โซน 1 สวนสรุป คือประตูด่านแรกที่จะนำผู้ชมไปเรียนรู้วิกฤตต้มยำกุ้งร่วมกัน ผ่านการนำเสนอข้อมูลทางเศรษฐศาสตร์ ในรูปแบบของสนามเด็กเล่นบริเวณกลางแจ้ง อาทิ "สไลเดอร์" สะท้อนการล้มคะมำของเศรษฐกิจไทย "ม้ากระดก" แสดงค่าเงินบาท ก่อนและหลังลอยตัว "บาร์โหน" สะท้อนความรุ่งเรืองที่ไม่หวนคืนของตลาดหุ้นไทย
โซน 2 กำแพงข่าวเล่าสถานการณ์ เป็นการจำลองบรรยากาศกำแพงข่าวในโรงเรียน มาจัดแสดงข้อมูลสถานการณ์ต้มยำกุ้ง โดยใช้ภาพการ์ตูนของ "บัญชา คามิน" การ์ตูนนิสต์ที่โดดเด่นที่สุดในยุคนั้น มาสื่อสารทั้งข้อมูลและอารมณ์ของยุคสมัยในลักษณะ "ทีเล่น ทีจริง" อันจะช่วยให้ผู้ชมย้อนรำลึกถึงสังคมไทยในยุควิกฤติต้มยำกุ้งได้เป็นอย่างดี
โซน 3 ห้องภาระศึกษา โซนนี้ล้อมาจากวิชาพละศึกษา โดยมีเนื้อหาว่าด้วยภาระหนี้ที่คนไทยทุกคนต้อง แบกรับไว้แม้วิกฤตการณ์จะผ่านไปกว่า 20 แล้วก็ตาม ซึ่งจัดแสดงข้อมูลโดยใช้เครื่องมือในการออกกำลัง ได้แก่ ดรัมเบลล์ เป็นสื่อนำ
โซน 4 ห้องสันทนาการ เป็นโซนที่จัดให้มีบรรยากาศสบายๆ พร้อมนำเสนอสังคมในยุคฟองสบู่ ผ่านสื่อภาพยนตร์ และวัตถุจัดแสดงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ไม้กอล์ฟสร้างคอนเนคชั่นธุรกิจ กระเป๋าแบรนด์เนมที่นำเทรนด์ในยุคนั้น เป็นต้น
โซน 5 ประสบการณ์ชีวิต เสนอข้อมูลช่วงฟองสบู่แตก และชีวิตของผู้คนที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นด้านลบ หรือด้านบวก ตลอดจนทางออกต่างๆ ที่คนในสังคมไทยดิ้นรน ณ เวลานั้น เช่น ผ้าป่าช่วยชาติ ตลาดเปิดท้ายขายของ เศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น
โซน 6 วิชาความน่าจะเป็น เผยเหตุปัจจัยของการเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งใน 5 แนวทาง ผ่านมุมมองของ "ศาสตราจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์" นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญของเมืองไทย อันประกอบไปด้วย ความเปราะบางของเศรษฐกิจไทย คอรัปชั่นและทุนนิยมพวกพ้อง ภาวะย่ามใจทางศีลธรรม การแข่งขันการลดค่าเงิน และความตื่นตระหนกทางการเงิน
โซน 7 การงานพื้นฐานอาชีพ นำเสนอข้อคิด บทเรียน จากคนในอาชีพต่างๆ อาทิ นักเขียน นักแปล สื่อมวลชน
นักออกแบบแนวคิด นักทำภาพยนตร์ เจ้าของธุรกิจ ผู้เคยผ่าน หรือได้รับผลกระทบจากวิกฤติต้มยำกุ้ง ผ่านบทสัมภาษณ์เพื่อเป็นแนวทางหรือภูมิคุ้มกันให้คนรุ่นใหม่ไว้ศึกษา
โซน 8 วิชาประวัติศาสตร์เพื่ออนาคต เป็นการสรุปรวบยอด และสร้างการแบ่งปันประสบการณ์ การมีส่วนร่วมของผู้ชมต่อนิทรรศการ ผ่านการแสดงความคิดเห็น
ทั้งนี้ นิทรรศการ "ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน" เปิดให้เข้าชมฟรี ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2560 เวลา 10.00 – 18.00 น. (ปิดวันจันทร์) ณ มิวเซียมสยาม ท่าเตียน กรุงเทพฯ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-225-2777 หรือwww.facebook.com/museumsiamfan
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit