· กระตุ้นเศรษฐกิจการค้า ดึงเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวด้วยการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์สร้างศูนย์การค้าระดับโลก
· ต่อยอดพัฒนาศูนย์การค้าในจังหวัดต่างๆ สอดรับตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ เพื่อกระจายรายได้ และความเจริญ ไปสู่ภูมิภาค
· ลงทุนต่อเนื่อง ด้วยงบลงทุนรวมกว่า 57,000 ล้านบาท เพิ่มพื้นที่รวมศูนย์การค้าในกลุ่มสมาชิกเป็นกว่า 9.1 ล้านตร.ม. ภายในปี 2562
· ปี 2560 คาดธุรกิจศูนย์การค้าจะเติบโตขึ้นประมาณ 4-5%
สมาคมศูนย์การค้าไทย หรือ TSCA นำโดย นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ นายกสมาคมศูนย์การค้าไทย พร้อมด้วยคณะกรรมการสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจศูนย์การค้าทั้งหมด 13 ราย ประกอบด้วย บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน),บริษัท ซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด, บริษัท เอ็มบีเค จำกัด (มหาชน),บริษัท รังสิตพลาซ่า จำกัด, บริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน),บริษัท แอล เอช มอลล์ โฮเทล จำกัด,บริษัท เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป จำกัด, บริษัท เค.อี.แลนด์ จำกัด, บริษัท เดอะมอลล์กรุ๊ป จำกัด, บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด, บริษัท แปซิฟิคพาร์ค ศรีราชา จำกัด และ บริษัท บุญถาวรเซรามิค จำกัด จัดแถลงข่าวชูวิสัยทัศน์ Shopping Center 4.0 ตอบรับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคดิจิทัล เสริมแกร่งให้ประเทศไทยคงความเป็นที่หนึ่งในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง พร้อมประกาศภาพรวมการลงทุนโครงการต่างๆ ระดับเมกะโปรเจ็กต์ หวังสร้างศูนย์การค้าที่จะเป็นแลนด์มาร์กระดับโลก ย้ำกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศด้วยการลงทุนตอบรับการขยายโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐในจังหวัดหลัก และเขต EEC พร้อมมุ่งช่วย SMEs ท้องถิ่น กระจายรายได้สู่จังหวัดต่างๆทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่รวมศูนย์การค้าในกลุ่มสมาชิกฯ ภายในปี 2562 เป็น 9.1 ล้านตร.ม. ด้วยงบลงทุนรวมกว่า 57,000 ล้านบาท
นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ นายกสมาคมศูนย์การค้าไทย กล่าวว่า "สำหรับนโยบายของสมาคมศูนย์การค้าไทยในปีนี้ เราจะร่วมกันพลิกโฉมธุรกิจค้าปลีกสู่ยุคของการเป็น Shopping Center 4.0 เพื่อตอบรับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคดิจิทัลที่เปลี่ยนไป ตั้งเป้าเติบโต 4-5% ในปี 2560 โดยมีทิศทางดำเนินการบน 3 กลยุทธ์ ได้แก่ 1) Customer-Centric ผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง ด้วยการออกแบบศูนย์การค้าและปรับรูปแบบการให้บริการให้ทันไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคดิจิทัลทุกเพศทุกวัยที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภค และความคาดหวังในการมาศูนย์การค้าแตกต่างไปจากเดิม อาทิ การออกแบบและเพิ่มบริการในศูนย์การค้าสำหรับกลุ่ม Aging-society ด้วยการมี Disabled parking area, ห้องน้ำ, ลิฟท์ และเทรนด์การใช้ชีวิตยุคใหม่ เช่น บริการ Co-working Space, บริการสำหรับครอบครัวยุคใหม่, บริการตอบโจทย์คนรักสุขภาพและชอบเล่นกีฬา, บริการสำหรับสัตว์เลี้ยง แม้กระทั่งการบริการที่ตอบโจทย์การเดินทางมาที่ศูนย์การค้าของลูกค้าไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า รถจักรยาน มีจุดขึ้นรถสาธารณะ และมีจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเน้นเทรนด์การออกแบบที่ผสมผสานพื้นที่สีเขียวไว้ในศูนย์การค้า เพื่อให้คนเมืองได้มีพื้นที่สำหรับการพักผ่อน 2) Omnichannel เน้นทำการตลาดแบบผสมผสานทุกช่องทาง เชื่อมประสบการณ์ช้อปปิ้งแบบไร้รอยต่อ และตอบสนองความต้องการแบบ personalized โดยใช้ข้อมูลจากฐาน big data ของลูกค้า เช่น The 1 Card, M Card, Viz Card เพื่อทำการตลาดแบบเจาะกลุ่ม แบ่งตามพฤติกรรมการซื้อ ไลฟ์สไตล์ ความชอบ สามารถจับกลุ่มทาร์เก็ตที่ตรงเป้าหมาย แม่นยำมากกว่าการทำการตลาดแบบหว่านแห รวมทั้งศูนย์การค้ามีระบบที่รองรับการจ่ายเงินของ Cashless Society สังคมไร้เงินสด พัฒนาบริการที่รองรับการใช้จ่ายผ่านมือถือ และบัตรแทนเงินสด 3) Build partnership สร้างพันธมิตร เปลี่ยนคู่แข่งให้กลายเป็นคู่ค้า เพราะคู่แข่งที่ท้าทายที่สุดในยุคนี้คือ ผู้บริโภค โดยศูนย์การค้าจะผนึกกำลังกันร่วมสนับสนุนนโยบายต่างๆของภาครัฐ และส่งเสริมให้เกิดย่านช้อปปิ้งทั้งในกรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว
ไม่เพียงเท่านี้ เรายังช่วยกันลงทุนพัฒนาโปรเจ็กต์ใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และร่วมกันสร้างไลฟ์สไตล์แลนด์มาร์กใหม่ๆ ให้กับประเทศไทย โดยอภิมหาโครงการสุดยิ่งใหญ่ที่จะสร้างปรากฏการณ์แลนด์มาร์กระดับโลกให้ประเทศไทย ด้วย 2 โครงการยักษ์ใหญ่ที่จะเปิดให้บริการในปี 2561 ได้แก่ เซ็นทรัล ภูเก็ต และไอคอนสยาม
นอกจากนี้ ในฐานะสมาคมศูนย์การค้าไทย กลุ่มสมาชิกยังพร้อมร่วมพัฒนาประเทศด้วยการสนับสนุนภาครัฐ โดยการร่วมกันลงทุนในจังหวัดต่างๆ ที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเมกะโปรเจ็กต์ของภาครัฐทั้งโครงการมอเตอร์เวย์ รถไฟรางคู่ และรถไฟความเร็วสูงในจังหวัดหลัก อาทิ โครงการก่อสร้างระบบคมนาคมสู่จังหวัดนครราชสีมาของภาครัฐเพื่อชูโคราชเป็นเมืองศูนย์กลางของภาคอีสาน ทางสมาชิกจึงได้ลงทุนพัฒนาศูนย์การค้าต่างๆ ได้แก่ การเปิดตัวของโครงการ เซ็นทรัลพลาซา โคราช, Terminal 21 โคราช และ การขยายพื้นที่เพิ่มเติมของ เดอะมอลล์ โคราช ที่จะช่วยเสริมการเป็นเมือง gateway ของอีสานให้โคราช ซึ่งการลงทุนของทั้ง 3 โครงการในโคราช จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัด สร้างงาน สร้างอาชีพ ช่วยดึงคนกลับสู่ท้องถิ่น อีกทั้งช่วยดัน SMEs ท้องถิ่นให้เกิดรายได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังได้ลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ได้แก่ ชลบุรี (พัทยา) และ ระยอง โดยมีโครงการ อาทิTerminal21 พัทยา, เซ็นทรัล มารีนา และเซ็นทรัลพลาซา ระยอง รวมไปถึงการลงทุนในโซนกรุงเทพฯ ตะวันออก ย่านบางนา-สุวรรณภูมิ ที่เชื่อมต่อกับเขต EEC ได้แก่ โครงการ เมกาซิตี้, ซีคอนซิตี้, แบงค็อกมอลล์ และการปรับโฉมใหม่ของ เซ็นทรัลพลาซา บางนา โดยโครงการเหล่านี้จะช่วยเสริมความสมบูรณ์ และรองรับเศรษฐกิจที่จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคต พร้อมทั้งตอบรับไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ให้ย่านดังกล่าวได้อย่างสมบูรณ์"
ภายในปี 2562 สมาชิกสมาคม TSCA จะมีพื้นที่ (GFA) รวมเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 9.1 ล้านตร.ม. จากศูนย์การค้าของสมาคม รวม 107 แห่ง ด้วยมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 57,000 ล้านบาท
สำหรับกิจกรรมล่าสุดของสมาคมฯ ได้เข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ในงาน RetailEX ASEAN 2017 ซึ่งเป็นเวทีการค้าระดับภูมิภาคที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการค้าปลีกได้ขยายสู่ตลาดอาเซียน และงาน ICSC RECON Asia-Pacific ซึ่งเป็นงานใหญ่ระดับโลก โดยงานนี้ นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ ในฐานะนายกสมาคมศูนย์การค้าไทย ได้รับเกียรติร่วมบรรยายให้ความรู้ในหัวข้อการขยายธุรกิจศูนย์การค้า และธุรกิจค้าปลีกไทย ก้าวสู่ตลาดอินเตอร์ระดับภูมิภาค
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit