อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อว่า กรมป่าไม้จึงได้จัดทำ "โครงการศูนย์พัฒนาอาชีพการเพาะชำกล้าไม้ หรือ โรงเรียนกล้าไม้" เพื่อพัฒนาศักยภาพของประชาชนทั่วไปที่สนใจจะเรียนรู้วิธีการเพาะชำกล้าไม้ ทั้งในด้านทฤษฎีและปฏิบัติ ตลอดจนวิชาการป่าไม้ด้านอื่น ๆ พร้อมทั้งให้การสนับสนุนกล้าไม้ต่าง ๆ เช่น ไม้โตเร็ว ไม้สมุนไพร ไม้ดอก ไม้ท้องถิ่น ไม้มีค่า โดยกรมป่าไม้ได้จัดเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความสามารถด้านการเพาะชำกล้าไม้เป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ดังกล่าวให้กับประชาชนที่สนใจเข้ารับการฝึกอบรมฯ เพื่อจะได้นำทักษะและความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการประกอบอาชีพด้านการเพาะชำกล้าไม้ และให้ชาวบ้านสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนตามหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนสามารถผลิตกล้าไม้ไว้ปลูกเองหรือแจกจ่ายให้กับผู้ที่ต้องการนำกล้าไม้ไปปลูกในพื้นที่เป้าหมายที่รกร้างว่างเปล่า อันเป็นการส่งเสริมการปลูกป่าและฟื้นฟูให้ป่ากลับมามีความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นการสร้างอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนจากการเพาะชำกล้าไม้สำหรับจำหน่ายในเชิงธุรกิจ และยังเป็นการสร้างเครือข่ายภาคประชาชนที่จะช่วยเป็นกำลังหลักแก่ชุมชนโดยมีรัฐเป็นผู้สนับสนุนและส่งเสริมตามความเหมาะสม
อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อไปอีกว่า โครงการดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการนำร่องในปีงบประมาณ 2560 ซึ่งมีการจัดอบรมไปแล้ว 6 ครั้ง ใน 6 จังหวัด ได้แก่ จ.เลย จ.เชียงใหม่ จ.เพชรบูรณ์ จ.น่าน จ.ยโสธร และ จ.นครราชสีมา โดยจะจัดครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 11-13 กันยายนนี้ ที่ จ.เชียงใหม่ ทั้งนี้ ในปี 2561 กรมป่าไม้วางแผนที่จะขยายพื้นที่ในการจัดการฝึกอบรมดังกล่าวให้ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ"โรงเรียนกล้าไม้ ถือเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างเข้มแข็ง อีกทั้งการปลูกไม้มีค่าหรือไม้หวงห้าม เช่น ไม้พะยูง ประดู่ ชิงชัน ยางนา หากประชาชนมีพื้นที่ปลูกไว้ 5 - 10 ไร่ ในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า จะสามารถตัดขายได้ราคา ซึ่งถือเป็นเงินออมหรือเงินมรดกในอนาคต เพราะไม้ทุกวันนี้มีราคาแพงมาก เพียงแต่ต้องขึ้นทะเบียนตาม พ.ร.บ. สวนป่าให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนหันมาปลูกไม้มีค่า เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพให้ระบบนิเวศน์กลับคืนสู่สภาพป่าธรรมชาติแล้ว ยังเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวอีกด้วย
HTML::image(