นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าของ (ร่าง) แผนพัฒนาการเกษตร ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ว่า ขณะนี้คณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความเห็นชอบต่อ (ร่าง) แผนพัฒนาการเกษตร ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) แล้วเมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา
สำหรับแผนพัฒนาการเกษตรในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 จะมุ่งเน้นการพัฒนาในทุกด้านทั้งเกษตรกร สถาบันเกษตรกร การผลิตสินค้าเกษตร เทคโนโลยีและนวัตกรรม ควบคู่ไปกับการจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ภายใต้วิสัยทัศน์ "ภาคเกษตรก้าวไกลด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลาดนำการผลิต ชีวิตเกษตรกรมีคุณภาพ ทรัพยากรการเกษตรมีความสมดุลและยั่งยืน"
เป้าหมายสำคัญของแผนฉบับดังกล่าว ประกอบด้วย 5 ประเด็น คือ (1) ความผาสุกของเกษตรกรเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 85 ในปี 2564 (2) เกษตรกรมีรายได้เงินสดสุทธิทางการเกษตรเพิ่มขึ้นเป็น 59,460 บาทต่อครัวเรือนในปี 2564 (3) เศรษฐกิจภาคเกษตรเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 3 ต่อปี (4) จำนวนงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านการเกษตรถูกนำไปใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 5 ต่อปี และ (5) ทรัพยากรการเกษตรได้รับการฟื้นฟูและใช้ประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืนเพิ่มขึ้น
การดำเนินงาน กำหนด 4 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ยุทธศาสตร์ที่ 2 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าเกษตรตลอดโซ่อุปทาน ยุทธศาสตร์ที่ 3 เพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และ ยุทธศาสตร์ที่ 4 บริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ซึ่งขณะนี้ (ร่าง) แผนพัฒนาการเกษตร ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 อยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี และเตรียมประกาศใช้ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นกรอบแนวทางการพัฒนาการเกษตรของประเทศไทยต่อไป
ทั้งนี้ แผนพัฒนาการเกษตร ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) จึงได้จัดทำ (ร่าง) แผนพัฒนาการเกษตร ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) มาอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของภาคการเกษตร เพื่อให้ (ร่าง) แผนฯ ดังกล่าวสามารถขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาภาคการเกษตรได้อย่างถูกต้อง มีกรอบทิศทางที่ชัดเจน และสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 รวมทั้งยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นโยบายไทยแลนด์ 4.0 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)