ข้อเสนอการปรับโครงสร้างภาษีและกรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม

17 Mar 2017
สนับสนุนการเลื่อนการเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไปก่อนเพื่อประคับประคองให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง แต่ต้องปรับโครงสร้างภาษีให้มีสัดส่วนภาษีทางตรงเพิ่มขึ้น หากเพิ่มภาษีทางอ้อมมากเกินไปจะส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อยและชนชั้นกลาง อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มยังมีความจำเป็นเนื่องจากการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลได้ต่อเนื่องมามากกว่า 10 ปีแล้วและอาจมีความเสี่ยงทางการคลังในอนาคต

เสนอให้ปรับกรอบความยั่งยืนการทางคลังใหม่เนื่องจากไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่เคยกำหนดไว้เมื่อปี พ.ศ. 2553 ที่ต้องการให้จัดทำงบประมาณสมดุลในปี 2560-2561 โดยอาจเลื่อนไปให้สามารถดำเนินการให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2568-2570 โดยต้องเร่งให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปตามศักยภาพที่ระดับ 4-5% เป็นอย่างน้อย ปรับโครงสร้างภาษีและเพิ่มภาษีทางตรงเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะภาษีที่มีฐานจากทรัพย์สินและภาษีบาป เพิ่มประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจเพื่อให้สามารถส่งรายได้เข้าคลังเพิ่มขึ้น แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ลดการรั่วไหลทุจริตคอร์รัปชั่น

เสนอปฏิรูประบบการคลังโดยปฏิรูปกรมจัดเก็บภาษีใหม่ ไม่จัดสรรงบประมาณให้กรมจัดเก็บแต่ให้มีรายได้จากผลงานการจัดเก็บภาษี

หากไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้สูงขึ้น ไม่หาทางเก็บภาษีเพิ่มหรือแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ปล่อยให้ภาวการณ์ขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นไปอีก 3-5 ปีข้างหน้า คาดว่าจะเกิดความเสี่ยงทางการคลังเพิ่มขึ้นอย่างมาก

14.30 น. 12 มี.ค. 2560 ที่มหาวิทยาลัยรังสิต

คณะเศรษฐศาสตร์ และ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต

ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้ความเห็นว่า สนับสนุนการเลื่อนการเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไปก่อนอีก 1 ปี โดยคาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของภาคการบริโภคจะเพิ่มขึ้น 2.7-2.8% เท่านั้น หากปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มในปีนี้อาจทำให้ภาคการบริโภคชะลอตัวลง โดยที่ภาคการบริโภคคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50-51% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ การยืดหรือเลื่อนการปรับขึ้นภาษี VAT จึงเป็นการช่วยประคับประคองให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง แต่ต้องปรับโครงสร้างภาษีให้มีสัดส่วนภาษีทางตรงเพิ่มขึ้น

หากเพิ่มภาษีทางอ้อมมากเกินไปในอนาคตจะส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อยและชนชั้นกลาง อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มยังมีความจำเป็นเนื่องจากการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลได้ต่อเนื่องมามากกว่า 10 ปีแล้ว มีความเสี่ยงทางการคลังเพิ่มขึ้นและสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอาจชนเพดาน 60% ในปี พ.ศ. 2564

แม้นสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพียังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ แต่ยุทธศาสตร์ความยั่งยืนทางการคลังยังไม่สามารถดำเนินได้ตามเป้าหมายที่ตั้งเป้าให้มีการจัดทำงบประมาณสมดุลในปี พ.ศ. 2561 เพราะมีความจำเป็นต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก จึงต้องกู้เงินเพิ่มมาเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ในช่วงปีงบประมาณ 2552-2559 ประเทศไทยขาดดุลงบประมาณสะสมอยู่ที่ 2,687,027 ล้านบาทหรือคิดเป็นเฉลี่ยปีละ 335,878 ล้านบาท หรือเท่ากับร้อยละ 14.4 ของเงินรายได้ของรัฐบาลในปี พ.ศ. 2559 (พูดง่ายๆมีเงิน 100 บาทแต่จ่าย 114.40 บาท)

