นางจันทร์ธิดา มีเดช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในฐานะผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึงการเข้าร่วมการประชุม High-level Political Forum on Sustainable Development (HLPF) และ Economic and Social Council (ECOSOC) เมื่อวันที่ 11-18 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ณสำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพื่อทบทวนความก้าวหน้าการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs)
สำหรับการทบทวนความก้าวหน้าการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ เป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก มีดำเนินงานตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 - 2560 กำหนดRoadmap ในเป้าหมายที่ 2 แบ่งเป็น ระยะสั้น (ปี 2560) ระยะกลาง (ปี 2561 - 2564) และระยะยาว (ปี 2565 - 2579) โดยร่วมกับหน่วยงานสนับสนุน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงพาณิชย์
สำหรับแผนงานสำคัญ คือ การลดภาวะทุพโภชนาการในทุกระดับวัย สร้างความมั่นคงด้านอาหารตามยุทธศาสตร์ความมั่นคงอาหารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพิ่มผลิตภาพทางการเกษตรและรายได้ของผู้ผลิตอาหารรายย่อยด้วยการสร้างองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรผ่านศูนย์เรียนรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตการเกษตร 882 ศูนย์ (ศพก.) ส่งเสริมการทำเกษตรแปลงใหญ่และเกษตรสมัยใหม่ประชารัฐ การทำเกษตรแบบยั่งยืนด้วยการน้อมนำศาสตร์พระราชา/ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน และเกษตรอินทรีย์
ขณะเดียวกันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังมีบทบาทสำคัญในการจัดทำร่างรายงานผลการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี 2573 ระดับประเทศโดยสมัครใจ (Voluntary National Reviews - VNR) ในเป้าหมายที่ 2 ของประเทศไทย เพื่อสนับสนุนถ้อยแถลงของกระทรวงการต่างประเทศ ในการรายงาน VNR ต่อเวที HLPF เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2560 ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในปี 2573 หรือเรียกว่า SEP for SDGs (Sustainable Economy Philosophy for Sustainable Development Goals)
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการหารือ โดยหยิบยกประเด็นความท้าทายสำคัญ ได้แก่ อุปสรรคเชิงโครงสร้างและความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนา และประเทศด้อยพัฒนา การทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยเชื่อมโยงในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ครอบคลุม 5 ด้าน หรือ 5P ได้แก่ ประชาชน (People)โลก (Planet) ความมั่งคั่ง (Prosperity) สันติภาพ (Peace) และความร่วมมือ (Partnership) เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ของประเทศสมาชิกที่จะ "ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน โดยไม่ทิ้งประเทศใดประเทศหนึ่งไว้ข้างหลัง"
ทั้งนี้ การดำเนินงานระยะต่อไป ในส่วนของเป้าหมายที่ 2 คือการเร่งดำเนินการร่วมกับหน่วยงานสนับสนุน เพื่อเชื่อมโยงแผนงาน/โครงการ และผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสถาบันการศึกษา โดยสร้างความรู้ความเข้าใจที่ตรงกันต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการดำเนินงานในระดับท้องถิ่น ชุมชน ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และสามารถวัดผลความสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit