รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการจัดเวทีเสวนาครั้งนี้ว่า คนรุ่นใหม่เป็นประชากรกลุ่มที่ละเลยไม่ได้เลย ในอนาคตคนรุ่นใหม่มีสัดส่วนที่ต้องได้รับการพึ่งพิงจากประชากรทั้งประเทศในแนวโน้มที่สูงขึ้น ความน่าสนใจจึงอยู่ที่คุณภาพของคนรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโตจำนวนมาก
"เราอยากรู้ว่าคนรุ่นใหม่มีวิถีชีวิต มีวิธีคิด ทัศนคติอย่างไร และอะไรเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่กำลังเผชิญอยู่ เราเคยเปิดใจรับฟังในสิ่งที่พวกเขาอยากบอกหรือไม่ คนเหล่านี้เป็นอนาคตของบ้านเมือง แต่เขาแตกต่างจากคนรุ่นพวกเราโดยสิ้นเชิง คนรุ่นใหม่เติบโตมาในสังคมที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง แล้วการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นจะมีผลต่อวิถีชีวิตของพวกเขาอย่างไร มุมมองเหล่านี้จึงมีความท้าทายต่อการทำงานและการทำความเข้าใจต่อคนรุ่นใหม่"
ทางด้าน ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้กล่าวในงานนี้ด้วยว่า ในปี 2560 มีการออกแผนการศึกษาแห่งชาติอีกหนึ่งฉบับเป็นแผน 20 ปี พ.ศ.2560-2579
"แผนการศึกษาแห่งชาติฉบับนี้เป็นแผนของคนรุ่นใหม่ โดยคนรุ่นใหม่ต้องการทักษะในศตวรรษที่ 21 คือทักษะที่นำไปสู่การเรียนรู้แล้วสร้างอาชีพให้ได้ แต่ไทยขอเติมทักษะที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศเข้าไปด้วย คือ ความเมตตา แผนการศึกษาแห่งชาติมีแต่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่คิดจึงต้องตั้งคำถามว่าแล้วเด็กที่จะเป็นผู้รับผลจากแผนการศึกษานั้นเขามีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นบ้างหรือไม่ เวทีนี้จึงเป็นเวทีแรกๆ สำหรับการเริ่มต้นของการวางแผนการศึกษาแห่งชาติ เพื่อเปิดพื้นที่รับฟังความเห็นของคนรุ่นใหม่ให้พวกเขาร่วมขับเคลื่อนแผนไปพร้อมกัน"
นอกจากนั้นภายในงาน ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อธิการวิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต ยังได้ร่วมปาฐกถาในหัวข้อ "โลกที่เปลี่ยนไปกับคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนแปลง" ซึ่งได้กล่าวถึงคนรุ่นใหม่ว่า ไทยอยู่ในโลกที่กำลังใหม่ขึ้นทุกวันจึงต้องนำเรื่องภูมิศาสตร์ ภูมิรัฐศาสตร์ และภูมิเศรษฐศาสตร์มาคิดร่วมกันในการพัฒนาประเทศ
"คนรุ่นใหม่ต้องรู้จักโลกาภิวัตน์และบูรพาภิวัตน์ควบคู่กัน อย่ารู้จักแต่ประเทศไทย ต้องรู้จักโลก ต้องรู้จักประเทศเพื่อนบ้าน ความรู้และศาสตร์ตะวันออกกำลังสำคัญมาก โลกยุคปัจจุบันทุกอย่างเชื่อมโยงกันหมดทั้งความเชื่อของโลกตะวันออกและวิทยาศาสตร์ คนรุ่นใหม่ต้องสนใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ทุนนิยมชุมชน หมู่บ้าน หรือสหกรณ์ที่จะเติบโตมากขึ้น คนรุ่นใหม่ต้องสนใจเรื่องความไม่เท่าเทียม ต้องมีอุดมการณ์อย่ามีแต่เทคโนโลยี และต้องรู้จักประวัติศาสตร์ด้วยอย่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่ตัดขาดจากคนรุ่นเก่า"
ในเวทีเสวนายังมีการแบ่งปันเรื่องราวจากคนรุ่นใหม่ใน 3 หัวข้อ อาทิ ไลฟ์สไตล์ ที่สะท้อนวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ในสังคมไทยปัจจุบันโดยมีไอดอลมากความสามารถอย่าง "ป๋อมแป๋ม" นิติ ชัยชิตาทร ที่เป็นทั้งนักเขียน นักแสดง พิธีกร และฝ่ายสร้างสรรค์รายการเทยเที่ยวไทย มาร่วมพูดคุยบนเวทีซึ่งคุณป๋อมแป๋มได้แบ่งปันความคิดเห็นเกี่ยวกับคนรุ่นใหม่ไว้ว่า "เด็กรุ่นใหม่อยากเป็นฟรีแลนซ์ เพราะไม่อยากอยู่ในกรอบระเบียบของบริษัท เขามีความชอบ-ไม่ชอบอยู่เต็มหัว เพราะยังไม่ได้ลงมือทำจริงๆ ทำให้มักถูกชักนำจากคนรุ่นก่อนว่าถ้าทำอะไรด้วยความรักแล้วจะได้ดี แต่เรากลับคิดต่างว่าการทำในสิ่งที่ได้ผลลัพธ์จะดีกว่า เราเชื่อว่าหนึ่งในการค้นหาตัวเองคือการทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ เพราะบางครั้งการทำในสิ่งที่ชอบ ถ้าวันหนึ่งเกิดเปลี่ยนใจไม่ชอบแล้ว มันก็จบ แต่ถ้าเป็นสิ่งที่เราทำได้ แล้วพอทำได้ดีก็จะมีความกระหายที่อยากทำให้ดีขึ้นไปอีก ในที่สุดมันจะกลายเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน และสุดท้ายเด็กจะไม่ได้รู้สึกว่าอยากทำเพื่อตนเอง แต่ทำเพราะรู้สึกว่าอยากนำความเก่งความเก๋ของตัวเองส่งต่อหรือแบ่งปันให้คนอื่น และเราคิดว่าทั้งเด็กและผู้ใหญ่ควรมีทักษะการเป็นนักประเมินด้วยว่าลูกหลานหรือกระทั่งคนที่เราทำงานด้วยนั้นมีแววในด้านไหนเพื่อช่วยผลักดันให้เขาไปต่อได้ถึงที่สุด"
ส่วนหัวข้อ ความท้าทาย มีการร่วมสะท้อนปัญหาและข้อท้าทายที่คนรุ่นใหม่กลุ่มต่างๆ ต้องเผชิญไม่ว่าจะเป็นเด็กแว้น เด็กชายขอบ การกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ โดย "ครูปู" หรือ ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข นักวิจัยเรื่องเด็กแว้นได้กล่าวไว้ว่าการจะแก้ปัญหาใดๆ นั้นต้องมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อน และได้บอกหนึ่งในเคล็ดลับว่าการทำความเข้าใจเด็กกลุ่มนี้ของครูปูก็คือการเข้าไปร่วมเป็นเด็กแว้นด้วยนั่นเอง และสุดท้ายคือหัวข้อ การเรียนรู้ ที่ตัวแทนเยาวชนจากลุ่มการศึกษารูปแบบต่างๆ มาสะท้อนโลกการเรียนรู้ร่วมกันอย่าง "น้องแปลน" รามิล กังวานนวกุล เป็นตัวอย่างของเด็กโฮมสคูลที่เรียนรู้ด้วยตัวเองด้วยความเชื่อที่ว่า "ถ้าเราไม่ปิดกั้นการเรียนรู้ เราจะค้นพบศักภาพของตัวเอง" เป็นหนึ่งในข้อคิดที่น้องแปลนได้ฝากถึงคนรุ่นใหม่
อีกหนึ่งเสียงจากคนรุ่นใหม่ที่น่าสนใจคือ นางสาวอณิษฐา หะยีลาเต๊ะ หรือ "น้องนานา" นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. ที่ร่วมแสดงมุมมองต่อการศึกษาไทยไว้ด้วยว่า
"ตั้งแต่เข้ามหาวิทยาลัยเราได้เรียนรู้ว่าพื้นที่ของการเรียนรู้จริงๆ เป็นอย่างไร การมีอิสระทางความคิดมันดีอย่างไร และเราคิดว่าสิ่งที่การศึกษาไทยควรจะเปลี่ยนคือ การยัดเยียดคอนเทนต์จำนวนมากให้กับเด็ก แต่เด็กไม่สามารถนำไปใช้ได้จริง การสอนที่น่าจะสอนเรื่องของทักษะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับความแตกต่าง หรือการเคารพในสิทธิซึ่งกันและกัน อยากให้สอนทักษะที่เด็กนำไปใช้ได้จริงมากกว่า"
และเนื่องจากผู้เสวนาแต่ละคนล้วนต่างก็มีแรงดึงดูดที่น่าสนใจทำให้ภายในงานเต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ครูอาจารย์ นักศึกษา นักเรียนมัธยม และผู้ปกครองจำนวนมากเข้ามารับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันจนแน่นพื้นที่จัดงาน และสำหรับผู้สนใจสามารถเข้าไปชมวิดีโอบันทึกการเสวนา (บันทึก Facebook Live) ได้ที่เฟสบุ๊คของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สุดท้าย รศ.ดร.อนุชาติ อธิบายเพิ่มเติมว่า สิ่งที่มาแบ่งปันกันนั้นยังไม่ได้บอกว่ามันคือปัญหา หรือยังไม่ได้เป็นปัญหาของสังคม แต่เป็นปรากฏการณ์ที่จะต้องศึกษาเรียนรู้และทำความเข้าใจต่อพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ และประเด็นที่เป็นหัวใจที่สุดคือการเผชิญกับโจทย์ของการทำหน้าที่ครู ที่นอกเหนือจากการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ คือการทำความเข้าใจคนรุ่นใหม่พร้อมกับการที่เยาวชนสามารถเปล่งเสียงความคิดเห็นของพวกเขาในสังคมได้อย่างแท้จริง เป็นโจทย์ที่สำคัญที่คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. ต้องการจัดตั้งศูนย์คนรุ่นใหม่ศึกษาเพื่อจะเปิดพื้นที่ในฐานะเป็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวเหล่านี้และอยากเชิญชวนหน่วยงานต่างๆ มาช่วยกันทำงานในแต่ละแง่มุมเพื่อตอบสนองโจทย์เหล่านี้ไปด้วยกัน.
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit