นายสุริยะ สามิบัติ กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ว่า "ก่อนอื่นต้องบอกเลยว่าเราไม่คิดว่าเราจะได้รางวัล เพราะมีทีมที่ผ่านเข้ารอบทั้งหมด 35 ทีม ซึ่งผู้เข้าแข่งขันมีทั้งประชาชนทั่วไปและนักศึกษา ที่สำคัญทีมเราไม่มีทักษะในการปั้นและการออกแบบเลย แต่เมื่อเราได้ยินเสียงประกาศ ทีมที่ชนะเลิศ ลำดับที่ 2 จากมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย รู้สึกดีใจมากครับ สำหรับแนวคิดในการออกแบบผลิตภัณฑ์ดินปั้น Thai Light (แสงแห่งความเป็นไทย) ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภูมิปัญญาไทยในเรื่องการประดิษฐ์เครื่องแขวนดอกไม้สด เพราะเป็นงานประดิษฐ์ที่บ่งบอกถึงความประณีตและความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย แต่ในปัจจุบันเครื่องแขวนดอกไม้สดไม่ได้รับความนิยมในการประดิษฐ์และใช้งาน จึงทำให้คนรุ่นใหม่หาชมได้ยาก เราจึงนำภูมิปัญญานี้กลับขึ้นมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ เริ่มต้นด้วยการออกแบบโดยถอดแบบส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการร้อยอุบะ การถักตาข่าย ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเครื่องแขวนดอกไม้สดมาประยุกต์ให้เกิดความทันสมัย โดยโครงสร้างเราใช้เหล็ก และถักตาข่ายด้านข้างเป็นลายสี่ก้านสี่ดอก ซึ่งเป็นลายตาข่ายโบราณ ส่วนด้านข้างตาข่ายทีมเราได้คิดค้นลายตาข่ายขึ้นมาเอง โดยเราให้ชื่อว่าลาย "เหลี่ยมอมรินทร์" ถักเป็นสี่เหลี่ยมมาตกแต่งด้านข้างตาข่าย และด้านบนเราตกแต่งด้วยการนำดอกพุดมารวมกันให้มีลักษณะคล้ายดอกไม้หลายลักษณะ ตกแต่งให้เกิดความสวยงาม ผลงานชิ้นนี้ต้องใช้ความอดทนในการทำมาก เพราะเราต้องปั้นดอกพุดที่ใช้ทั้งหมดประมาณ 14,000 ดอก และใช้เวลาในการสร้างสรรค์ผลงานประมาณ 1 เดือนครับ การประกวดครั้งนี้สอนให้พวกเรามีความอดทน ความพยายาม และความสามัคคี เราได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนต่างมหาวิทยาลัย ที่สำคัญเราได้ประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากในห้องเรียน"