอันสั้น ซึ่งนั่นย่อมส่งผลให้ราคาผลิตภัณฑ์ลดลงอย่างมาก แต่ด้วยบริการภิวัฒน์ บรรดาผู้ผลิตจะสามารถรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างดีเยี่ยม เพราะบริการจาก

ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์สั่งสมมาเป็นเวลาหลายปี จะทำให้ลูกค้ายังคงต้องจ่ายเงินให้กับบริษัทตลอดไป ไม่ว่าแนวโน้มเทคโนโลยีจะเป็นเช่นไรก็ตาม

จากการสำรวจการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของไอเอฟเอส ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทวิจัยที่ชื่อว่า ราคอนเตอร์ (Raconteur) พบว่า 68 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทผู้ผลิตอ้างว่าบริการภิวัฒน์ "ได้รับการจัดตั้งมาเป็นอย่างดีและให้ผลตอบแทนที่ดี" และ "อยู่ระหว่างการดำเนินการและกำลังได้รับความสนใจและการสนับสนุนอย่างเหมาะสมจากผู้บริหาร" แต่ก็มีเพียงสัดส่วนเกือบ 1 ใน 3 ของบริษัทผู้ผลิตเท่านั้นที่ได้รับผลตอบแทนจากบริการภิวัฒน์ "ผู้ผลิตที่ยังไม่ได้ใช้โมเดลที่มีบริการเป็นศูนย์กลางกำลังสูญเสียรายได้และแนวทางใหม่ๆ ในการพัฒนาข้อเสนอสำหรับผลิตภัณฑ์ของตน ดังนั้นเพื่อก้าวสู่ความสำเร็จในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าและความต้องการที่กำลังเพิ่มมากขึ้น บรรดาผู้ผลิตจะต้องมองหาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เพื่อร่นระยะเวลาในการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด ครอบคลุมตั้งแต่การนำความคิดจากการออกแบบไปผลิตเป็นสินค้าและนำออกขายในตลาดให้ได้โดยเร็วที่สุด

เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ไอโอที จะเข้ามาเติมเต็มความสมบูรณ์ให้กับบริการภิวัฒน์ โดยเซ็นเซอร์ที่สามารถตรวจจับได้ว่าผลิตภัณฑ์หรืออุปกรณ์ต้องเข้ารับบริการซ่อมบำรุงเมื่อใด จะช่วยให้ระบบสามารถเรียกใช้บริการซ่อมบำรุงโดยอัตโนมัติ ซึ่งสร้างประโยชน์และทำให้องค์กรบริการของคุณมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น การบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์แบบอัตโนมัติในลักษณะนี้จะกลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสิ่งนี้เป็นก้าวต่อไปหลังจากมีการนำ ไอโอที มาปรับประสิทธิภาพในการให้บริการ

3) ในปี 2562 ความตื่นเต้นเกี่ยวกับการพิมพ์สามมิติ (3D) จะหมดไป แต่ผลประโยชน์ที่แท้จริงจะเห็นอย่างเด่นชัด

คำพยากรณ์ลำดับที่สามของผมก็คือ การพิมพ์ 3D เช่นเดียวกับ ไอโอที กำลังจะก้าวสู่ระดับใหม่ที่มีอัตราการเติบโตเพิ่มมากขึ้น นอกเหนือจากเรื่องของขนาดการพิมพ์ที่ต้องร้อง "ว้าว" เมื่อได้เห็นในครั้งแรก ซึ่งครอบคลุมถึงการผลิตในระดับที่เล็กลง เช่น เครื่องช่วยฟังและเครื่องประดับแล้ว การพิมพ์ 3D ยังสามารถก้าวไปได้อีกไกลมาก และเราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงนี้ในปี 2561

เรากำลังเห็นพัฒนาการสองอย่างที่กำลังก้าวไปในทิศทางนั้น ประการแรกคือความสามารถในการปรับขยายของโซลูชั่นการพิมพ์ 3D ที่ดียิ่งขึ้น ยุคใหม่ของบริษัทด้านการพิมพ์สามมิติกำลังก้าวเข้าสู่การผลิตที่แต่เดิมมีผู้ผลิตแม่พิมพ์ฉีดขึ้นรูปครองตลาดอยู่ มาเป็นระบบอัตโนมัติที่เชื่อมโยงระหว่างกันได้ดีขึ้นและเร็วขึ้น ส่งผลให้ลดขั้นตอนการทำงานทั้งก่อนและหลังที่ต้องใช้เวลามาก อันเป็นอุปสรรคสำคัญในการผลิต ทั้งนี้มีบริษัทแห่งหนึ่ง นั่นคือ สตราตาซิส (Stratasys) ได้สร้างเครื่องพิมพ์ใหม่ภายใต้ชื่อ ดีมอนสเตรเตอร์ (Demonstrator) ซึ่งเป็นการรวมเครื่องพิมพ์สามเครื่องไว้ในระบบสแตก (Stack) โดยที่เครื่องพิมพ์แต่ละเครื่องสามารถสื่อสารระหว่างกันได้ในแบบเรียลไทม์ เครื่องพิมพ์ใหม่นี้มีความสามารถในการปรับขยายได้สูง ซึ่งหมายความว่าผู้ผลิตสามารถเพิ่มกำลังการผลิตของการพิมพ์ได้มากขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่ 1,500-2,000 ชิ้นต่อวัน ส่งผลให้คุณสามารถประหยัดต้นทุนได้อย่างมาก ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จของเทคโนโลยีการพิมพ์ 3D

จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมการบินได้เริ่มนำเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติเข้ามาใช้งานแล้วในปัจจุบัน ซึ่งอุตสาหกรรมการผลิตสามารถเรียนรู้จากอุตสาหกรรมดังกล่าวได้ ตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จคือเครื่องยนต์ GE turboprop ATP Engine ซึ่งใช้การพิมพ์สามมิติ 35 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ลดจำนวนชิ้นส่วนจากจำนวน 855 ชิ้นเหนือเพียง 12 ชิ้น และยังมีส่วนช่วยให้เครื่องยนต์มีน้ำหนักเบา มีขนาดกะทัดรัด ลดการเผาผลาญเชื้อเพลิงลงได้ถึง 15% เมื่อเทียบกับข้อเสนอของคู่แข่ง

ความสามารถในการปรับขยายและการลดขั้นตอนการดำเนินงานทั้งก่อนและหลังที่บริษัทด้านงานพิมพ์ 3D ขนาดกลางที่มีนวัตกรรมขั้นสูงกำลังนำออกสู่ตลาดนั้น หมายความว่าในปี 2561 เราจะได้เห็นบริษัทผู้ผลิตเข้าร่วมกับภาคอุตสาหกรรมอากาศยานและยุทโธปกรณ์การรบ (Aerospace and Defense :A&D) เพิ่มมากขึ้นและก้าวสู่ระดับที่สูงกว่าที่เคยเป็นมาด้วยขีดความสามารถด้านการพิมพ์ 3D แบบใหม่

3 นวตกรรมผู้เปลี่ยนเกมในอุตสาหกรรมการผลิตปี 2561