ในปี 2559 สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีดัชนีความมั่นคงทางอาหารสูงที่สุดในโลกจากทั้งหมด 113 ประเทศ รองลงมา คือ ไอร์แลนด์ สิงคโปร์ ออสเตรเลียและเนเธอร์แลนด์ สำหรับประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 51 โดยได้รับคะแนนรวมทั้งสามด้าน อยู่ที่ 59.5 จาก 100 คะแนน สูงขึ้นจากปี 2558 เท่ากับ 0.5 คะแนน จากคะแนนในด้านความสามารถในการหาซื้ออาหารสูงที่สุดคือ 62 คะแนน รองลงมา คือ ด้านความเพียงพอของอาหาร และด้านคุณภาพ ความปลอดภัยของอาหาร เท่ากับ 58.3 และ 56.8 ตามลำดับ (รายละเอียดภาพ 1)
ในกลุ่มประเทศอาเซียน 9 ประเทศ (ไม่รวมบูรไน) พบว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีดัชนีความมั่นคงทางอาหารสูงที่สุดในอาเซียน คือ 83.9 คะแนน รองลงมาคือ มาเลเซีย และไทย ตามลำดับ ในขณะที่ประเทศลาวเป็นประเทศที่มีดัชนีความมั่นคงทางอาหารต่ำที่สุดโดยมีคะแนนรวมอยู่ที่ 32.7 คะแนน
แม้ว่าวิกฤตอาหารของโลก ยังไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในด้านอุปทาน เพราะประเทศผลิตอาหารเพียงพอการบริโภคภายในประเทศ มีผลผลิตมากพอที่จะส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศโดยเป็นทั้งผู้ผลิตและส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก สินค้าเกษตรหลายชนิดที่ไทยสามารถส่งออกได้เกินกว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตทั้งหมดและบางชนิด เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังสับปะรดกระป๋องส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลก ส่งออกข้าวและน้ำตาลเป็นอันดับ 2 ของโลก ส่งออกกุ้งและไก่เนื้อเป็นอันดับ 3 และ 4 ของโลกตามลำดับ เป็นต้น จนเป็นผลให้ประเทศไทยสามารถประกาศตัวเป็นครัวของโลก (Kitchen of the World) ได้ตามนโยบายของรัฐตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
สถานการณ์ความมั่นคงด้านอาหารของประเทศไทย ปี 2559 พบว่า ประเทศไทยส่งออกสินค้าทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 7,534,737 ล้านบาท แบ่งเป็นสินค้านอกการเกษตร มูลค่า 6,328,140 ล้านบาท สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์มูลค่า 1,206,597 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร มูลค่า 1,017,902 ล้านบาท และกลุ่มสินค้าเกษตรเพื่ออุตสาหกรรมการเกษตร มูลค่า 188,695 ล้านบาท โดยข้าวถือว่าเป็นอาหารหลักที่สำคัญของไทย และเป็นสินค้าอาหารที่ไทยส่งออกมากที่สุด
ในปี 2558/59 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด 63.20 ล้านไร่ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 42 ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด ผลิตข้าวได้ 27.42 ล้านตันข้าวเปลือก ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศ 12.28 ล้านตันข้าวสาร และมีการส่งออก 9.88 ล้านตันข้าวสารในปี 2559 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีปริมาณการส่งออกประมาณ 9.80 ล้านตันข้าวสาร
จากข้อมูลพื้นฐานการส่งออกข้างต้นแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความสามารถในการพึ่งพาตนเองทางด้านอาหาร(Food Self-sufficiency) และมีความเพียงพอทางด้านอาหาร (Food Availability) โดยเฉพาะข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักของไทย อย่างไรก็ตาม ในด้านความสามารถในการหาซื้ออาหาร (Affordability) สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในประเทศไทยมีราคาเพิ่มขึ้นและสูงกว่าสินค้าประเภทอื่น ๆ ทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านอาหารสูง และไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าจำเป็นที่ต้องบริโภคเพื่อเป็นอาหารสร้างพลังงาน อาจส่งผลให้ความสามารถในการหาซื้ออาหารของครัวเรือนที่มีฐานะยากจนลดลงและไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการ
ด้านปัจจัยเสี่ยงต่อความมั่นคงด้านอาหาร มีประเด็นด้านต่างๆ ดังนี้
1. การกระจายรายได้ ประเทศไทยยังเผชิญกับปัญหาการกระจายรายได้มาอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบถึงความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ในองค์ประกอบด้านการเข้าถึงอาหาร (Food Access) เนื่องจากรายได้มีการกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มคนส่วนน้อยของประเทศ การเข้าถึงอาหารที่ดีมีประโยชน์ของกลุ่มคนส่วนใหญ่อาจเกิดความยากลำบากส่งผลให้ความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทยมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น
2. การใช้ที่ดินทางการเกษตร ปี 2558 ประเทศไทยมีเนื้อที่ทั้งประเทศโดยประมาณ 320.70 ล้านไร่ ซึ่งการใช้ที่ดินแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ เนื้อที่ป่าไม้ 102.24 ล้านไร่ เนื้อที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตร 149.24 ล้านไร่ และเนื้อที่ใช้ประโยชน์นอกการเกษตร ซึ่งพื้นที่นอกการเกษตรมีพื้นที่เพิ่มขึ้น แต่ในส่วนของพื้นที่เพื่อการเกษตรมีพื้นที่ลดลงในทุกๆ ปี
สำหรับเนื้อที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตร พบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ชลประทานเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่าน โดยในปี 2558 ประเทศไทยมีเนื้อที่ชลประทาน 31.54 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 21.13 ของเนื้อที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรทั้งประเทศ และมีเนื้อที่นอกเขตชลประทาน 117.70 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 78.87 ของเนื้อที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรทั้งประเทศ ซึ่งพื้นที่ชลประทานที่เพียงต่อพื้นที่ทางการเกษตรยังมีน้อยมาก อาจเป็นปัญหาและส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศในด้านความเพียงพอของอาหารในอนาคตก็เป็นได้
3. การตลาด มีแนวโน้มว่าบริษัทขนาดใหญ่เข้ามาครอบครองและผูกขาดกลไกการกระจายอาหารมากยิ่งขึ้น อาทิ การขยายตัวของกิจการร้านค้าสะดวกซื้อ (Convenience Store) ที่เข้ามาแทนที่ตลาดสด ตลาดนัด และร้านขายของชำขนาดเล็กอย่างรวดเร็ว โดยธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่มีมูลค่าตลาดหลายแสนล้านบาท สัดส่วนของสินค้าในห้างขนาดใหญ่ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทอาหารสูง และกิจการเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ผูกขาดอยู่ในมือของบริษัทข้ามชาติ
4. ปัจจัยในการผลิต ปัจจุบันนี้ประเทศไทยยังมีการใช้ปุ๋ยและสารเคมีเป็นปริมาณมาก ซึ่งสามารถดูได้จากปริมาณการนำเข้าที่ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้การใช้ปุ๋ยและสารกำจัดศัตรูพืชที่ไม่ถูกต้องและเหมาะสมอาจก่อให้เกิดปัญหาการได้รับสารพิษ เกิดปัญหาต่อสุขภาพของผู้ใช้เองแลผู้บริโภค มีผลต่อองค์ประกอบความมั่นคงทางด้านอาหาร ในด้านการใช้ประโยชน์จากอาหารของประเทศไทยได้
5. ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกมีความแปรปรวนเป็นอย่างมาก ส่งผลกระทบกับหลายประเทศ และอาจนำไปสู่ความแปรปรวนของปริมาณน้ำฝนและอุณหภูมิ ซึ่งประเทศไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว กรณีสภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วต่อการดำรงชีวิตและระบบการผลิตสินค้าทางการเกษตร
6. ยุคไทยแลนด์ 4.0 ขณะนี้ประเทศไทยกำลังดำเนินนโยบายและพัฒนาด้านต่างๆ เพื่อเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 และอาจส่งผลดีต่อการสร้างความมั่นคงทางอาหารท่ามกลางปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ปัญหาแรงงานภาคเกษตร โอกาสและอุปสรรคที่เกิดจากการกีดกันทางการค้า เป็นต้น ประเทศไทยจึงควรปรับเปลี่ยนโครงการสร้างการผลิตทางการเกษตรโดยการนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้ เช่น ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และลดความเสี่ยง โดยใช้ข้อมูลสารสนเทศและเครื่องมือทันสมัย การทดแทนแรงงานภาคเกษตรด้วยเครื่องมือ เครื่องจักรที่ทันสมัย และการทำเกษตรแปลงใหญ่เพื่อสามารถลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
1. การคุ้มครองที่ดินเพื่อการเกษตรเพื่อให้มีที่ดินเพียงพอที่จะทำการเกษตรโดยเฉพาะการปลูกพืชอาหารได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น ควรออกกฎหมายหรือมีมาตรการคุ้มครองที่ดินเพื่อการเกษตรเพื่อไม่ให้ถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นนอกการเกษตรและไม่อนุญาตให้บุคคลต่างด้าวทั้งส่วนตัวและนิติบุคคลเข้าครอบครองที่ดิน ทั้งทางตรงและทางอ้อม
2. ศึกษา สร้างสรรค์ นวัตกรรมสมัยใหม่เพื่อมาทดแทนแบบเก่า ภาคการเกษตรควรนำเทคโนโลยีที่มีอยู่หรือคิดค้นนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นำมาใช้ทดแทนการผลิตหรือการใช้แรงงานแบบสมัยเก่า เช่น 1) Application นิล 4.0 บนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นโปรแกรมการเลี้ยงปลานิลที่ผู้เลี้ยงจะมีข้อมูลครบวงจร มีจุดเด่นการใช้ประโยชน์และการใช้งาน คือ สามารถแสดงสภาพอากาศ ปริมาตรน้ำ คุณภาพน้ำ และราคาได้ตลอดเวลา และเป็นปัจจุบัน 2)เครื่องผ่าปลากะตักสมรรถนะสูง สามารถผ่าปลากตักได้ 98% ซึ่งสามารถทดแทนแรงงานคนได้เป็นอย่างดี
3. ภาครัฐควรจัดสรรงบประมาณอย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งรัดการวิจัยและพัฒนาพันธุ์และเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การต้านทานต่อโรคแมลงศัตรูพืช และสามารถปรับตัวได้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก
4. ส่งแสริมและสนับสนุนการทำการเกษตรที่หลากหลาย การทำการเกษตรผสมผสาน สนับสนุนการวางแผนการผลิต เพื่อลดความเสี่ยงจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว สนับสนุนให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารแก่เกษตรกรรายย่อย เน้นการปลูกพืชควบคู่กับการทำปศุสัตว์ด้วยเพื่อเป็นการเกื้อกูลกันในระบบ
5. นำเกษตรทฤษฎีใหม่มาประยุกต์ใช้ เนื่องจากเกษตรทฤษฎีใหม่เป็นทฤษฎีแห่งการใช้น้ำและการบริหารงานพัฒนาการเกษตรแผนใหม่ ตั้งอยู่บนกรอบแนวคิดของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เน้นถึงเกษตรกรรายย่อยที่มีที่ดินจำนวนน้อย สามารถเลี้ยงตัวเองได้ สามารถผลิตข้าวทั้งปี พืชผักอาหารโปรตีนจากการเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ หมู ปลาและประเภทอื่น ๆ เป็นต้น ให้เพียงพอต่อการบริโภคได้ตลอดทั้งปี
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit