ทิสโก้มองข้อตกลง OPEC ดันน้ำมันขึ้นแค่ระยะสั้น พร้อมเตือน 2 ปัจจัยเสี่ยง จากการบังคับใช้ และการเร่งการผลิตของสหรัฐฯ กดดันระยะยาว

03 Oct 2016
ผู้เชี่ยวชาญทิสโก้มองข้อตกลงลดโควต้าการผลิตน้ำมันของ OPEC จะช่วยพยุงราคาน้ำมันแค่เพียงในระยะสั้น พร้อมเตือนความไม่แน่นอนในการบังคับใช้โควต้า หลังข้อมูลในอดีตชี้ว่าไม่สามารถใช้ได้จริง นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการเพิ่มกำลังผลิตน้ำมันจากสหรัฐฯ ส่งผลกดดันราคาน้ำมันระยะยาว
ทิสโก้มองข้อตกลง OPEC ดันน้ำมันขึ้นแค่ระยะสั้น พร้อมเตือน 2 ปัจจัยเสี่ยง จากการบังคับใช้ และการเร่งการผลิตของสหรัฐฯ กดดันระยะยาว

นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (Mr. Komsorn Prakobpol, Head of Strategy Unit, TISCO Economic Strategy Unit: TISCO ESU) กล่าวว่า ในการประชุมเมื่อวันที่ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา กลุ่ม OPEC ได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นในการลดโควต้าการผลิตน้ำมันของกลุ่มเป็น 32.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากระดับปัจจุบันในเดือน ส.ค. ที่ 33.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ลดลงราว -3.5% หรือ -1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ซึ่งเป็นการตกลงลดโควต้าการผลิตน้ำมันครั้งแรกในรอบ 8 ปี ส่งผลให้ตลาดตอบรับในเชิงบวก โดยราคาน้ำมัน WTI และ Brent +5.3% และ +5.9% เป็น 47.26 และ 48.94 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ

"เรามองว่าการลดโควต้าการผลิตน้ำมันจะส่งผลต่อปัจจัยพื้นฐานของราคาน้ำมันในปีหน้าอย่างมีนัยสำคัญหากสามารถบังคับใช้ได้จริง โดยโควต้าการผลิตใหม่จะส่งผลให้ตลาดเข้าสู่สมดุลได้เร็วขึ้นจากไตรมาส 2/2017 เป็นไตรมาส1/2017" นายคมศร กล่าวอย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเพียงข้อตกลงในเบื้องต้น โดยกลุ่ม OPEC ยังต้องหารือในรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อกำหนดโควต้าของแต่ละประเทศในการประชุมวันที่ 30 พ.ย. นี้ ซึ่งยังมีความเสี่ยงที่แต่ละประเทศจะไม่ยอมลดปริมาณการผลิตตามโควต้าที่ตกลงกันไว้ และจากข้อมูลในอดีตยังชี้ว่าโควต้าการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC นั้นไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างเคร่งครัดนัก โดยในช่วงปี 2009-2015 กลุ่มประเทศ OPEC มีการผลิตน้ำมันเฉลี่ยสูงกว่าโควต้าที่กำหนดไว้ราว 4.5% ซึ่งหากในครั้งนี้ประเทศสมาชิกผลิตน้ำมันเกินกว่าโควต้าเพียงแค่ 3.5% ก็จะส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันไม่ได้ลดลงจากปัจจุบัน นอกจากนี้หลายประเทศในกลุ่ม OPEC กำลังประสบปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างหนัก ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้แต่ละประเทศเร่งผลิตและส่งออกน้ำมัน เพื่อลดการขาดดุลดังกล่าว

ด้านการผลิตน้ำมันในสหรัฐฯเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว โดยจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากราว 300 แท่นในช่วงปลายเดือน มิ.ย. มาอยู่ที่ 418 แท่นในปัจจุบัน (เพิ่มขึ้นกว่า 30%) ตามราคาน้ำมันที่ฟื้นตัวขึ้นมายืนที่ระดับ 40-50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล (จากประมาณ 30 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลในช่วงไตรมาส 1) ซึ่งการเพิ่มขึ้นของแท่นขุดเจาะน้ำมันชี้ว่าระดับราคาน้ำมันที่ 40-50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลนั้น สูงเพียงพอที่จะทำให้ผู้ผลิตน้ำมัน Shale Oil ในสหรัฐฯ กลับมามีกำไรและเริ่มหันกลับมาลงทุนขุดเจาะน้ำมันเพิ่มขึ้น และทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ ซึ่งมักเคลื่อนไหวตามหลังจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันอยู่ราว 3-4 เดือนมีแนวโน้มกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 4

ข้อตกลงลดโควต้าการผลิตน้ำมันของ OPEC ซึ่งส่งผลบวกต่อราคาน้ำมันในระยะสั้น อาจส่งผลให้การลงทุนขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ กลับมาเร่งตัวขึ้น และทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากกว่าคาด และช่วยชดเชยปริมาณน้ำมันที่ลดลงจากกลุ่ม OPEC ได้บางส่วน เราจึงคาดว่าข้อตกลงดังกล่าวจะช่วยพยุงราคาน้ำมันในระยะสั้น แต่ในระยะยาวความไม่แน่นอนในการบังคับใช้โควต้า และแนวโน้มการเพิ่มการผลิตน้ำมันจากสหรัฐฯ จะกดดันไม่ให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นได้มากนัก และยังคงคาดว่าราคาน้ำมัน WTI จะซื้อขายในกรอบ 40-50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลในช่วงที่เหลือของปีนี้

ทิสโก้มองข้อตกลง OPEC ดันน้ำมันขึ้นแค่ระยะสั้น พร้อมเตือน 2 ปัจจัยเสี่ยง จากการบังคับใช้ และการเร่งการผลิตของสหรัฐฯ กดดันระยะยาว