นางวิวรรณ กรรณสูต กรรมการผู้จัดการบริษัท แม็กซ์อิมเมจ จำกัด ในฐานะหัวหน้าคณะผู้จัดงาน กล่าวว่า "ยุทธศาสตร์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของรัฐบาล เน้นการพัฒนาขีดความสามารถการผลิต ด้วยการส่งเสริมการรวมกลุ่มในลักษณะเครือข่าย การพัฒนาตลาดภาพยนตร์เชิงรุกทั้งในและต่างประเทศ และที่สำคัญ คือการส่งเสริมการจัดเทศกาลภาพยนตร์และตลาดภาพยนตร์นานาชาติ เพื่อสร้างแพลตฟอร์มทางธุรกิจสำหรับ ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย และนักลงทุนจากทั่วโลก โดยไทยเองมีการรวมตัวกันของผู้ผลิตภาพยนตร์สารคดีไทย ในชื่อ "สมาคมผู้ผลิตภาพยนตร์สารคดีไทย (Thailand Documentary Filmmakers Association) หรือTDFA" ซึ่งเป็นองค์กรที่มีเป้าหมาย เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์สารคดี ตลอดจนส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาบุคลากรในแวดวงธุรกิจให้มีศักยภาพก้าวสู่ตลาดโลก ส่งเสริมไทยสู่ศูนย์กลางของตลาดซื้อขายหนังสารคดีในเอเชียและระดับโลก เฉกเช่นการที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพการจัดงาน Asian Side of the Doc ซึ่งเป็นงานที่มีความสำคัญยิ่งสำหรับวงการหนังสารคดีของโลก"Asian Side of the Doc เป็นส่วนหนึ่งของงาน Sunny Side of the Doc ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายภาพยนตร์สารคดีแบบครบวงจรระดับโลกในรูปแบบ Market Place ใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรป ก่อตั้งโดย มร.อีฟ ชองโน (Mr.Yves Jeanneau) อดีตผู้กำกับสารคดีรางวัลออสการ์ชาวฝรั่งเศส โดยมีการจัดงานมาแล้ว 28 ปี ที่เมือง La Rochelle ประเทศฝรั่งเศส มีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 2,000 คนทุกปี ต่อมาเมื่อเห็นการเติบโตและศักยภาพของตลาดสารคดีในเอเซีย จึงเริ่มก่อตั้งตลาดซื้อขายสารคดีคู่ขนานขึ้นในทวีปเอเชีย และใช้ชื่องานว่า Asian Side of the Doc หรือ ASD ตั้งแต่ปี 2553 และจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในประเทศต่างๆทั่วภูมิภาคเอเชีย เช่น จีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และจัดเป็นครั้งที่ 7 ในปี 2559 ที่ผ่านมาในประเทศไทย โดยมีผู้เข้าร่วมงาน ในระดับ Dicision Maker, Producer, Director และ Distributor จากทั่วโลกกว่า 500 คน สร้างรายได้จากการเจรจาธุรกิจอย่างน้อย 160 ล้านบาท ซึ่งในแต่ละปีงาน ASD ก็จะมุ่งเน้นการสร้างความโดดเด่นให้กับวงการภาพยนตร์สารคดีจากภูมิภาคเอเชียให้ออกสู่ตลาดทั่วโลก"ด้วยศักยภาพความพร้อมของไทย ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ความหลากหลายของจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก และความเป็นมืออาชีพของผู้ผลิตภาพยนตร์สารคดีไทย รวมถึงผลสำเร็จการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา ทำให้คณะทำงานAsian Side of the Doc เลือกประเทศไทย เป็นเจ้าภาพการจัดงาน Asian Side of the Doc ครั้งที่ 8 เป็นปีที่ 2 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่าง วันที่ 30 มกราคม ถึง 2 กุมภาพันธ์ 2561 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯ ซึ่งนับว่าเป็นเกียรติกับประเทศไทยอย่างมาก การจัดงานครั้งนี้ มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เล็งเห็นถึงประโยชน์และความสำคัญที่จะเกิดขึ้นกับประเทศ โดยให้การสนับสนุนร่วมสร้างชื่อเสียง และช่วยผลักดันให้ไทย เป็นศูนย์กลางตลาดสารคดีระดับเอเชียอย่างเต็มตัว เชื่อมต่อความสัมพันธ์ทางธุรกิจภาพยนตร์สารคดี ระหว่างผู้ผลิตภาพยนตร์สารคดีมืออาชีพ ผู้จัดจำหน่าย ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ นักลงทุน ที่ปรึกษา ที่มารวมตัวกันไม่ต่ำกว่า 500 คน จากกว่า 40 ประเทศ ทั่วโลก ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะสร้างตลาดภาพยนตร์สารคดีให้เป็นหนึ่งเดียวในเอเชีย"
สำหรับกิจกรรมหลักในงาน Asian Side of the Doc Bangkok 2018 (ASD18) จะประกอบด้วย Pitching การนำเสนอโครงการ , การอภิปรายเชิงลึก , การพบปะเจรจาแบบตัวต่อตัว, สร้างเครือข่ายที่มีประโยชน์ จากการพบปะผู้คนจากนานาชาติ และกิจกรรมทางสังคมที่จะเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางการตลาด นอกจากนี้ในระหว่างวันที่ 19-22 กันยายน 2560 ทาง ASD ยังจัดให้มีกิจกรรม Asian Side Workshop & Master Class ASEAN เพื่อให้ผู้ผลิต ผู้กำกับหนังสารคดีทั่วโลก ได้พัฒนาโครงการสารคดี การทำการตลาด แนะนำแนวทางการทำ Teaser / Logline / Title ฝึกหัดทักษะการนำเสนอผลงาน และแนะนำแนวทางการทำการตลาดภาพยนตร์สารคดีระดับโลก โดยในกิจกรรม Workshop นั้นมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 3 คน ที่จะมาร่วมเวิร์คช็อป ได้แก่ คุณคริสติยอง ป็อปป์ ผู้ผลิต และผู้ร่วมก่อตั้ง YUZU Productions ประเทศฝรั่งเศส คุณเอสเธอร์ แวน เมสเซล ผู้ผลิตและ ซีอีโอ First Hand Films ประเทศสวิสเซอร์แลนด์และสหพันธรัฐเยอรมันนี และคุณไพลิน เวเดล ผู้สร้างภาพยนตร์อิสระ และผู้ได้รับรางวัล BEST ASEAN PRIZE จากการนำเสนอโครงการในงาน Asian Side of the Doc Work Shop เมื่อปีที่ผ่านมา
โดยในปีนี้ มีผู้ผลิตสารคดีส่งผลงานเข้าร่วมทำ Workshop Master Class จำนวน 38 ผลงาน จาก 7 ประเทศ คณะกรรมการจากฝรั่งเศส ได้คัดเลือกผลงานที่น่าสนใจเข้าร่วม Workshop เพื่อพัฒนาเรื่องต่อจำนวน 10 ผลงาน ในจำนวนนี้ เป็นผลงานของผู้ผลิตไทยถึง 7 เรื่อง และหลังจาก Workshop ผู้เข้ารอบต้องนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการตัดสินซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากประเทศฝรั่งเศสและไทย และคัดเลือกให้มีสิทธิ์เข้า Pitching ในงาน Asian Side of the Doc Bangkok 2018 จำนวน 6 ผลงาน และจะประกาศผลผู้ชนะในพิธีมอบรางวัลภาพยนตร์สารคดี สำหรับโครงการที่เหลือนั้นจะได้รับเชิญเข้าร่วมงาน Asian Side of the Doc Bangkokในฐานะผู้สังเกตการณ์
"การจัดงาน Asian Side of the Doc เป็นการสร้างมูลค่าทางด้านธุรกิจให้แก่อุตสาหกรรมภาพยนตร์สารคดีที่นอกจากเม็ดเงินที่เกิดขึ้นระหว่างการซื้อขาย ยังส่งผลประโยชน์เชิงปริมาณที่เกิดจากการสร้างเครือข่าย การสร้างตราสินค้าและการแบ่งปันทักษะระหว่างอุตสาหกรรม รวมทั้งทำให้ไทยเป็นจุดเชื่อมต่อธุรกิจด้านหนังสารคดีในภูมิภาคต่างๆ โดยงาน ASD18 คาดการณ์ว่าจะมีรายได้จากการเจรจาธุรกิจเป็นจำนวน 200 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย " นางวิวรรณ กล่าวโดยสรุป
สำหรับ Asian Side of the Doc Bangkok 2018 ในครั้งนี้ จะมีผู้เข้าร่วมงานที่เป็น ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ผู้ลงทุน สถานีโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียงจากทั่วโลกเช่น National Geographic, Discovery Asia, NHK,CCTV,KBS,ABC ออสเตรเลีย,PBS อเมริกา,สถานีโทรทัศน์ ThaiPBS และสถานีโทรทัศน์ชั้นนำของไทยอีกจำนวนมากที่เข้าร่วมการซื้อขายในตลาดสารคดีระดับโลกในคราวนี้ การจัดงาน Asian Side of the Doc Bangkok 2018 ยังได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ในฐานะหน่วยงานภาครัฐ ที่เป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการจัดงานนี้ในประเทศไทย โดยสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณ และการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ งานนี้จึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทยในฐานะเมืองไมซ์และการจัดงานระดับเมกกะอีเวนท์ของภูมิภาคอีกด้วย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit