กระทรวงพลังงานเนรมิต “อาคารศาลาไทย” พร้อมโชว์ “พลังงานชีวภาพ เพื่อมนุษยชาติ” ใน Astana Expo 2017

25 May 2017
กระทรวงพลังงาน เตรียมโชว์ศักยภาพการพัฒนาพลังงานชีวภาพของประเทศไทย ดินแดนแห่งพืชผลพลังงาน ในงาน Astana Expo2017 ณ กรุงอัสตานา สาธารณรัฐคาซัคสถาน พร้อมเนรมิตอาคารศาลาไทย ภายใต้แนวคิด "Bioenergy for All" ดึงนานาชาติพัฒนาพลังงานชีวภาพเพื่อมนุษยชาติ ตั้งเป้าอาคารศาลาไทยติดอันดับพาวิลเลียนที่มีผู้เข้าชมสูงสุด
กระทรวงพลังงานเนรมิต “อาคารศาลาไทย” พร้อมโชว์ “พลังงานชีวภาพ เพื่อมนุษยชาติ” ใน Astana Expo 2017

พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่าขณะนี้ประเทศไทยมีความพร้อมในการเข้าร่วมงาน International Exposition 2017 หรือ Astana Expo 2017 ซึ่งจัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลัก"พลังงานแห่งอนาคต (Future Energy)" ณ กรุงอัสตานา สาธารณรัฐคาซัคสถาน ระหว่างวันที่ 10 มิถุนายนถึงวันที่ 10 กันยายน 2560 โดย "อาคารศาลาไทย" (Thailand pavilion) พร้อมเปิดให้ผู้เข้าร่วมงานจากประเทศต่างๆ กว่า 115ประเทศ ทั่วโลก เข้าชมเต็มรูปแบบ มั่นใจว่าอาคารศาลาไทยจะเป็นหนึ่งในพาวิลเลียนยอดนิยมที่มีจำนวนผู้เยี่ยมชมกว่า 5แสนคน

"ประเทศไทยเรามีศักยภาพในด้านพลังงานชีวภาพอย่างมาก เพราะเราเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ทางด้านเกษตรกรรม การไปโชว์ศักยภาพในงานระดับโลกครั้งนี้ กระทรวงพลังงานจึงได้นำข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจด้านพลังงานชีวภาพของไทย รวมทั้งข้อมูลด้านการเกษตรที่เชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาพลังงาน ซึ่งประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากในการพัฒนาพลังงานชีวภาพ (Bioenergy) จากการน้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทยมาเป็นแนวทางในการพัฒนาโครงการด้านพลังงาน และปัจจุบันกระทรวงพลังงานก็มีนโยบายในการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมด้านพลังงานใหม่ๆ การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับด้านพลังงาน เพื่อต่อยอดธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานของประเทศให้เติบโตและก้าวหน้า อีกทั้งยังได้แสดงศักยภาพการท่องเที่ยว การผลิตอาหารในฐานะครัวของโลกของประเทศไทย รวมทั้งยังกระชับความสัมพันธ์กับหลากหลายประเทศ โดยเฉพาะสาธารณรัฐคาซัคสถาน และกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS)"

ปัจจุบัน เศรษฐกิจของคาซัคสถานยังไม่หลากหลาย ส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพารายได้การส่งออกจากภาคพลังงานเป็นหลัก ในขณะที่เศรษฐกิจภาคการเกษตรของคาซัคสถานยังมีขนาดเล็ก ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรที่ผลิตได้ไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ จึงต้องนำเข้าสินค้าอาหาร และเกษตรจากต่างประเทศจำนวนมาก ในขณะเดียวกันประเทศไทยมีศักยภาพทางการผลิตสินค้าเกษตร จึงเป็นโอกาสของไทยที่จะขยายการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังคาซัคสถาน รวมถึงสินค้าฮาลาล เนื่องจากคาซัคสถานมีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนประชากรทั้งหมด การจัดงานครั้งนี้ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นในการ เปิดตลาดทางด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกันอีกด้วย

ด้านนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สำหรับ"อาคารศาลาไทย" (Thailand Pavilion) จัดขึ้นภายใต้แนวคิด"การพัฒนาด้านพลังงานชีวภาพเพื่อมนุษยชาติ (Bioenergy for All)"ต้องการสื่อถึงพลังงานเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน และศักยภาพของประเทศไทยในด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนและความก้าวหน้าในการพัฒนาพลังงานชีวภาพ (Bioenergy)จากการน้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงเป็นพระบิดาแห่งพลังงานไทย และเป็นต้นแบบในเรื่องปรัชญา"ความพอเพียง"มาใช้เป็นแนวทางในการใช้ทรัพยากรในประเทศที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า บนขนาดพื้นที่ 974.67 ตารางเมตร แบ่งเป็น 2 ชั้นการจัดแสดงผ่านการนำเสนอในรูปแบบ"EDUTAINMENT" หรือการเรียนรู้ ควบคู่ความสนุกผ่าน 3 ห้องนิทรรศการหลัก ได้แก่นิทรรศการห้องที่1: Our Ways, Our Thai สัมผัสวิถีความเป็นไทย เอกลักษณ์ความงดงามของธรรมชาติ และวัฒนธรรม ควบคู่กับการพัฒนาด้านพลังงานทดแทนในรูปแบบ Live Exhibition, นิทรรศการห้องที่ 2 : Farming the Future Energy ห้องสรุปเรื่องราวแนวคิดของThailand Pavilion ในรูปแบบ 3D Theater และถือเป็นไฮไลท์สำคัญบอกเล่าเรื่องราวในห้องทดลองสุดมหัศจรรย์ และการกำเนิดของพลังงานแห่งอนาคต'พลัง'ข้าวโพดน้อยในรูปแบบหุ่นยนต์ Animatronic เคลื่อนไหวเสมือนจริงและนิทรรศการห้องที่ 3 : Energy Creation Lab พบกับพลังงานชีวภาพ และชีวมวลจากพืชพลังงานทั้งหมด 9 ชนิด ประกอบด้วย อ้อย ยูคาลิปตัส ยางพารา หญ้าเนเปียร์ ข้าว ข้าวโพด มูลสัตว์ของเสีย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ในรูปแบบInteractive Exhibition

ส่วนการจัดแสดงชั้นที่ 2 เป็นพื้นที่รับรองแขกพิเศษ ร้านค้าอาหารไทย กาแฟ และพื้นที่สำหรับการจัดBusiness Matching และ Investment Clinic และการสาธิตการนวดแผนไทย ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ยังได้คัดเลือกตัวแทนอาสาสมัครโครงการ Thailand Pavilion Ambassador 2017 จำนวน 10 คน เพื่อเป็นเสมือนทูตเยาวชนที่จะประสานความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้ง 2 ประเทศอีกด้วย

สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้าง "อาคารศาลาไทย" ขณะนี้อาคารศาลาไทยเสร็จสมบูรณ์ไปกว่า 90% โดยเฉพาะงานโครงสร้างเหลือเพียงงานตกแต่งเท่านั้น มั่นใจว่าประเทศไทยจะเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่สามารถเข้าพื้นที่และดำเนินการก่อสร้างเสร็จก่อนกำหนด โดยอาคารศาลาไทยจะเปิดทดลองระบบทั้งหมดได้ภายในต้นเดือนมิถุนายนนี้ และพร้อมที่จะประกาศศักยภาพบนเวทีระดับโลกอย่างเป็นทางการในวันที่ 10 มิถุนายน 2560

ขณะที่การประชาสัมพันธ์อาคารศาลาไทยในสาธารณรัฐคาซัคสถานถือว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยใช้กลยุทธ์การนำเสนอที่ผสมผสานเน้นสร้างการรับรู้และความประทับใจในอาคารศาลาไทยอาทิ การโรดโชว์และประชาสัมพันธ์การจัดงานด้วยเทคนิค VR 360 Thailand Pavilion พร้อมด้วยมาสคอต"น้องพลัง" เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับชาวคาซัคสถานไปยังสถานที่สำคัญต่างๆ ตั้งแต่ก่อนเริ่มงานในเมืองอัสมาตี และเมืองอัสตานาอย่างต่อเนื่อง

กระทรวงพลังงานเนรมิต “อาคารศาลาไทย” พร้อมโชว์ “พลังงานชีวภาพ เพื่อมนุษยชาติ” ใน Astana Expo 2017 กระทรวงพลังงานเนรมิต “อาคารศาลาไทย” พร้อมโชว์ “พลังงานชีวภาพ เพื่อมนุษยชาติ” ใน Astana Expo 2017