นางจันทร์ธิดา มีเดช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการติดตามสถานการณ์การส่งออกสินค้าปศุสัตว์ในพื้นที่จังหวัดมุกดาหารและนครพนม ช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบว่า ภาพรวมการส่งออกในปี 2560 ที่ผ่านด่านกักสัตว์มุกดาหาร มีการส่งออกโคเนื้อเพิ่มขึ้น ในขณะที่การส่งออก สุกรขุน ลูกสุกร และแพะเนื้อลดลง โดยในช่วงมกราคม – มิถุนายน มีการส่งออกโคเนื้อ จำนวน 11,694 ตัว เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 50 ของปริมาณการส่งออกโคเนื้อทั้งหมด และมีการส่งออกสุกรขุน 650 ตัว ลดลงร้อยละ 86 และส่งออกลูกสุกร4,770 ตัว ลดลงร้อยละ 61
สำหรับการส่งออกสุกร เป็นการส่งออกเพื่อนำไปบริโภคใน สปป.ลาว ซึ่งมีแนวโน้มการส่งออกลดลง เนื่องจากราคาสุกรในเวียดนามมีราคาตกต่ำเป็นอย่างมาก อยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 30-40 บาท ในขณะที่ราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ของไทยในเดือนมิถุนายน อยู่ที่กิโลกรัมละ 63.04 บาท ส่งผลให้ผู้ประกอบการใน สปป.ลาว หันไปนำเข้าสุกรมาเพื่อบริโภคจากเวียดนามแทน
ด้านการส่งออกแพะเนื้อ มีจำนวน 250 ตัว ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 97 ของปริมาณการส่งออกแพะเนื้อทั้งหมด เนื่องจากมีการปรับค่าธรรมเนียมการส่งออก ตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2559 ที่เริ่มใช้ตั้งแต่ 17 ตุลาคม 2559 ส่งผลให้ค่าธรรมเนียมในการส่งออกแพะเนื้อ ปรับจากตัวละ 45 บาท ขึ้นเป็นตัวละ 250 บาท โดยแพะเนื้อที่ส่งออกไปจะส่งต่อจาก สปป.ลาว ไปบริโภคที่เวียดนามเป็นประเทศปลายทาง ดังนั้น ราคาแพะเนื้อปลายทางจึงปรับตัวสูงขึ้น และส่งผลกระทบให้เวียดนามมีการนำเข้าแพะเนื้อจากไทยลดลง และหันไปนำเข้าแพะเนื้อจาก สปป.ลาวแทน
สำหรับสถิติการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ผ่านด่านกักสัตว์นครพนม พบว่า ปัจจุบันมีการส่งออกโคเนื้อ กระบือ ชิ้นส่วนไก่ สุกรขุน และ ลูกสุกร โดยส่วนใหญ่จะเป็นการส่งออกโคเนื้อและกระบือไปเวียดนามกว่าร้อยละ 80 เนื่องจาก รถบรรทุกของเวียดนามสามารถมารอรับโคกระบือที่ชายแดนเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สปป.ลาว และสามารถวิ่งตรงไปเวียดนามได้โดยสะดวก โดยในเดือนมกราคม – มิถุนายน มีการส่งออกโคเนื้อ จำนวน 33,252 ตัว เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 3 ของปริมาณการส่งออกโคเนื้อทั้งหมด เช่นเดียวกับกระบือ มีการส่งออก จำนวน 8,612 ตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ของปริมาณการส่งออกกระบือทั้งหมด
ทั้งนี้ การดำเนินการของด่าน พบว่า นอกจากการเข้มงวดไม่ให้มีการส่งออกโคกระบือเพศเมียแล้ว ยังได้มีการเข้มงวดในการห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในโคเนื้อด้วย โดยให้ด่านกักกันสัตว์สุ่มตรวจปัสสาวะโคขุนบนยานพาหนะที่เคลื่อนย้ายด้วยชุดทดสอบภาคสนาม (Strip test) ซึ่งหากพบผลบวก (สงสัยว่ามีสารเร่งเนื้อแดงในปัสสาวะ) จะอายัดโคขุนทั้งหมดไว้ที่ด่านกักกันสัตว์ไม่ให้เคลื่อนย้ายไปพื้นที่อื่นอย่างน้อย 21 วัน หรือจนกว่าจะตรวจไม่พบสารเร่งเนื้อแดง เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ให้ความสำคัญในด้านความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยจะต้องดำเนินการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย เพื่อเป็นการปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคและเป็นการสนับสนุนการส่งออก รองเลขาธิการ กล่าวทิ้งท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit