นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) กล่าวถึงการประชุมสภาหนังสือเด็กและเยาวชนนานาชาติ ระดับภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนียครั้งที่ 3 ว่า เนื้อหาหลักของการจัดงานในครั้งนี้ ต้องการนำเสนอแนวคิด "การอ่านเท่ากับชีวิต" เพราะชีวิตของคนเราส่วนใหญ่เติบโตขึ้นมาได้จากการอ่าน โลกในปัจจุบันเป็นยุคของเทคโนโลยี ที่ทำให้เราสามารถอ่านได้ในหลากหลายรูปแบบ เหมือนกับโลกดิจิทัลได้สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับการอ่านและชีวิตเช่นกัน โดยการประชุมในครั้งนี้ได้นำเสนอหัวข้อที่น่าสนใจมากมายเกี่ยวกับโลกการอ่านของเด็กๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ว่าจะเป็นในด้านการเรียนรู้การเล่าเรื่องการอ่านและการศึกษาผ่านหนังสือสำหรับเด็ก ความหลากหลายและวัฒนธรรม โดยเฉพาะวิถีชีวิตแบบใหม่และสื่อดิจิทัลที่เข้ามาเปลี่ยนการใช้เวลาของเด็กๆ นั่นเป็นปัจจัยสำคัญเรื่อง "การเรียนรู้สื่อใหม่" สำหรับเด็กซึ่งเป็นหน้าที่ที่เราต้องสร้างความสมดุลระหว่างสื่อดิจิทัลกับหนังสือเด็กในรูปของสิ่งพิมพ์ เพื่อให้การอ่านหนังสือยังคงมีคุณค่าและความสำคัญต่อเด็กๆ และเยาวชนต่อไป
สำหรับการประชุมสภาหนังสือเด็กและเยาวชนนานาชาติระดับภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนียครั้งที่ 3 (The 3rd Asia Oceania Regional IBBY Congress) นี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรจาก 23 ประเทศทั่วโลกทั้งนักวิชาการ นักเขียน นักวาดภาพประกอบ ตัวแทนสำนักพิมพ์ บรรณารักษ์ มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นและประสบการณ์อย่างน่าสนใจ ได้แก่ คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ประธานมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กปาฐกถาเรื่อง "การอ่าน = ชีวิต: การอ่านในยุคดิจิทัล", มร. วอลลี่ เดอ ดองค์เกอร์ (Mr. Wally de Doncker) ประธานสภาหนังสือเด็กและเยาวชนนานาชาติเรื่อง "ทิศทางสภาหนังสือเด็กและเยาวชนในยุคดิจิทัล", มร. ทาคาชิ คุโรดะ (Mr. Takaaki Kuroda) หัวหน้าบรรณาธิการและผู้จัดการทั่วไป สำนักพิมพ์Gakken Plus ประเทศญี่ปุ่นให้ทัศนะเรื่อง "พลิกโฉมหนังสือเรียนสำหรับเด็ก - เมื่อหนังสือผสานเทคโนโลยี", อาจารย์สมบูรณ์ ศิงฆมานันท์ นักวิชาการด้านวรรณกรรมเด็ก ผู้เคยรับรางวัลจากสภาหนังสือเด็กและเยาวชนนานาชาติ เรื่อง "คืนสู่รากเหง้าและเรียนรู้กับหนังสือข้าวเพียงเมล็ดเดียว" และ มร. โทมัส เมอ ริงตัน (Mr. Thomas Merrington) หัวหน้าฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์และผู้จัดการแบรนด์ ปีเตอร์แรบบิท ประเทศอังกฤษ เรื่อง "ปลุกชีวิตตัวละครให้ดังข้ามศตวรรษ-กรณีศึกษาจากเรื่อง กระต่ายน้อยปีเตอร์ แรบบิท ของ บีทริกซ์ พ็อตเตอร์"
นอกจากนี้ภายในงานยังมีกิจกรรม Workshop ที่น่าสนใจ อาทิ การเล่านิทานในยุคดิจิทัล โดยKeiko Harikae ผู้อำนวยการ และ Emiko Goeku บรรณารักษ์จากห้องสมุดเด็กโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น, เรียนรู้การเย็บหนังสือผ้า โดย Mokomoko Group ผู้บุกเบิกหนังสือภาพที่ทำจากผ้าที่มีชื่อเสียงในประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 1979 โดยมีผลงานต้นแบบกว่า 260 ชิ้น กิจกรรมเวิร์กชอปนี้เพื่อแสดงให้เห็นถึงวิธีการจัดทำหนังสือภาพจากผ้าที่อ่านได้ง่ายสำหรับเด็กทุกคน รวมทั้งเด็กพิการด้วย, Mind Based Learning (MBL) เรียนด้วยจิตสร้างปัญญา พัฒนามนุษย์ โดยดิสสกร กุนธร มูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา, เทคนิคการปลูกฝังความรักการอ่านจากครูผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมและผู้เล่าเรื่องสำหรับเด็ก จากประเทศอาร์เจนตินา, ความมหัศจรรย์ของ "คามิชิไบ" (Kamishibai) โดยตัวแทนของสมาคมคามิชิไบนานาชาติ (IKAJA) แห่งประเทศญี่ปุ่นที่ส่งเสริมการเล่านิทานประกอบภาพ หรือ "ละครกระดาษ"ภาพวาดเลื่อนเป็นฉากๆ เพื่อเล่าเรื่องราวต่างๆเป็นต้น
และอีกหนึ่งไฮไลท์ที่พลาดไม่ได้ สำหรับงานประชุมสภาหนังสือเด็กและเยาวชนนานาชาติระดับภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนียครั้งที่ 3 (The 3rd Asia Oceania Regional IBBY Congress) ครั้งนี้ คือ นิทรรศการ "The Century of Children's Books in Thailand" ที่อ้างอิงจากวิทยานิพนธ์ของ อ.เกริก ยุ้นพันธ์ จากภาควิชาวรรณกรรมเด็ก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับ วิวัฒนาการหนังสือเด็กในประเทศไทยในช่วง 100 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันและนิทรรศการ "Local Knowledge Book Series"หนังสือภาพสื่อสาระท้องถิ่นสำหรับเยาวชน ผลงานของทีเค พาร์ค ที่ถ่ายทอดความหลากหลายทางวัฒนธรรมของหนังสือภาพสำหรับเด็กจากทุกภูมิภาคของประเทศไทย
"การสร้างสรรค์สื่อการเรียนรู้สาระท้องถิ่น มีรูปแบบการนำเสนอที่ทันสมัยและดึงดูดความสนใจ ซึ่งสำนักงานอุทยานการเรียนรู้เล็งเห็นว่า หนังสือภาพสื่อสาระท้องถิ่นสำหรับเยาวชนมีส่วนในการสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชนสนใจการอ่านและใฝ่หาความรู้อย่างต่อเนื่อง โดยนำเรื่องราวภูมิปัญญาสาระท้องถิ่นใกล้ตัวที่สอดคล้องกับวัย การดำรงชีวิต พร้อมกับสอดแทรกแนวคิดด้านคุณธรรม จริยธรรม มาเป็นเนื้อหาของสื่อการเรียนรู้สำหรับเยาวชนตามช่วงวัย ตั้งแต่ 4-12 ปี ปัจจุบันหนังสือภาพสื่อสาระท้องถิ่นมี จำนวนทั้งสิ้น 48 เล่ม ครอบคลุมทั้ง 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ และจัดทำขึ้น 3 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ และมลายูกลาง ซึ่ง ทีเค พาร์ค มุ่งหวังว่า การสร้างสรรค์หนังสือภาพสื่อสาระท้องถิ่นจะเป็นสื่อการเรียนรู้ที่จะส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหมายถึง เป็นหนังสือที่ผู้อ่าน ได้รับความรู้ และความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมและท้องถิ่นตน รวมทั้งก่อให้เกิดความเข้าใจและการยอมรับในวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่หลากหลายตามบริบทพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไป ผู้อ่านอ่านอย่างมีความสุข สนุกในการอ่าน และก่อให้เกิดความตระหนักในคุณค่าของท้องถิ่นตนเองได้อย่างแท้จริง"
ทั้งนี้เฉพาะในส่วนของนิทรรศการ ผู้สนใจทั่วไปสามารถเข้าชมได้ในระหว่างวันที่ 12-14 พฤษภาคม 2560 ณ อุทยานการเรียนรู้ (TK park) ชั้น 8 อาคารศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit