วันที่ 3 กรกฎาคม 2560 เวลา 12.00 น. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและ การบินเกษตรเปิดเผยว่า พื้นที่การเกษตรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังมีปริมาณน้ำการเกษตรอยู่ในเกณฑ์เพียงพอต่อการเพาะปลูกและปริมาณน้ำเก็บกักของอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาว และเขื่อนห้วยหลวง มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนสถานการณ์น้ำใช้การได้ของเขื่อนลำตะคอง ยังมีปริมาณน้อยอยู่ ตลอดจนสถาการณ์น้ำในพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง ยังมีปริมาณเพียงพอสามารถเลี้ยงตัวเองได้ในระดับหนึ่ง ส่วนสถานการณ์น้ำของเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแม่กวง เขื่อนวชิราลงกรณ์ ยังมีปริมาณน้อยอยู่ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจึงปรับแผน การปฏิบัติการฝนหลวงให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน โดย
- ภาคเหนือ ยังคงหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ ที่กองบิน 41เพื่อปฏิบัติการ ฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับเขื่อนที่รับผิดชอบ โดยเน้นที่เขื่อนแม่งัด แม่กวง ส่วนหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดตาก ที่ท่าอากาศยานตาก ยังคงให้อยู่ปฏิบัติการฝนหลวงช่วยพื้นที่การเกษตรและลุ่มรับน้ำเขื่อนภูมิพล และให้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนกลวงจังหวัดพิษณุโลก ที่กองบิน 46 เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับเขื่อนสิริกิติ์
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังคงหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครราชสีมา ที่กองบิน 1 เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและเพิ่มปริมาณน้ำให้กับเขื่อนลำตะคอง
- ภาคกลาง ปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดลพบุรี ที่กองบิน 2 เนื่องจากสถานการณ์น้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง มีปริมาณเพียงพอสามารถเลี้ยงตัวเองได้ในระดับหนึ่งและบางพื้นที่ มีน้ำท่วมขัง ส่วนหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดกาญจนบุรี ที่สนามบินกองพล 9 เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและลุ่มรับน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ์ และตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครสวรรค์ ที่อำเภอตาคลี กองบิน 4 เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรภาคกลางตอนบน โดยมีเครื่องบินกองทัพอากาศ ชนิดเอยู-23 จำนวน 2 เครื่อง ที่ติดตั้งอุปกรณ์พลุสารดูดความชื้นเพื่อเสริมการปฏิบัติการฝนหลวงเมฆอุ่น
ส่วนภาคใต้และภาคตะวันออกยังคงหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ เพื่อปฏิบัติการฝนหลวง ช่วยเหลือด้านการเกษตร และการเติมน้ำเขื่อนในพื้นที่ที่รับผิดชอบ
นายสุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการปรับแผนปฏิบัติการฝนหลวงในครั้งนี้ ได้ปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ ยังให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นการร่วมมืออย่างบูรณาการ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร การจัดการน้ำ และพื้นที่ได้รับผลกระทบต่อประชาชน