ดร. อนุสรณ์ กล่าวถึง ข้อเสนอให้ปรับกรอบความยั่งยืนการทางคลังใหม่เนื่องจากไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่เคยกำหนดไว้เมื่อปี พ.ศ. 2553 ที่ต้องการให้จัดทำงบประมาณสมดุลในปี 2560-2561 กรอบเดิมทำไม่ได้แล้ว ต้องยอมรับข้อเท็จจริงและเหตุปัจจัยต่างในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมาไม่ได้อยู่ในสภาวะที่จะทำให้ฐานะการคลังของรัฐบาลดีขึ้น โดยอาจเลื่อนไปให้สามารถดำเนินการให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2568-2570 โดยต้องเร่งให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปตามศักยภาพที่ระดับ 4-5% เป็นอย่างน้อย ปรับโครงสร้างภาษีและเพิ่มภาษีทางตรงเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะภาษีที่มีฐานจากทรัพย์สินและภาษีบาป ภาษี E-commerce และการเก็บภาษีเพิ่มเติมจากแรงงานต่างด้าว เพิ่มประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจเพื่อให้สามารถส่งรายได้เข้าคลังเพิ่มขึ้น แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ลดการรั่วไหลทุจริตคอร์รัปชั่น ตามแผนยุทธศาสตร์กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ได้ทำไว้เมื่อปี พ.ศ. 2553 นั้น ในปีงบประมาณ 2560 นั้นต้องลดการขาดดุลมาอยู่ที่ระดับ 93,000 และ ทำงบประมาณสมดุลหรือเกินดุลได้ 15,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ณ. เวลานี้ คือ งบประมาณปี พ.ศ. 2560 ขาดดุล 3.9 แสนล้านบาท และ ปี พ.ศ. 2561ขาดดุล 4.5 แสนล้านบาทสูงสุดเป็นประวัติการณ์เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก การลงทุนเหล่านี้เป็นการปูพื้นฐานอนาคตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการบูรณาการในระยะยาวให้ประเทศ จึงไม่จำเป็นต้องตัดลดค่าใช้จ่าย รัฐบาลควรเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนเพื่อลดภาระทางการคลัง และต้องดำเนินการให้มีประสิทธิภาพและลดการรั่วไหล รวมทั้งรัฐบาลจำเป็นต้องหารายได้เพิ่ม กำหนดกรอบยุทธศาสตร์ความยั่งยืนทางการคลังขึ้นมาใหม่ ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต ในฐานะที่เคยทำหน้าที่ กรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวเน้นย้ำว่า กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ควรต้องกำหนดขึ้นใหม่นี้ มีความจำเป็นมาก เพราะกรอบเก่าทำไม่ได้แล้ว ต้องกำหนดใหม่เพื่อจะได้กำหนดยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการทางการคลังให้สอดคล้องกับเป้าหมายกรอบความยั่งยืนทางการคลังใหม่ โดยกรอบความยั่งยืนทางการคลังใหม่นี้ ต้องสะท้อนความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะบริหารประเทศโดยยึดหลักเสถียรภาพและความมีวินัยและความยั่งยืนทางการคลัง จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจมีเสถียรภาพและยั่งยืนขึ้น มีความเสมอภาคและความเป็นธรรมในการจัดสรรผลประโยชน์และงบประมาณให้กลุ่มต่างๆในสังคม ประชาชนได้รับผลประโยชน์จากการจัดสรรงบประมาณด้วยความโปร่งใสและยุติธรรมมากขึ้น มีหลักประกันว่า ระบบสวัสดิการต่างๆที่ประชาชนเคยได้รับทั้งเรื่องการศึกษาฟรี สวัสดิการรักษาพยาบาลและบริการทางการแพทย์จะมีงบประมาณในการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง การมีกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ชัดเจนจะช่วยกำกับไม่ให้มีการสร้างภาระหนี้สินให้กับลูกหลาน ภาระการใช้หนี้ของรัฐบาลในอนาคตและเป็นภาระภาษีในอนาคตต่อประชาชนมากเกินไป รวมทั้ง ให้เกิดหลักประกันและความมั่นใจว่าประเทศจะมีงบประมาณในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นอย่างเพียงพอ

ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวอีกว่า ได้เคยมีการเสนอให้มีการปฏิรูประบบการคลัง ขณะที่ทำหน้าที่เป็นทีมที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ เมื่อหลายปีก่อน แต่ข้อเสนอปฏิรูปดังกล่าวไม่มีการดำเนินการ เวลานี้อยากเสนอปฏิรูประบบการคลังเฉพาะในส่วนการปฏิรูปกรมจัดเก็บภาษีใหม่ ไม่จัดสรรงบประมาณให้กรมจัดเก็บแต่ให้มีรายได้จากผลงานการจัดเก็บภาษี กรมสรรพากร หรือ กรมสรรพสามิต จะไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล แต่จะได้รับส่วนแบ่งจากการจัดเก็บภาษีให้กับรัฐบาล 1-2% ของภาษีที่จัดเก็บได้ ยกตัวอย่าง เก็บภาษีได้ 1 ล้านล้านบาท จะได้รับส่วนแบ่ง 10,000-20,000 ล้านบาท เป็นค่าบริหารจัดการของกรมสรรพากร เช่น เงินเดือนของคณะกรรมการ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สรรพากร รวมไปถึงเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดเก็บภาษีด้วย หากกรมสรรพากรเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้า บอร์ดที่ทำหน้าที่บริหารการจัดเก็บภาษีต้องออกไป หรือ อีกวิธีหนึ่ง คือ การเปลี่ยน กรมจัดเก็บภาษี จากระบบราชการ เป็น องค์กรของรัฐ แบบเดียวกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ตลาดหลักทรัพย์ จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและค่าตอบแทนที่เหมาะสมให้กับคนทำงานมากขึ้น หรือ ให้สัมปทาน "เอกชน" ในการทำหน้าที่จัดเก็บภาษีแทนรัฐบางส่วนแต่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ

ดร. อนุสรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า หากไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้สูงขึ้น ไม่หาทางเก็บภาษีเพิ่มหรือแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ปล่อยให้ภาวการณ์ขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นไปอีก 3-5 ปีข้างหน้า คาดว่าจะเกิดความเสี่ยงทางการคลังเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ประเมินมูลค่าปัจจุบันของสินบนโรลส์รอยส์และความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคม ขอสนับสนุนบทบาทของ ปยป ในการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง พร้อม ข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาผ่าน คณะกรรมการ ปยป

15.00 น. 22 ม.ค. 2560 มหาวิทยาลัยรังสิต

ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป คณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต ได้ทำการประเมินมูลค่าปัจจุบันของสินบนโรลส์รอยส์ในเบื้องตัน พบว่า มีมูลค่าปัจจุบัน

โดยรวมจากการให้สินบนและการทุจริตคอร์รัปชันสามครั้งโดยรวมประมาณเท่ากับ 3,417 ล้านบาท (กรณีแรกใช้อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ 5% คำนวณ) เท่ากับ 2,780 ล้านบาท (กรณีที่สอง ใช้อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ 4%) หรือเท่ากับ 2,263 ล้านบาท (กรณีที่สาม ใช้อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ 3%) โดยทั้งสามกรณีใช้อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ 35 บาทต่อดอลลาร์ มูลค่าปัจจุบันของสินบนที่ระดับ 2,263-3,417 ล้านบาทนี้ จะเห็นได้ชัดว่า ความเสียหายและมูลค่าสินบนสูงสุดในยุครัฐบาลรัฐประหาร เผด็จการ รสช ในปี พ.ศ. 2534-2535 อยู่ที่ประมาณ 1,386-2,248 ล้านบาท

จะเห็นได้ว่า กรณีสินบนโรลส์รอยศ์นี้เป็นกรณีตัวอย่างสะท้อนว่า การทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ยังเกี่ยวข้องกันนักการเมืองแต่งตั้งโดยอำนาจรัฐประหารด้วย เกี่ยวข้องกับผู้นำกองทัพ เกี่ยวข้องกับข้าราชการระดับสูงและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจและบอร์ดรัฐวิสาหกิจอีกด้วย กรณีนี้เป็นเพียงรัฐวิสาหกิจเดียวเท่านั้นที่ถูกตรวจสอบและเผยแพร่ข้อมูลโดย สำนักงานปราบปรามการทุจริตของอังกฤษ (Serious Freud Office (SFO) ผมและประชาชนผู้เสียภาษีทั้งหมดและผู้เป็นเจ้าของประเทศนี้ต้องขอขอบพระคุณ สำนักงานปราบปรามการทุจริตของอังกฤษ (Serious Freud Office (SFO) เป็นอย่างสูง และ ขอขอบคุณสื่อมวลชนทุกแห่งที่ได้ทำให้ประเด็นนี้กลายเป็นประเด็นสาธารณะที่ต้องถูกตรวจสอบ สอบสวนและนำมาสู่การกระบวนการยุติธรรมและยึดทรัพย์ต่อผู้กระทำความผิด

