ป.ป.ช. ส่งข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการวางมาตรการป้องกันการทุจริต ในกระบวนการอนุญาตให้ชนต่างด้าวพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราว

          นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ได้แถลงว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ศึกษาข้อมูลสถิติคนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย การขอพำนักอยู่ต่อ คนต่างด้าวทำผิดกฎหมาย และการร้องเรียนเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยหรือรับผลประโยชน์จากคนต่างด้าว 
          จากสถิติข้อมูล พบว่าคนต่างด้าวเดินทางเข้าออกประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและจำนวนคนต่างด้าวที่ขออยู่ต่อในราชอาณาจักรโดยการตรวจตราคนอยู่ชั่วคราวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
 

ปี พ.ศ.

คนต่างด้าวเดินทางเข้าออกประเทศไทย

คนต่างด้าวที่ขออยู่ต่อในราชอาณาจักรประเภทคนอยู่ชั่วคราว (คน)

เดินทางเข้า (คน)

เดินทางออก (คน)

2551

14,624,372

14,481,439

211,979

2555

24,072,940

23,343,873

345,932

2559

36,222,580

35,448,516

554,100

 
          สำหรับกรณีปัญหาคนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในประเทศ และคนต่างด้าวที่ขอพำนักอยู่ต่อนั้น จากการรวบรวมข่าวสารทางสื่อมวลชน การศึกษาวิเคราะห์และข้อมูลที่มีการกล่าวหาร้องเรียน พบพฤติการณ์กระทำผิดของคนต่างด้าวในหลายกรณี และบางกรณีมีเจ้าหน้าที่ของรัฐรู้เห็นเป็นใจด้วย ตลอดจนปัญหาช่องโหว่ให้เกิดการกระทำผิดหรือทุจริต ได้แก่
          1. คนต่างด้าวเดินทางเข้ามาโดยถือวีซ่าประเภทนักท่องเที่ยว แต่เมื่อเข้ามาแล้วมีการลักลอบประกอบอาชีพ เช่น เป็นครูอาจารย์ในสถานศึกษา โรงเรียนนานาชาติ สถาบันสอนภาษา หรือปล่อยเงินกู้ / เงินผ่อนให้คนไทย แล้วส่งเงินรายได้กลับประเทศ โดยทำเป็นขบวนการ
          2. อยู่ในประเทศไทยเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนด (Over Stay) โดยสามารถพำนักและประกอบอาชีพ ในประเทศต่อไปได้ เนื่องจากมีการจ่ายเงินหรือส่งส่วยเจ้าหน้าที่ของรัฐ
          3. คนต่างด้าวอ้างเหตุความจำเป็นกรณีต่างๆ เช่น เพื่อดูแลคู่สมรสชาวไทย โดยมีการว่าจ้างคนไทย มาจดทะเบียนสมรส / นำทะเบียนสมรสที่ได้มาโดยมิชอบไปยื่นขออนุญาตพำนักชั่วคราว , การอ้างเหตุเพื่อเข้ามาศึกษาต่อ โดยจัดทำบัตรนักศึกษาปลอม / นำบัตรนักศึกษาปลอมไปยื่นขออนุญาตพำนักชั่วคราว , การอ้างเหตุจำเป็นกรณีใช้ชีวิตปั้นปลาย โดยจัดทำเอกสารแสดงการมีรายได้และหนังสือรับรองเงินฝากธนาคารเป็นเท็จ / นำหลักฐานปลอมดังกล่าวไปยื่นขออนุญาตพำนักชั่วคราว , อาศัยสถานการณ์เป็นพระต่างด้าวเข้ามาศึกษาต่อมหาวิทยาลัยสงฆ์ / นำหนังสือรับรองสถานะการเป็นพระสงฆ์ ไปยื่นขออนุญาตพำนักชั่วคราว 
          4. บทลงโทษกรณีคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือการอนุญาตสิ้นสุดหรือถูก เพิกถอนไม่รุนแรงและเด็ดขาด ทำให้คนต่างด้าวกล้าเสี่ยงทำผิดกฎหมาย
          5. คนต่างด้าวที่มีพฤติการณ์อยู่เกินกำหนด เมื่อถูกเจ้าหน้าที่จับกุม จะใช้วิธีทิ้งหนังสือเดินทาง (Passport) เพื่อเลี่ยงมิให้ถูกดำเนินคดีข้อหาอยู่เกินกำหนด ยินยอมให้ถูกจับกุมข้อหาลักลอบหนีเข้าเมืองแทน เพื่อป้องกันมิให้ ถูกขึ้นบัญชีเป็นบุคคลต้องห้ามเดินทางเข้ามายังราชอาณาจักรไทย
          6. มีการโฆษณาชวนเชื่อในรูปของธุรกิจดำเนินการจัดทำวีซ่า โดยผู้ประกอบการและนายหน้าโฆษณาชวนเชื่อว่าสามารถดำเนินการขอวีซ่าได้ แม้คนต่างด้าวจะไม่มีคุณสมบัติหรือไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมาย
          7. ความล่าช้าในขั้นตอนประสานข้อมูลเพื่อการตรวจสอบรายชื่อบุคคลต้องห้ามเข้าราชอาณาจักร (Black List) ระหว่างสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและกระทรวงการต่างประเทศยังไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูลออนไลน์
          8. กระบวนการขั้นตอนตรวจสอบข้อมูลของพนักงานเจ้าหน้าที่ ยังไม่มีการตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับว่าเอกสารที่ใช้ยื่นคำร้องเป็นเอกสารจริงหรือเท็จ
          9. จากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยการให้สิทธิคนต่างด้าวในกลุ่มที่ได้รับการยกเว้น การตรวจลงตรา จำนวน 59 ชาติ และกลุ่มที่สามารถขอรับการตรวจลงตรา เพื่อการท่องเที่ยวได้ ณ ช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมือง จำนวน 21 ชาติ แม้จะเป็นผลดีด้านการท่องเที่ยว แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นช่องให้มีการกระทำผิดกฎหมายด้วย
          10. จากนโยบายภายใต้ยุทธศาสตร์ การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ส่งผลให้สามารถขยายเวลาพำนักในราชอาณาจักรสำหรับกลุ่มพำนักระยะยาว จากเดิม 1 ปี เป็น 10 ปี มีผลกระทบ ทั้งทางบวกและทางลบเช่นเดียวกัน จำเป็นต้องมีการติดตามและประเมินผล
          11. คนต่างด้าวที่ถูกบังคับให้ต้องเดินทางออกจากประเทศบ้านเกิด เนื่องจากภาวะสงคราม ความขัดแย้งและความรุนแรง ที่เข้ามาพำนักในพื้นที่พักพิงชั่วคราวฯประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประจำประเทศไทย ยังมีการจัดทำฐานข้อมูลที่ไม่เป็นปัจจุบัน เกี่ยวกับทะเบียนประวัติและกำหนดเลขประจำตัวพร้อมบัตรประจำตัวคนต่างด้าวประเภทนี้
          ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 19 (11) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เห็นชอบให้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในกระบวนการอนุญาตให้คนต่างด้าวพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราว ดังนี้
          1. ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล
          1.1 กำหนดนโยบายเพื่อให้มีการดำเนินการบูรณาการจัดทำฐานข้อมูลคนต่างด้าวที่พำนัก อยู่ในราชอาณาจักรไทยทั้งระบบ โดยมอบหมายให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง จัดทำระบบฐานข้อมูลคนต่างด้าวในเชิงการบูรณาการร่วมกัน เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการ การควบคุม ตรวจสอบ คนต่างด้าวที่จะเดินทางเข้ามาและพำนัก เพื่อการใด ๆ ในประเทศไทย รวมทั้งให้มีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อการดำเนินการจัดทำระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูล
          1.2 สั่งการให้มีการปรับปรุงการเชื่อมโยงฐานข้อมูลบุคคลต้องห้ามเดินทางเข้าราชอาณาจักร (Blacklist) ระหว่างกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ กับ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้การตรวจสอบข้อมูลคนต่างด้าวที่ขอรับการพิจารณาอนุญาตเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย เป็นไปด้วยความรวดเร็วและสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ทันที พร้อมทั้งให้มีการจัดตั้ง
ศูนย์ตรวจสอบและติดตามคนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาพำนักในราชอาณาจักรไทย โดยมอบหมายให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ดำเนินการจัดทำระบบฐานข้อมูลเพื่อการตรวจสอบและติดตามคนต่างด้าวที่พำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราว และฐานข้อมูลคนต่างด้าวที่พำนักอยู่เกินกำหนดในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมตรวจสอบคนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาพำนักในราชอาณาจักรไทย
          1.3 ทบทวนนโยบายการพิจารณาให้สิทธิแก่คนต่างด้าวในกลุ่มประเทศซึ่งได้รับสิทธิในการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยว ณ ช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival) และการให้สิทธิแก่คนต่างด้าว ในกลุ่มประเทศที่ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา โดยกำหนดเป็นหลักการให้มีการจัดประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาทบทวนนโยบายดังกล่าว อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ อาจกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาโดยนำสถิติข้อมูลคนต่างด้าว เช่น สถิติคนต่างด้าวแต่ละสัญชาติที่มีพฤติการณ์อยู่เกินกำหนดในราชอาณาจักรไทย สถิติการกระทำความผิดของคนต่างด้าวในราชอาณาจักรไทย รวมทั้งการพิจารณาให้ความสำคัญระหว่างผลประโยชน์ต่างตอบแทนระหว่างรัฐและความมั่นคงภายในของประเทศ มาใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาทบทวนการให้สิทธิแต่ละประเทศ โดยมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง รับไปดำเนินการร่วมกัน เพื่อเป็นการป้องกันแก้ไขปัญหามิให้คนต่างด้าวในกลุ่มประเทศที่ได้รับสิทธิ เดินทางเข้ามาและอาจกระทำพฤติการณ์อันมิชอบด้วยกฎหมายภายในราชอาณาจักรไทย
          1.4 สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดทำบัตรประจำตัวคนต่างด้าวในกลุ่มคนต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวอย่างต่อเนื่องโดยสามารถระบุประเภท การเข้ามาพำนักในราชอาณาจักรได้ เช่น กลุ่มคนต่างชาติที่เข้ามาพำนักเพื่อการศึกษาในประเทศไทย กลุ่มคนต่างชาติที่เข้ามาพำนักเพื่อการศึกษาต่อพระพุทธศาสนาในประเทศไทย กลุ่มคนต่างชาติที่แต่งงานกับคนสัญชาติไทย กลุ่มคนต่างชาติที่เข้ามาเพื่อการใช้ชีวิตในบั้นปลาย กลุ่มคนต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย เป็นต้น โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาและวางแผนแนวทางในการดำเนินการเกี่ยวกับการออกบัตรประจำตัวคนต่างด้าว
          1.5 ให้มีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2559 เรื่อง การขยายระยะเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทยสำหรับกลุ่มพำนักระยะยาว (Long Stay Visa) โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้มีผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ร่วมเป็นคณะกรรมการติดตามและประเมินผล โดยกำหนดให้มีการรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบอย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง
          1.6 กำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันจัดทำแผนแม่บทและแผนการประเมินผลร่วมกัน ทั้งนี้ ในการเขียนแผนแม่บท เห็นควรให้นำข้อเสนอแนะมาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการอนุญาต ให้คนต่างด้าวพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราว ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ไปกำหนดไว้ในแผนแม่บทดังกล่าวด้วย โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดทำแผนแม่บทดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอแนะ ทั้งนี้ ภายหลังจากได้มีการบังคับใช้ แผนแม่บทดังกล่าวแล้วนั้น ให้มีการรายงานผลการดำเนินงานและการติดตามประเมินผลต่อรัฐบาลเพื่อทราบ เป็นระยะเวลาทุก 6 เดือน
          2. ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
          2.1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง)
          2.1.1 กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมในกรณีการพิจารณาอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ต่อ ในราชอาณาจักร กรณีมีเหตุจำเป็นครั้งละไม่เกิน 1 ปี ตามนัยมาตรา 35 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 327/2557 เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณากรณีคนต่างด้าวขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2557 โดยกรณีที่เป็นการพิจารณาอนุญาตให้คนต่างด้าวสามารถพำนักอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลาครั้งละ 1 ปี ให้มีเอกสารรับรองจากบุคคลสัญชาติไทยที่เชื่อถือได้ เป็นบุคคลอ้างอิงหรือเป็นผู้ให้การรับรองวัตถุประสงค์ ในการพำนักอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวในแต่ละครั้ง เพื่อให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสอบทานข้อมูลไปยังผู้ให้การรับรอง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างกระบวนการตรวจสอบติดตามคนต่างด้าวภายหลังจากได้รับการพิจารณาอนุญาตให้พำนักอยู่ในราชอาณาจักร
          2.1.2 แก้ไขคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 327/2557 เรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณากรณีคนต่างด้าวขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2557 ประกอบคำสั่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ที่ 138/2557 เรื่อง รายการเอกสารประกอบการพิจารณากรณีคนต่างด้าวขออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2557 โดยให้มีการทบทวนการกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาและระยะเวลาการขออนุญาตพำนักอยู่ต่อไปในราชอาณาจักรไทยของคนต่างด้าว ตามเหตุแห่งความจำเป็นในแต่ละกรณี เพื่อให้มีความรัดกุมและป้องกันมิให้เกิดช่องว่างให้คนต่างด้าวกระทำการใด ๆ โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เช่น
          (1) กรณีการอ้างเหตุแห่งความจำเป็นเพื่อเข้ามาศึกษาต่อในประเทศไทยให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาเพิ่มเติมโดยกำหนดระยะเวลาสูงสุดที่คนต่างด้าวสามารถพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยสำหรับกรณีการเข้ามาศึกษาต่อในประเทศไทย เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา มิให้คน ต่างด้าวมีการอ้างสิทธิเพื่อการเข้ามาศึกษาต่อได้เรื่อย ๆ และกำหนดให้คนต่างด้าวต้องมีเอกสารธนาคารค้ำประกัน (Bank guarantee) เพื่อวัตถุประสงค์ในการเดินทางเข้ามาศึกษาต่อในประเทศไทย
          (2) กรณีการอ้างเหตุแห่งความจำเป็นเพื่อเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาหรือปฏิบัติศาสนกิจให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาเพิ่มเติมโดยให้กำหนดระยะเวลาสูงสุดที่คนต่างด้าวสามารถพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยสำหรับกรณีการเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาหรือปฏิบัติศาสนกิจ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหามิให้คนต่างด้าวอ้างสิทธิเพื่อการเข้ามาศึกษาต่อได้เรื่อย ๆ 
          (3) กรณีการอ้างเหตุแห่งความจำเป็นเพื่อการใช้ชีวิตในบั้นปลายให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาเพิ่มเติมโดยให้มีการคงบัญชีเงินฝาก จำนวน 800,000 บาท ตามที่แสดงไว้ในธนาคารตามกฎหมายของไทยเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน นับจากวันที่ได้รับการตรวจลงตรา ภายหลังจากนั้นจึงจะสามารถถอนเงินได้ไม่เกินร้อยละ 50 โดยในการยื่นขอรับการตรวจลงตราในแต่ละครั้ง ให้แสดงหลักฐานการถอนเงินเพื่อใช้จ่ายในประเทศไทยเท่านั้น ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ข้างต้น ให้มีการบังคับใช้ภายหลังจากคนต่างด้าวได้รับสิทธิในการพำนักอยู่ต่อในราชอาณาจักรไทยเป็นระยะเวลาครั้งละ 1 ปี
          2.1.3 กรณีผู้ได้รับการพิจารณาอนุญาตตรวจลงตราให้พำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพื่อการใดๆ เช่น เข้ามาศึกษาต่อในประเทศไทย เข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาหรือปฏิบัติศาสนกิจในประเทศไทย เข้ามาทำงานในประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งปรากฏภายหลังว่าขาดคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาต เช่น ถูกตัดสิทธิการเข้าศึกษาต่อเนื่องจากผลการศึกษาไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษา และถูกตัดชื่อออกจากการเป็นนักเรียน นักศึกษา หรือถูกเพิกถอนสิทธิในการอนุญาตให้ทำงานก่อนครบกำหนดระยะเวลาอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราว เป็นต้น เห็นควรให้มีการกำหนดระเบียบ หลักเกณฑ์ รวมทั้งช่องทางในการดำเนินการพิจารณาเพื่อยกเลิกสิทธิในกลุ่มคนต่างด้าวข้างต้นต่อไป
          2.1.4 กรณีการพิจารณาอนุญาตตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว กรณีการเปลี่ยนประเภทการตรวจลงตรา และกรณีการพิจารณาอนุญาตให้คนต่างด้าวพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราวต่อไปภายหลังครบกำหนดระยะเวลาอนุญาต โดยอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เห็นควรให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการในรูปแบบของคณะกรรมการเพื่อพิจารณาอนุญาต โดยคณะกรรมการดังกล่าว ให้มีองค์ประกอบของผู้แทนซึ่งต้องมีความหลากหลายและมาจากหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อให้กระบวนการพิจารณาอนุญาตและการให้สิทธิแก่คนต่างด้าวในการพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยมีความโปร่งใสและป้องกันปัญหาการกระทำทุจริต
          2.1.5 ให้มีการบังคับใช้บทลงโทษตามมาตรา 81 กรณีคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือการอนุญาตสิ้นสุดหรือถูกเพิกถอนอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการกำหนดบทลงโทษให้มีการจำคุก รวมทั้งให้มีการดำเนินการอย่างเข้มงวดต่อคนต่างด้าวที่มีพฤติการณ์พำนักอยู่เกินกำหนด ตามคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ 1/2558 เรื่อง การไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาในราชอาณาจักร ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2558 พร้อมทั้งจัดทำฐานข้อมูลรายชื่อบุคคลต้องห้ามเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรตามคำสั่งดังกล่าวให้เป็นปัจจุบัน พร้อมให้หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ หน่วยงานทางด้านความมั่นคง เป็นต้น สามารถเชื่อมโยงฐานข้อมูลเพื่อการตรวจสอบได้
          2.1.6 ให้มีการกำหนดบทลงโทษสำหรับคนต่างด้าวที่กระทำความผิดในฐานความผิดลักลอบหลบหนีเข้าเมือง โดยคนต่างด้าวที่มีพฤติการณ์ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองนอกจากต้องได้รับโทษตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ต้องถูกขึ้นบัญชีเป็นบุคคลต้องห้ามเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร (Blacklist) เพื่อให้เป็นไปในลักษณะเดียวกับกลุ่มคนต่างด้าวที่มีพฤติการณ์อยู่เกินกำหนด (Over Stay)
ในราชอาณาจักร
          2.1.7 จัดให้มีการอบรมส่งเสริมด้านคุณธรรมจริยธรรม การป้องกันแก้ไขปัญหาการกระทำทุจริต แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดยให้มีการเน้นย้ำถึงระเบียบและบทลงโทษของผู้กระทำความผิด และดำเนินการลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง รวมทั้งให้มีการเผยแพร่พฤติการณ์และบทลงโทษต่อผู้กระทำความผิดในฐานกระทำการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่ ให้เป็นที่รับทราบต่อบุคลากรภายในหน่วยงานและบุคคลภายนอก
          2.2 กระทรวงมหาดไทย
          2.2.1 ในขั้นตอนกระบวนการเพื่อการพิสูจน์สถานะความเป็นคู่สมรสระหว่างคนต่างด้าวกับคนสัญชาติไทย ควรต้องพิจารณาและให้ความสำคัญในเรื่องการกำหนดระยะเวลาที่คนต่างด้าวเดินทางเข้ามาพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทย ก่อนที่จะยื่นจดทะเบียนสมรสกับคนสัญชาติไทย
          2.2.2 ให้มีการตรวจสอบกรณีเอกสารใบรับรองความโสด ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญในการใช้ยื่นประกอบการจดทะเบียนสมรสระหว่างคนต่างด้าวและคนสัญชาติไทย โดยให้มีการประสานงานร่วมกับ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ในการดำเนินการเพื่อให้มีช่องทางการตรวจสอบข้อมูลของคนต่างด้าวก่อนการดำเนินการพิจารณาอนุญาตจดทะเบียนสมรส
          2.2.3 ให้มีการตรวจสอบย้อนหลังกรณีการดำเนินการจดทะเบียนสมรสระหว่างคนต่างด้าวและคนสัญชาติไทยทุกกรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบเชิงพื้นที่ในจังหวัด เขต หรืออำเภอ ที่ปรากฏเป็นข่าวว่ามีการกระทำทุจริตและการตรวจสอบเชิงพื้นที่ ซึ่งมีสถิติการดำเนินการจดทะเบียนสมรสของคนต่างด้าวที่มีแนวโน้มสูง โดยหากพบเป็นกรณีที่มีความผิดปกติหรือเป็นการจดทะเบียนสมรสโดยมิชอบ
ด้วยกฎหมาย ให้มีการดำเนินการเพิกถอนทันที และให้มีการดำเนินการลงโทษผู้กระทำความผิดทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง คนสัญชาติไทย และคนต่างด้าวที่ร่วมกระทำความผิดด้วย
          2.2.4 ให้มีการสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลคนต่างด้าวโดยดำเนินการขึ้นทะเบียนประวัติ พร้อมทั้งจัดทำบัตรประจำตัวให้แก่คนต่างด้าวในกลุ่มที่พำนักอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราวฯ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees : UNHCR) ประจำประเทศไทย เพื่อจัดทำฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบันสำหรับเป็นข้อมูลในการควบคุมตรวจสอบโดยหน่วยงานทางด้านความมั่นคงของประเทศไทย
          2.3 กระทรวงศึกษาธิการ
          2.3.1 ควบคุมและตรวจสอบสถานศึกษาหรือสถาบัน การศึกษาที่มีลักษณะเข้าข่ายเป็นการเปิดขึ้นมาเพื่อดำเนินการรองรับนักศึกษาต่างชาติโดยที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาอย่างแท้จริง โดยหากพบว่าเป็นกรณีที่มีความผิดปกติหรือเป็นสถาบันการศึกษาที่มิได้จัดตั้งขึ้นเพื่อการศึกษาอย่างแท้จริง ให้มีการดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตของสถานศึกษาทันที 
          2.3.2 จัดทำฐานข้อมูลด้านการศึกษาของนักศึกษาต่างชาติที่เดินทางเข้ามาศึกษาในประเทศไทยทั้งระบบ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนนักศึกษาต่างชาติในแต่ละสถานศึกษา ระยะเวลาการเดินทางเข้ามาศึกษาต่อในประเทศไทย ระยะเวลาการสิ้นสุดการศึกษา สถิติหรือจำนวนครั้งในการขอเดินทางเข้ามาเพื่อการศึกษาในประเทศไทยของนักศึกษาต่างชาติ การสิ้นสภาพการเป็นนักศึกษาก่อนกำหนด เป็นต้น เพื่อปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันและสามารถตรวจสอบข้อมูลได้
          2.3.3 ควบคุมตรวจสอบสถานะและข้อมูลของครู/อาจารย์ซึ่งเป็นชาวต่างชาติ ที่ทำหน้าที่เป็นครู อาจารย์ ผู้สอน ผู้เชี่ยวชาญ หรือบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษาของรัฐหรือเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานศึกษาของเอกชน โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนของเอกชน และสถาบันสอนภาษา โดยมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการในการป้องกันแก้ไขปัญหาคนต่างด้าวอาศัยช่องว่างของกฎหมาย เพื่อเป็นช่องทางในการเข้ามาพำนักในประเทศไทยโดยมิชอบ
          2.4 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 
          จัดระเบียบเพื่อควบคุมและตรวจสอบพระภิกษุสงฆ์ต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเพื่อศึกษาต่อยังมหาวิทยาลัยสงฆ์ในประเทศไทย และให้มีการจัดทำฐานข้อมูลด้านการศึกษาของพระภิกษุสงฆ์ต่างชาติ เช่น จำนวนพระภิกษุสงฆ์ต่างชาติในมหาวิทยาลัยสงฆ์แต่ละแห่ง ระยะเวลาการเดินทางเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ระยะเวลาการสิ้นสุดการศึกษา สถิติหรือจำนวนครั้งในการขอเดินทาง เข้ามาเพื่อการศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทยของพระภิกษุสงฆ์ต่างชาติ การสิ้นสภาพการเป็นนักศึกษาก่อนกำหนด เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้มีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและสามารถตรวจสอบได้
          2.5 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ กระทรวงพาณิชย์ 
          กำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบและควบคุมการดำเนินธุรกิจของบริษัทรับจัดทำวีซ่า และบริษัททัวร์/บริษัทท่องเที่ยว มิให้มีการดำเนินการใด ๆ เพื่อช่วยเหลือคนต่างด้าวให้สามารถเดินทางเข้ามายังราชอาณาจักรไทยและพำนักอยู่ในประเทศไทยโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เช่น บริษัททัวร์/บริษัทท่องเที่ยวจะต้องรับรองว่านักท่องเที่ยวที่บริษัทฯ นำเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ต้องเดินทางกลับออกไปเมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยแล้วด้วย เป็นต้น รวมทั้งให้มีการลงโทษผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้ประกอบการที่กระทำความผิดอย่างเคร่งครัด
          2.6 กระทรวงแรงงาน
          เร่งรัดการปรับปรุงการเชื่อมโยงฐานข้อมูลแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ระหว่างกระทรวงแรงงาน กับ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบความถูกต้องในการพิจารณาออกใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว

          จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
 
 
 
 

ข่าวป้องกันการทุจริต+สรรเสริญ พลเจียกวันนี้

ป.ป.ช. ส่งข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการวางมาตรการป้องกันการทุจริต ในกระบวนการอนุญาตให้ชนต่างด้าวพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราว

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ได้แถลงว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ศึกษาข้อมูลสถิติคนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย การขอพำนักอยู่ต่อ คนต่างด้าวทำผิดกฎหมาย และการร้องเรียนเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยหรือรับผลประโยชน์จากคนต่างด้าว จากสถิติข้อมูล พบว่าคนต่างด้าวเดินทางเข้าออกประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและจำนวนคนต่างด้าวที่ขออยู่ต่อในราชอาณาจักรโดยการตรวจตราคนอยู่ชั่วคราวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ปี พ.ศ. คนต่างด้าวเดินทางเข้าออกประเทศไทย

ป.ป.ช. ฉายหนังสั้นผลงานการประกวดสื่อป้องกันการทุจริต ประจำปี 2559 ตีแผ่เรื่องราวของการคอร์รัปชัน

สำนักงาน ป.ป.ช. จัดกิจกรรมเผยแพร่ผลงานการประกวดสื่อป้องกันการทุจริต ประจำปี 2559 ขึ้นในวันศุกร์ที่ 23 กันยายน 2559 เวลา 11.00 – 14.50 น. ณ โรงภาพยนตร์ที่ 5 โรงภาพยนตร์เอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์ รัชดาภิเษก กรุง...

สำนักงาน ป.ป.ช. เปิดรับสมัครเยาวชนเข้าร่วมโครงการยุวทูต ป.ป.ช. ต่อต้านการทุจริต หวังสร้างค่านิยมให้เยาวชนยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักป้องกันการทุจริตภาคประชาสังคมและการพัฒนาเครือข่าย เปิดรับสมัครเข้าร่วมโครงการยุวทูต ป...

ป.ป.ช. จัดเวทีประลองฝีมือด้านตัดต่อภาพยนตร์โฆษณา หรือภาพยนตร์สั้น เปิดโอกาสเยาวชนร่วมส่งผลงาน หวังให้เกิดสำนึกรักไทย ร่วมต้านโกงไม่เอาคอร์รัปชัน

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า สำนักงาน ป.ป.ช. จะดำเนินการจัดการประกวดสื่อป้องกันการทุจริต ในรูปแบบภาพยนตร์โฆษณา หรือภาพยนตร์สั้น...

ป.ป.ช. ร่วมมือ UNDP ส่งเสริมการป้องกันการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรม

เมื่อวันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน 2558 นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และนายมาร์ติน ฮาร์ท ฮานเซ่น (Mr. Martin Hart-Hansen) ผู้แทนสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) ประจำประเทศไทย...

ป.ป.ช. เปิดรับสมัครเยาวชนร่วมโครงการยุวทูต ป.ป.ช.ต่อต้านการทุจริต

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักป้องกันการทุจริตภาคประชาสังคมและการพัฒนาเครือข่าย เปิดรับสมัครเข้าร่วมโครงการยุวทูต ป.ป.ช. (NACC Youth Ambassadors) 2015 ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 3 ...

ป.ป.ช. จับมือกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดทำบันทึกความร่วมมือด้านวิชาการในการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตสร้างแนวร่วมในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะที่ ๒

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และพลตำรวจโท สุวิระ ทรงเมตตา ผู้บัญชาการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ร่วมกันลงนาม...