ทุกคนรู้ดีว่า "การนอนหลับ" คือ การพักผ่อนที่ดีที่สุด เพราะเป็นการช่วยเติมพลัง และการทำงานของร่างกายเกิดความสมดุล เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้สุขภาพแข็งแรง แต่สิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้คือ บางครั้งพฤติกรรมการนอนที่ผิดปกติโดยที่เราไม่รู้ตัวนั้น ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพของคุณและคนใกล้ชิดได้เช่นกันเนื่องปัจจุบันพบตัวเลขในการตรวจเรื่องการนอนหลับไม่สนิท นอนกรน การหายใจผิดปกติขณะนอนหลับ ภาวะวูบหลับโดยไม่รู้สาเหตุ ใน 1 ปี พบผู้ป่วยที่มาปรึกษาแพทย์จำนวน 400 – 500 คน
ดร.นพ.โยธิน ชินวลัญช์ แพทย์เฉพาะทางด้านระบบประสาทวิทยา โรคลมชัก การนอนหลับผิดปกติ และโรคความจำถดถอย ศูนย์สมองและระบบประสาทกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่าศูนย์สมองและระบบประสาทกรุงเทพ ขยายการบริการเพื่อรองรับผู้ป่วยที่เข้ามารักษามากขึ้น โดยจัดตั้งศูนย์ตรวจการนอนหลับและศูนย์ลมชักกรุงเทพ (Bangkok Sleep & Epilepsy Center) เป็นห้องตรวจ Sleep Lab เพื่อตรวจผู้ป่วยที่มีปัญหาผิดปกติในระหว่างการนอน อาทิ นอนกรน มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ง่วงนอนมากผิดปกติ และผู้ป่วยโรคลมชัก พร้อมแนะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสำหรับตรวจวินิจฉัยโรคอย่างตรงจุดประกอบด้วยด้วยทีมแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ทางการนอนหลับ เพื่อช่วยวางแผนการรักษาได้อย่างตรงจุด จำนวนผู้ป่วยที่พบความผิดปกติทางสมองที่เพิ่มมากขึ้น โรคที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหานอนกรน หายใจผิดปกติ นอนละเมอ หลับมากเกินไป หรือหลับทั้งกลางวันและกลางคืน หลับนาน 3-4 วัน จนส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ทำให้ร่างกายรู้สึกไม่สดชื่น เพราะนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ อาจจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ โรงพยาบาลมีความพร้อมในทีมแพทย์ทางด้านสมองและจิตเวช รวมถึงแพทย์จากแผนกหู ตา คอ จมูก โรคปอด และแผนกเด็ก พร้อมด้วยบุคลากรทางการแพทย์คอยดูแลผู้ป่วย ทำให้การตรวจวินิจฉัย และการวางแผนการรักษาทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ พบว่า มีปัญหาความผิดปกติในการนอนร่วมด้วย ซึ่งอาการของการนอนหลับผิดปกติ (Sleep Disorders) เหล่านี้พบมากขึ้นเรื่อยๆ และกำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง เพราะถือเป็นภัยเงียบที่เป็นต้นเหตุสำคัญ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ตามมาได้ อาทิ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น
อาการที่อาจเกิดขึ้นจากการนอนหลับไม่เต็มที่ซึ่งพบได้บ่อย เช่น ง่วงและเพลียกลางวัน ประสิทธิภาพความคิด ความจำลดลง ลืมง่าย กลางคืนหลับๆตื่นๆ นอนกรน และหากสังเกตอย่างใกล้ชิดจะพบว่าผู้ที่นอนกรนจะหยุดกรนไปชั่วขณะหนึ่ง ช่วงนั้นเองที่มีการหยุดหายใจเกิดขึ้น และเมื่อระดับออกซิเจนในเลือดลดลงถึงระดับหนึ่งจากการหยุดหายใจ ร่างกายจะมีกลไกตอบสนองภาวะนี้ โดยจะทำให้การหลับของคนที่กรนและหยุดหายใจนั้นถูกขัดขวาง ทำให้ตื่นขึ้น โดยจะมีอาการเหมือนสะดุ้งเฮือก หรืออาการเหมือนสำลักน้ำลายตนเอง แล้วก็กลับมาเริ่มหยุดหายใจใหม่
อาการกรน และหยุดหายใจในขณะหลับพบได้ในทุกคน ทั้งผู้ชายและผู้หญิง โดยพบบ่อยในผู้ชาย และอ้วน คนที่มีอายุมากขึ้นมีความเสี่ยงมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยมักมีปัญหานอนกรนและความผิดปกติข้างต้น ได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้น การรักษา จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว และพิจารณาการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป ผู้ป่วยสามารถรับการตรวจการนอนหลับ โดย Sleep Lab เพื่อวินิจฉัยและประเมินระดับความรุนแรงของโรค การตรวจแบบนี้จะประกอบด้วย การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง คลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ ใต้คาง และขา การกลอกลูกตา คลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือด การตรวจวัดลมหายใจทางปากและจมูก ร่วมกับความสามารถของกล้ามเนื้อหน้าอกและท้องที่ใช้ในการหายใจ ในห้องพักผู้ป่วย ซึ่งศูนย์ตรวจการนอนหลับ พร้อมให้บริการทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน สามารถตรวจได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ที่อุปกรณ์ครบครัน ในบรรยากาศที่เหมือนห้องนอนในบ้านหากพบมีอัตราการหยุดหายใจมากระดับหนึ่งอาจมีความจำต้องใช้เครื่องเป่าลมในทางเดินหายใจส่วนบน (continuous positive airway pressure) หรือ CPAP เพื่อเปิดทางเดินหายใจ ช่วยลดอาการหยุดหายใจในขณะหลับ และอาการกรน โดยปกติเวลานอน ลิ้นไก่ที่ยาว และโคนลิ้นที่โต จะตกลงมาบังทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบ ลมที่เป่าเข้าไป จะไปถ่างทางเดินหายใจให้กว้างออก (pneumatic splint) ช่วยลดการอุดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้ผู้ป่วยไม่กรน และไม่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหานอนกรนธรรมดา หรือภาวะก้ำกึ่งระหว่าง กรนธรรมดา และกรนอันตราย หรือเป็นกรนอันตรายที่มีความรุนแรงอยู่ในระดับน้อยถึงรุนแรง ปัจจุบันตัวเครื่อง CPAP มีขนาดเล็ก สามารถพกพาไปที่ไหนๆ ได้ค่อนข้างสะดวก การใช้เครื่อง CPAP จะเหมือนการใส่แว่นตาใหม่ๆ คืออาจรู้สึกอึดอัดบ้างในช่วงแรก ต้องใส่ๆ ถอดๆ เมื่อชิน ก็จะใส่ได้เอง การรักษาวิธีนี้ผู้ป่วยควรใช้เครื่อง CPAP ทุกคืน คืนใดไม่ใช้ ก็จะมีอาการกรนหรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับอีก
นอกจากภาวะการนอนกรน หรือหยุดหายใจขณะนอนหลับ ยังมีมีอาการง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน ทำให้เรียนหรือทำงานได้ไม่เต็มที่ ง่วงนอนในขณะขับรถจนก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ และยังอาจส่งผลต่อคนรอบข้าง นอกจากนั้นจะมีอัตราเสี่ยงสูงที่จะพบภาวะหยุดหายใจในขณะนอนหลับร่วมได้กับเป็นโรคอื่นๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคความดันโลหิตในปอดสูง โรคหลอดเลือดในสมอง ซึ่งภาวะง่วงนอนมากผิดปกติ อาจเป็นได้จากหลายสาเหตุ เนื่องจากการนอนหลับที่มีคุณภาพไม่ได้ขึ้นอยู่กับเวลาแค่จำนวน 7-8 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับระดับความลึกของการนอนหลับ เพื่อให้ร่างกายและสมองได้รับ การพักผ่อนอย่างเต็มที่ และเวลาเข้านอน-ตื่นนอนที่เหมาะสม ไม่ควรนอนดึก หรือตื่นสายจนเกินไป มีบางภาวะเกิดจากความผิดปกติของสมอง มีผลทำให้ง่วงนอน ผิดปกติ หรืออาจเกิดได้จากสาเหตุต่างๆ ได้แก่ Narcolepsy หรือโรคลมหลับ โดยคนไข้ในกลุ่มนี้จะมีอาการง่วงนอนในเวลากลางวันถ้าได้งีบจะรู้สึกสดชื่นขึ้น แต่ไม่นานก็มักจะมีอาการง่วงอีก บางคนในขณะมีอารมณ์ขันอาจมีอาการ คอพับ เข่าทรุดหรือความตึงตัว ของกล้ามเนื้อลดลงทันทีทันใด ทำให้อ่อนแรงฉับพลันชั่วขณะหนึ่ง หงุดหงิดง่าย อาจเริ่มมีอาการตั้งแต่ช่วงเด็กหรือวัยรุ่นแล้วมีอาการต่อเนื่องมาจนถึงวัยกลางคน ส่วน Idiopathic hypersomnia เป็นคนไข้ที่มีอาการง่วงนอนตลอดเวลา ถึงแม้จะนอนหลับในช่วงกลางคืนเป็นระยะเวลาที่นานพอ และหลับได้ลึกเพียงพอแล้วก็ตาม คนไข้ในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้สึกสดชื่นเมื่อได้งีบกลางวัน ซึ่งอาการเหล่านี้ควรต้องพบแพทย์เพื่อได้รับคำแนะนำอย่างถูกต้อง อาการนอนไม่เป็นเวลาหรืออดนอน เกิดได้จากปัจจัยที่เข้ามากระตุ้นต่างๆ เช่น การนอนมากเกินไปในคืนก่อนหน้า การนอนกลางวันมากเกินไป การนอนไม่หลับที่เกิดจากความเครียด บางคนคิดว่าตนเองนอนไม่หลับแต่จริงๆ แล้วนอนหลับ นอกจากนี้จะมีภาวะหยุดหายใจแบบไม่ชัดเจน และโรคง่วงมากแบบไม่มีสาเหตุ หลับลึกไม่มีอาการกรน ไม่ฝัน แต่ยิ่งตื่นยิ่งมีอาการมึน ปวดศีรษะ อันนี้เราจะทราบเมื่อผู้ป่วยในกลุ่มนี้มาทำการศึกษาการนอนหลับโดยการตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าสมองแล้ว พบว่าจริงๆ แล้วคนไข้นอนหลับในขณะที่ตนเองรู้สึกว่ายังไม่หลับ การรักษาโดยการใช้ยาหรือไม่ใช้ยาขึ้นอยู่กับอาการและดุลยพินิจของแพทย์
ปัจจุบันมีเครื่อง Actigraphy ลักษณะเหมือนนาฬิกา เป็นเครื่องมือจับวัดการเคลื่อนไหว (accelerometer) ซึ่งสามารถวัดความแรง (intensity) และความถี่ (frequency) ของการเคลื่อนไหวของร่างกาย ติดตามพฤติกรรมคนไข้ขณะหลับเพื่อแปรผลช่วงหลับตื่น โดยจะสวมเครื่องมือที่ข้อมือข้างที่ไม่ถนัด ตลอด 1 สัปดาห์ที่บ้าน และเครื่องมือจะบันทึกการเคลื่อนไหวห่างกันในทุก 1 – 5 วินาที ข้อมูลที่ได้จะถูกวิเคราะห์เพื่อประเมินวงจรการหลับ-ตื่นร่วมกับการตรวจ sleep test โดยแพทย์จะเป็นผู้วิเคราะห์และอ่านผล เพื่อวางแผนการรักษาในผู้ป่วยแต่ละราย ศูนย์ตรวจการนอนหลับและศูนย์ลมชักกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ (Bangkok Sleep & Epilepsy Center) พร้อมแล้วที่จะให้คำปรึกษาและตรวจวินิจฉัยความผิดปกติทางสมองให้กับผู้ป่วยได้ตลอด 24 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center โทร. 1719
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit