ทั้งนี้ ยังได้กำหนดแผนการลงทุนเพื่อเชื่อมโยงการคมนาคม ในระยะเวลา 5 ปี ระหว่างกรุงเทพฯ – EEC และเชื่อมสู่ภูมิภาคทั่วประเทศ ด้วยโครงการต่างๆ อาทิ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาให้รองรับผู้โดยสารจาก 3 ล้านคน เป็น 60 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2575 การก่อสร้างทางหลวงต่างๆ ในส่วนที่ยังขาดหายให้ครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ตลอดจนเตรียมแก้ไขกฎหมาย และการเพิ่มสิทธิประโยชน์บางประการเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนในประเทศ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ให้ไทยมากขึ้น
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในบรรดาชาติพันธมิตรลำดับต้นๆ ของไทยนั้น ญี่ปุ่นถือได้ว่าเป็นมิตรแท้ที่มีบทบาทและเป็นต้นแบบในหลายด้านที่สำคัญต่อเนื่องมาหลายทศวรรษ ไม่ว่าจะเป็นภาคเศรษฐกิจ การเมือง อุตสาหกรรม ตลอดจนการค้าและการลงทุน สำหรับในปี 2560 ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการทูตของทั้ง 2 ประเทศได้ดำเนินมาถึงปีที่ 130 และยังถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนของทั้งสองชาติ เนื่องจากต่างฝ่ายต่างก็กำลังอยู่ในช่วงของภาวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวน่ายินดีที่เศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นเติบโตมากที่สุดในรอบ 2 ปี และเป็นผลต่อเนื่องให้เกิดการกระตุ้นการใช้จ่าย การลงทุน ตลอดจนการผลักดันนโยบายอาเบะโนมิกส์ และ Connected Industries ที่ทั้งสองนโยบายดังกล่าวจะเชื่อมโยงมาสู่ยุทธศาสตร์การส่งเสริมกลุ่มประเทศ CLMVT การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC รวมทั้งนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งจะทำให้เกิดการร่วมมือและขับเคลื่อนทั้งสองประเทศไปสู่อนาคตอย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับการเดินทางมาเยือนประเทศไทยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) หน่วยงานส่งเสริมเศรษฐกิจ และคณะนักลงทุนรายใหญ่ของญี่ปุ่นกว่า 570 ราย ในครั้งนี้นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ความพยามในการผลักดันมาตรการต่างๆ จากภาครัฐของไทย เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีความชัดเจนและเห็นผลที่เป็นรูปธรรมหลายประการ สิ่งที่เกิดขึ้นได้ทำให้ชาวโลกได้เห็นถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ต่อเนื่องถึงทัศนคติและความเชื่อมั่นต่อยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในการพัฒนาและสร้างความเชื่อมั่นทางการเมืองของประเทศที่เห็นผลแล้วว่าในระยะ 10 ปีที่ผ่านมานี้มีความมั่นคงมากที่สุด ซึ่งยังมั่นใจว่าหลังจากนี้ภาคอื่นๆ ที่สำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างของประเทศจะเกิดสัญญาณที่ดีขึ้นตามมาและเห็นผลเป็นรูปธรรมในไม่ช้าอีกแน่นอน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการเชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ยังคงยึดแม่เหล็กใหญ่คือนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เป็นสำคัญ โดยหลักการดังกล่าวนั้นสามารถเชื่อมโยงและร้อยเรียงกับนโยบาย Connected Industries ของประเทศญี่ปุ่นให้เกิดความสอดคล้องและเติมเต็มระหว่างกันและนำไปสู่ยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 Towards Connected Industries ได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งนี้ การเชื่อมต่อของทั้งสองนโยบายจะเริ่มต้นที่การเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจ ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านเสรีการค้า การส่งเสริมการลงทุน การพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และผู้ประกอบการ SMEs ของทั้งสองประเทศ โดยปัจจัยทั้งหมดนี้ยังจะช่วยยกระดับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของไทย ให้เป็นแลนด์มาร์คของแหล่งอุตสาหกรรมที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีแผนงานการลงทุนเพื่อยกระดับและพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ EECi ที่มีจุดเด่นด้านความเป็นเมืองนวัตกรรมที่เป็นต้นแบบของการพัฒนางานวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมในลักษณะองค์รวม มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อก่อประโยชน์สูงสุดด้วยการรวมศูนย์ห้องปฏิบัติการและสนามทดสอบนวัตกรรม ศูนย์รับรองมาตรฐานนวัตกรรมทางด้านระบบและอุปกรณ์อัจฉริยะ โดยจัดตั้งเป็นเขตทดสอบนวัตกรรมอัจฉริยะของประเทศที่ผ่อนปรนกฎระเบียบที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการคิดค้นนวัตกรรม
ทั้งนี้ รัฐบาลยังได้กำหนดแผนการลงทุนพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งภายใต้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2560 – 2564) เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งสินค้าระหว่างกรุงเทพฯ กับภาคตะวันออกรวมทั้งเชื่อมสู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และเป็นประตูสู่เมียนมา เวียดนาม สปป.ลาว กัมพูชา และจีนตอนใต้ ซึ่งประกอบด้วยโครงการสำคัญๆ ได้แก่
· โครงการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ในระยะ 5 ปีแรก จะเพิ่มขีดความสามารถให้รองรับผู้โดยสารจาก 3 ล้านคน เป็น 5 ล้านคนต่อปี และ 60 ล้านคนภายในปี 2575
· โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางและการขนส่ง
· โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เพื่อรองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศในอนาคต
· โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของสาธารณูปโภคหลักในการรองรับการขนส่งสินค้าเหลว ก๊าซธรรมชาติ และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
· โครงการพัฒนาท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ
· โครงการก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง
· ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน (OSS: One Stop Service) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
นอกจากนี้เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนในประเทศ รัฐบาลยังได้แก้ไขกฎหมายการส่งเสริมการลงทุน และออกมาตรการเพื่อเร่งรัดการลงทุนเพิ่มเติม ตลอดจนเพิ่มสิทธิประโยชน์และการอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุนอีกเป็นจำนวนมาก เพื่อหวังให้เกิดการลงทุนรูปแบบใหม่ๆ ตลอดจนการส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการลงทุนต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น โดยยังตั้งเป้าให้มีการถ่ายทอดหรือแลกเปลี่ยนในอุตสาหกรรมเดิมและอุตสาหกรรมใหม่ อาทิ ยานยนต์ อากาศยาน เครื่องมือแพทย์ Green Technology ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้จะอัพเกรดให้ทุกอย่างอยู่ภายใต้คอนเซปต์ "สมาร์ท" เพื่อให้ความก้าวล้ำเกิดขึ้นอย่างทั่วถึง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวปิดท้าย
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้การต้อนรับคณะผู้เดินทางจากญี่ปุ่น ณ ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งประกอบด้วย Mr. Hiroshige Seko รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ผู้บริหารระดับสูงทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ อธิบดีกรมนโยบายการค้า ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JETRO) ประธานองค์การสนับสนุน SMEs แห่งประเทศญี่ปุ่น (SMRJ) ผู้บริหารบริษัทอายิโน๊ะโมโต๊ะ คูโบต้าคอร์ปอเรชั่น มิตซุยซูมิโตโม่อินชัวรันส์ พร้อมหยิบยกประเด็นหารือในการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น การร่วมมือในการพัฒนายานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ
นอกจากนี้ นักลงทุนญี่ปุ่นยังได้สอบถามนายกรัฐมนตรีถึงความคาดหวังจากผู้ประกอบการญี่ปุ่นในการเสริมสร้างศักยภาพให้กับ SMEs ไทย พร้อมทั้งได้ยกตัวอย่างบทบาทสำคัญของ SMEs ในญี่ปุ่นที่มีเทคโนโลยีและความชำนาญที่ล้ำสมัยและมีส่วนช่วยในการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมและกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นของประเทศญี่ปุ่นมาแล้ว โดยพล.อ.ประยุทธ์ ยังได้กล่าวแสดงความชื่นชมในวิสัยทัศน์อันยาวไกลและกว้างขวางของผู้นำด้านเศรษฐกิจและนักลงทุนของญี่ปุ่นที่มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทย พร้อมทั้งได้สร้างความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยและคนไทยจะไม่ทำให้นักลงทุนชาวญี่ปุ่นเกิดความผิดหวังอย่างแน่นอน
โดยในช่วงค่ำ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังได้นำคณะผู้เดินทางจากญี่ปุ่นร่วมกิจกรรมสร้างเครือข่ายธุรกิจกับนักลงทุนไทย (Business Networking Reception) พร้อมรับประทานอาหารค่ำ และชมการแสดงวัฒนธรรมไทยและญี่ปุ่น เนื่องในโอกาสครบรอบ 130 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้การต้อนรับพร้อมกล่าวอวยพร ณ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กระทรวงอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2202 4435 หรือเข้าไปที่www.industry.go.th หรือ facebook.com/industryprmoi
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit