ไบโอแก๊สชุมชน...สร้างพลังงานที่ยั่งยืน

02 Oct 2017
ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานได้ผลักดันและส่งเสริมให้มีการนำพลังงานทดแทนมาใช้ในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ และการใช้พลังงานในครัวเรือน เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิลไม่ว่าจะเป็น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ที่ส่วนใหญ่ไทยเราต้องนำเข้าจากต่างประเทศมาทั้งสิ้น หนึ่งในตัวอย่างของการพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างเป็นรูปธรรม คือ "การผลิตก๊าซชีวภาพในภาคปศุสัตว์"
ไบโอแก๊สชุมชน...สร้างพลังงานที่ยั่งยืน

ดังเช่น ความร่วมมือระหว่าง สำนักงานพลังงานจังหวัดแพร่ กับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูขุน โครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกรขุนแก่เกษตรกรรายย่อย (คอนแทรคฟาร์มโครงการฝากเลี้ยง) กับ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือซีพีเอฟ จำนวน 4 ราย ในพื้นที่บ้านอัมพวัน หมู่ 8 ตำบลเตาปูน อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ที่ร่วมกันดำเนินโครงการ "ส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพจากฟาร์มปศุสัตว์ให้กับชุมชน" จากการตระหนักถึงความสำคัญของการอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน ทำให้เกษตรกรทั้ง 4 ราย มีความคิดที่จะปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียจากการเลี้ยงหมูรวม 2,600 ตัวของพวกเขา ซึ่งก่อนหน้านี้มีโมเดลความสำเร็จที่เพื่อนเกษตรกรฟาร์มเลี้ยงหมูกับซีพีเอฟ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง นำขี้หมูเข้าระบบไบโอแก๊สแบบ Plug Flow เกิดการหมักได้ก๊าซมีเทน นำเข้าเครื่องปันไฟแปลงก๊าซที่ได้เป็นกระแสไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์ม อีกส่วนหนึ่งเข้าระบบท่อแก๊สกลายเป็นก๊าซหุงต้มลดค่าใช้จ่ายให้กับเพื่อนบ้าน

"เราเลี้ยงหมูมา 15 ปี เมื่อก่อนฟาร์มอยู่อย่างโดดเดี่ยวกลางทุ่ง แต่วันนี้ชุมชนขยับเข้ามาใกล้มากขึ้น ในเมื่อไม่สามารถย้ายฟาร์มไปที่อื่นได้ ก็ต้องอยู่กับชุมชนให้ได้อย่างมีความสุข ผมกับเพื่อนๆจึงปรึกษากับทางซีพีเอฟซึ่งเขาก็สนับสนุนเรื่องนี้อยู่แล้ว เวลานั้นทราบว่าทางภาครัฐมีนโยบายเรื่องพลังงานมากมาย หนึ่งในนั้นคือเรื่องไบโอแก๊สเพื่อพลังงานชุมชน เราจึงเริ่มติดต่อประสานกับผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้เรืองนี้เกิดขึ้นในชุมชนของเรา" จำลอง ขัดมูล เจ้าของจำลองฟาร์ม หนึ่งใน 4 เกษตรกร กล่าวถึงที่มา

จำลองกับเพื่อนเกษตรกร เริ่มต้นขอคำปรึกษาจากองค์การบริหารส่วนตำบลเตาปูน อำเภอสอง ถึงเป้าหมายของพวกเขา จากนั้นเรื่องจึงไปสู่สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน และสำนักงานพลังงานจังหวัดแพร่ โดยอบต.เตาปูนดำเนินการของบประมาณสนับสนุนไปที่กระทรวงพลังงานเพื่อสร้างระบบบำบัดของเสียด้วยไบโอแก๊ส บ่อหมักขนาด 200 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งกระทรวงพลังงานสนับสนุนงบฯก่อสร้าง 60 % อบต.เตาปูน 35% และเกษตรกร 15% โดยทางซีพีเอฟสนับสนุนงบประมาณในส่วนนี้ ในรูปแบบผลตอบแทนการเลี้ยง

โครงการนี้ไม่เพียงช่วยแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นไม่พึงประสงค์จากฟาร์มหมู ที่ถือเป็นการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างตรงจุดเท่านั้น หากแต่ยังเกิดผลลัพธ์ที่ตามมาคือ ชุมชนได้รับประโยชน์จากก๊าซชีวภาพที่เกิดจากระบบไบโอเก๊ส กลายเป็นพลังงานทดแทนก๊าซหุงต้ม จากแรกเริ่มมีครัวเรือนนำร่องที่ใช้ประโยชน์จากก๊าซชีวภาพ 50 ครัวเรือน เมื่อระบบเดินเครื่องเต็มประสิทธิภาพ ก็สามารถขยายจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้น 48 ครัวเรือน เท่ากับก๊าซชีวภาพจากฟาร์มแห่งนี้สร้างประโยชน์ให้กับชุมชนได้ถึง 98 ครัวเรือน

นพดล สรวงประดิษฐ์ พลังงานจังหวัดแพร่ บอกว่า จากความสำเร็จของโครงการนำร่องดังกล่าว คณะทำงานจึงผลักดันให้มีการก่อสร้างบ่อบำบัดขนาด 300 ลูกบาศก์เมตร เพิ่มเติมอีกซึ่งจะสามารถขยายประโยชน์ให้กับชาวชุมชนเพิ่มอีกถึง 100 ครัวเรือน

"การพัฒนาระบบแก๊สชีวภาพในฟาร์มหมูแห่งนี้เป็นโครงการภายใต้แนวคิดประชารัฐด้วยกระบวนการที่มีส่วนร่วมระหว่าง รัฐ เอกชน และชุมชน ที่สามารถแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชน จากของเสียในการเลี้ยงสุกร เราเตรียมผลักดันความสำเร็จของโครงการสู่ศูนย์เรียนรู้การจัดการด้านพลังงานระหว่างฟาร์มปศุสัตว์กับชุมชน เพื่อให้เป็นต้นแบบการแก้ปัญหาและมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในการดูแลและบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ต่อไป" พลังงานจ.แพร่ กล่าว

ระหว่างชมความสำเร็จของโครงการ ชาติชาย ปัทมะดิลกคเวช ประธานกลุ่มผู้ใช้แก็สบ้านอัมพวัน บอกว่า ชาวชุมชนสามารถใช้แก๊สชีวภาพจากระบบไบโอแก๊สแทนก๊าซหุงต้มได้ทั้งหมู่บ้าน วันนี้ทุกบ้านไม่ต้องซื้อก๊าซหุงต้มอีกเลย เท่ากับช่วยลดรายจ่ายด้านนี้ได้ 100% และยังแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเรื่องกลิ่นในฟาร์มหมูได้เป็นอย่างดี ชาวชุมชนตอบรับกับโครงการนี้ดีมาก ทุกคนดีใจมากที่ทุกภาคส่วนพยายามผลักดันโครงการนี้ให้เกิดขึ้น และยังร่วมกันเดินหน้าพัฒนาต่อไปเพื่อประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดขึ้นกับชุมชน

นอกจากแก๊สชีวภาพที่ได้จากฟาร์มแห่งนี้ จะถูกส่งผ่านท่อไปยังชุมชนทุกๆบ้านแล้ว จำลองบอกว่าได้นำก๊าซมาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับเดินเครื่องยนต์ในการผลิตไฟฟ้าขนาด 50 กิโลวัตต์ ที่สามารถใช้กับพัดลดระบายความร้อนในโรงเรือนเลี้ยงหมู ใช้กับปั้มน้ำ เป็นไฟฟ้าส่องสว่าง และเป็นพลังงานให้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆภายในฟาร์มอีกด้วย จำลองฟาร์มจึงสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าลงได้มากกว่า 30-40%

โครงการดีๆเช่นนี้ เกิดขึ้นจากเป้าหมายเดียวกันของทุกภาคส่วนที่ต้องการให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการใช้พลังงานทดแทนดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า เพื่อความยั่งยืนด้านพลังงานและยังช่วยให้ฟาร์มปศุสัตว์สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข./

HTML::image(