ตนในฐานะ อนุกรรมการประเมินผลรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง ที่ทำหน้าที่มาหลายรัฐบาลขอเรียนว่า กรณีการบินไทยไม่ใช่กรณีเดียวอย่างแน่นอนที่มีการติดสินบนการจัดซื้อจัดจ้างเช่นนี้ อาจกล่าวได้ว่า การจัดซื้อจัดจ้างไม่ต่ำ 60%-70% ของรัฐวิสาหกิจหลายแห่งมีปัญหาเช่นนี้ การติดสินบนหรือคอร์รัปชันในลักษณะนี้ได้ทำกันจนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติปรกติ เป็นที่เอือมระอาของบรรดานักธุรกิจและนักลงทุนทั้งหลายที่ไม่เห็นด้วยกับระบบอันฉ้อฉลนี้

ดร. อนุสรณ์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต กล่าวอีกว่า การติดสินบนเช่นนี้และการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นเสมอ และ หลายกรณีก็ไม่ปรากฏว่าเอาผิดใครได้ ทั้งกรณี CTX กรณีการจัดซื้ออาวุธ การรั่วไหลจากการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร เป็นต้น ระบบราชการและรัฐวิสาหกิจจึงซื้อของไม่มีคุณภาพและราคาแพง ให้ประเทศและประชาชนได้มาใช้ บางทีความเสียหายจากการดำเนินการในลักษณะนี้มากมายกว่าความเสียหายทางการเงินเพราะมันหมายถึง ต้นทุนค่าเสียโอกาสของประเทศ การบิดเบี้ยวของการพัฒนา ปัญหาต่างๆในการจัดซื้อที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐาน ทำให้ผู้ปฏิบัติงานในระบบราชการและรัฐวิสาหกิจเสียชีวิตหรือไม่ปลอดภัย กิจการหรือบริษัทดีๆที่ไม่ยอมจ้างสินบนบางแห่งถึงขั้นล้มละลาย ต้องเลิกจ้างพนักงานทำให้เกิดปัญหาการว่างงานอีก ภาคเอกชนไทยก็จะลงทุนทางด้านวิจัยและสร้างนวัตกรรมน้อยแต่จะใช้เงินไปสร้างสายสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจ ข้าราชการระดับสูงในหลายกรมก็ไปเป็นที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เอื้อประโยชน์ให้กันโดยไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล การแต่งตั้งอธิบดีบางกรมต้องผ่านความเห็นชอบกับกลุ่มธุรกิจใหญ่ที่รับสัมปทานจากรัฐก่อน ระบบแบบนี้ สั่นคลอนระบบคุณธรรมในระบบราชการ คนดีมีความรู้ความสามารถขาดโอกาสในการเข้ามาอยู่ในตำแหน่งที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้ดีขึ้นได้

ส่วนต่างค่าคอมมิสชั่นหรือสินบนไปอยู่ในกระเป๋าของผู้มีอำนาจทั้งในระบบรัฐวิสาหกิจ ระบบราชการและระบบการเมืองทั้งแบบแต่งตั้งโดยรัฐประหารหรือเลือกตั้งก็ตาม ขณะที่ภาคเอกชนที่ได้งานไปก็จะนำการจ่ายสินบนเป็นต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ ไม่มีเอกชนรายใดยอมขาดทุน ก็จะไปลดคุณภาพของที่ส่งมอบให้ราชการ ทำให้ราชการได้ของใช้คุณภาพต่ำหรือบางทีใช้ไม่ได้ก็มี เช่น กรณีโกงกล้ายาง ความเสียหายของธนาคารรัฐหลายแห่ง กรณีจัดสร้างโรงพัก กรณีทุจริตโครงการไทยเข้มแข็ง กรณีรับจำนำข้าว กรณีการสร้างถนนที่ชำรุดเร็วมากๆ กรณี GT200 กรณีเรือเหาะ กรณีอุทยาทราชภักดิ์ กรณีอุปกรณ์ทางการแพทย์คุณภาพต่ำ โกงนมโรงเรียน โกงอุปกรณ์การศึกษา เป็นต้น การจัดซื้อของคุณภาพต่ำราคาแพงไม่ได้ส่งผลกระทบระยะสั้นเท่านั้น โดยเฉพาะการทุจริตคอร์รัปชันในแวดวงการศึกษาทำให้เรามีทรัพยากรมนุษย์ที่อ่อนแอมาก ไม่สามารถเป็นความหวังสำหรับอนาคตของสังคมไทยได้

จึงเป็นเรื่องเศร้าสำหรับประเทศที่มีการทุจริตคอร์รัปชันประมาณปีละ 120,000-400,000 ล้านบาท (ตัวเลขจาก หอการค้าไทย) ที่ต้องกู้เงินมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจทั้งที่บางโครงการไม่ต้องกู้หากสามารถลดหรือหยุดการทุจริตคอร์รัปชันได้สัก 50% ของมูลค่าคอร์รัปชันและมูลค่าสินบนที่มีอยู่ในสังคมไทย ขณะเดียวกัน เราจะมีงบประมาณมากขึ้นในการดูแลระบบการศึกษาไทยให้มีคุณภาพ เอกชนไทยอยู่ในสภาวะที่สามารถปรับเพิ่มเงินเดือนให้พนักงานและค่าแรงขั้นต่ำให้กับผู้ใช้แรงงานแรกเข้าให้เพียงพอต่อการดำรงชีพได้สบาย รัฐไม่ต้องมีแรงกดดันทางการเงินการคลังแล้วต้องไปหาวิธีในการตัดสวัสดิการด้านต่างๆโดยเฉพาะสวัสดิการในการรักษาพยาบาลของปร เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต ได้ตั้งข้อสังเกตและมีข้อเสนอแนะ ต่อ คณะกรรมการ ปยป ว่า ในฐานะที่เคยทำหน้าที่ ประธานโครงการปฏิรูปประเทศไทย สำนักพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี (ปี พ.ศ. 2548-2549) คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ปี 2553 แต่งตั้งโดยรัฐสภาจากการเลือกตั้ง) ว่า ขอสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการ ปยป ที่แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี เนื่องจากการสร้างความปรองดองอย่างแท้จริงนั้นต้องอาศัยการปฏิรูปเชิงโครงสร้างด้วยเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งบางเรื่องมีรากเหง้ามาจากปัญหาความขัดแย้งเชิงโครงสร้างซึ่งต้องอาศัยการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง และเห็นด้วยกับประเทศที่ต้องมียุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อกำหนดเป้าหมายทิศทางให้ชัดเจนแต่ต้องเป็นยุทธศาสตร์ที่เกิดจากการปรึกษาหารือและคิดร่วมกัน และขอเรียกร้องให้มีการสร้างความปรองดอง กำหนดยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปบนหลักการประชาธิปไตยซึ่งต้องเปิดกว้าง ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ยึดหลักเหตุผลและสันติธรรม เป็นไปตามหลักนิติรัฐนิติธรรม นิรโทษกรรมนักโทษทางความคิดและทางการเมืองที่ไม่ได้กระทำผิดอาญา นอกจากนี้ อยากให้เอากรณีสินบนโรลส์รอยส์มาเป็นตัวอย่างของการปฏิรูประบบการจัดซื้อจัดจ้างในรัฐวิสาหกิจและระบบราชการให้สำเร็จเป็นรูปธรรมโดยขอเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการภายนอกที่เป็นกลาง เป็นอิสระ ไม่มีส่วนได้เสีย ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในประเทศและต่างประเทศร่วมสอบสวนในกรณีดังกล่าวและทำความจริงให้ปรากฎแก่สาธารณชน

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit