ผู้ถือหุ้น BRR เฮได้สิทธิซื้อ BRRGIF ผู้บริหารชี้ผลตอบแทนดีระยะยาว

14 Jun 2017
ผู้บริหารน้ำตาลบุรีรัมย์ ชี้ บอร์ดมีมติให้สิทธิผู้ถือหุ้น BRR ซื้อไอพีโอ BRRGIF ในอัตรา 17.8484 : 1 เหมาะสม ระบุคำนึงผลประโยชน์ผู้ถือหุ้นเป็นหลัก หลังมองกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้อนุมัติแผนการเสนอขายหน่วยลงทุนที่ออกใหม่ หรือ ไอพีโอ ของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ (BRRGIF) ซึ่งเป็นการลงทุนในสิทธิในรายได้สุทธิ จากการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทย่อย โดยจะนำหน่วยลงทุนของกองทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

ทั้งนี้คณะกรรมการได้มีมติ กำหนดให้สิทธิผู้ถือหุ้นสามัญของ น้ำตาลบุรีรัมย์ ตามสัดส่วนการถือหุ้นสามัญในบริษัท ในการจองซื้อ หน่วยลงทุนไอพีโอ BRRGIF เพื่อรักษาสิทธิ (Pre-emptive Right)จำนวนไม่เกิน 45.5 ล้านหน่วย หรือไม่เกิน 13% ของจำนวนหน่วยลงทุนของกองทุน โดยกำหนดสัดส่วน 17.8484 หุ้นสามัญของ BRR ต่อ 1 หน่วยลงทุนของ BRRGIF ส่วนราคาเสนอขายเป็นราคาเดียวกับการเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก โดยผู้ถือหุ้นของบริษัทฯมีสิทธิที่จะจองซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนฯ เกินกว่าสิทธิของตนตามอัตราส่วนที่กำหนดไว้ได้ (Oversubscription)

โดยให้วันที่ 20 มิถุนายน 2560 เป็นวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัท ที่มีสิทธิจองซื้อหน่วยลงทุนของกองทุน ในการเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (Record Date) และกำหนดให้ วันที่ 21 มิถุนายน 2560 เป็นวันปิดสมุดทะเบียนเพื่อรวบรวมรายชื่อผู้ถือหุ้น โดยบริษัทเตรียมขึ้นเครื่องหมาย XB หรือ วันที่ผู้ถือหุ้น BRR ไม่ได้รับสิทธิจองซื้อหน่วยลงทุน ไอพีโอ BRRGIF ในวันที่ 16 มิถุนายน 2560

ส่วนราคาเสนอขาย กำหนดการจองซื้อและวิธีชำระค่าหุ้น รวมไปถึงรายละเอียดอื่น ๆ อยู่ในระหว่างการดำเนินการจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

"การกำหนดสิทธิครั้งนี้ ถือว่าเหมาะสม เนื่องจากบริษัทมีนโยบายคำนึงผลประโยชน์ผู้ถือหุ้นของ BRR เป็นหลัก ต้องการให้ได้รับผลตอบแทนที่ดี และต่อเนื่องในระยะยาว จากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ ที่มีจุดเด่นในด้านการเป็นพลังงานทดแทน มีรายได้จากโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีวัตถุดิบแน่นอนเนื่องจากใช้กากอ้อยซึ้งเป็นผลพลอยได้จาการผลิตน้ำตาล และลดความเสี่ยงด้านปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ" นายอนันต์ กล่าว

สำหรับ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ เป็นการโอนสิทธิรายได้จากการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าของบริษัทในเครือ 2 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด (BEC) และ บริษัทบุรีรัมย์เพาเวอร์ จำกัด (BPC) เข้า กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ ซึ่งโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่ง มีกำลังการผลิตรวม 19.8 เมกกะวัตต์ และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ (COD) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ปริมาณรับซื้อพลังงานไฟฟ้าสูงสุดรวม 16 เมกะวัตต์ ในรูปแบบ Freed-in Tariff (FiT) ที่กำหนดราคาซื้อขายไฟฟ้าอยู่หน่วยละ 4.54 บาท