ภญ.ทิพวรรณ จิตพิมลมาศ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท แบ็กซ์เตอร์เฮลธ์แคร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในฐานะที่แบ็กซ์เตอร์ฯ เป็นผู้ประกอบการด้านเวชภัณฑ์สำหรับการล้างไตทางช่องท้อง รวมถึงเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ในผู้ป่วยภาวะวิกฤติ ตระหนักดีว่าการมีสุขภาพแข็งแรง จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ปลอดโรคซึ่งการจัดกิจกรรมวิ่งเพื่อสุขภาพการกุศล "แบ็กซ์เตอร์ รันฟอร์ฟันด์ 2016" ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เพื่อช่วยส่งเสริมและกระตุ้นให้ประชาชนคนไทย หันมาให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายกันมากขึ้น ช่วยเสริมสร้างสุขภาพดี มีภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "วิ่งสนุก สุขภาพดี ชีวีมีสุข" ในระยะทาง 5 กิโลเมตร และ 10.5 กิโลเมตรมีนักวิ่งจากชมรมต่างๆ และประชาชนผู้รักสุขภาพทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรม 1,500 คน โดยเงินรายได้จากค่าสมัครทั้งหมด 600,000 บาท บริษัทฯได้มอบให้มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย และโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลียแห่งประเทศไทยโดยไม่หักค่าใช้จ่าย เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยและกิจกรรมต่างๆ ของมูลนิธิฯต่อไป เนื่องจากโรคไตเรื้อรัง และโรคฮีโมฟีเลียเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาด จำเป็นต้องดูแลรักษาตลอดชีวิตการให้ความช่วยเหลือและกำลังใจแก่ผู้ป่วยและครอบครัวจึงเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญตลอดมา
พญ.สุขฤทัย เลขยานนท์ อายุรแพทย์โรคไต หน่วยไตเทียม มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย ณ ตึกกัลยาณิวัฒนา โรงพยาบาลสงฆ์ กล่าวว่า "แบ็กซ์เตอร์ รันฟอร์ฟันด์" นับเป็นกิจกรรมที่ดีนอกจากจะช่วยรณรงค์ให้คนหันมาออกกำลังกายกันมากขึ้นแล้ว ยังได้ร่วมทำบุญด้วย และเป็นที่น่ายินดีที่มีผู้รักสุขภาพมาร่วมวิ่งกับโครงการ Baxter Run for Fund เพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยทางมูลนิธิโรคไตฯ ได้รับเงินสนับสนุนจากโครงการต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ต้องขอขอบคุณโครงการฯ และนักวิ่งเพื่อสุขภาพทุกคนที่มีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกๆ ปี
"อยากฝากถึงผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง หากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคไต ควรเข้ารับการรักษาบำบัดรักษา อย่าท้อถอยหรือเสียกำลังใจ เพราะผู้ป่วยโรคไตยังถือว่าโชคดีกว่าผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ มีแนวทางการรักษาที่ชัดเจน สามารถบำบัดทดแทนไตได้หลายวิธี ได้แก่ การล้างไตทางช่องท้อง การฟอกเลือด และการปลูกถ่ายไต ซึ่งหากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตและมีไลฟ์สไตล์ได้ใกล้เคียงกับคนปกติ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการทำงาน การประกอบอาชีพ ก็ยังสามารถทำได้ หรือ เรื่องอาหารการกิน ก็ไม่ได้ควบคุมจากความเป็นจริงมากจนเกินไป ผู้ป่วยสามารถอยู่อย่างมีความสุขและมีชีวิตยืนยาวได้ ส่วนการออกกำลังกายในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ได้รับการบำบัดทดแทนไตด้วยการฟอดเลือด หรือล้างไตทางช่องท้อง สามารถออกกำลังกายได้ เช่น เดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพ แอโรบิค ปั่นจักรยาน แบดมินตัน แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องประเมินกำลังของตนเองด้วยว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยโรคไตที่ยังไม่ได้รับการบำบัดทดแทนไต ควรให้แพทย์เป็นผู้ประเมิน"
ด้าน คุณศรีสุภา แก้วประพาฬ กรรมการมูลนิธิและชมรมโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลียแห่งประเทศไทย กล่าวว่าทางมูลนิธิโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลียฯ ขอขอบคุณทางโครงการฯ ที่ได้สนับสนุนเงินให้กับมูลนิธิฯ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยมูลนิธิโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลียฯ ได้มีการจัดกิจกรรมพบปะเครือข่ายผู้ป่วยฮีโมฟีเลียในภูมิภาคต่างๆ สร้างความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างครอบครัวผู้ป่วยและญาติ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ โดยลดการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์ลง รวมถึงการช่วยประชาสัมพันธ์ส่งเสริมอาชีพสำหรับผู้ป่วย ซึ่งในวันนี้ทางมูลนิธิและชมรมผู้ป่วยฯ ก็ได้นำไอศกรีมของผู้ป่วยฮีโมฟีเลียมาร่วมจำหน่ายในงานการกุศลนี้ ทั้งยังมีผู้ร่วมงานที่กรุณามาร่วมบริจาคเงินให้กับชมรมผู้ป่วยเป็นการส่วนตัวซึ่งต้องขอความคุณมาในที่นี้ด้วย
ทั้งนี้ โรคฮีโมฟีเลีย (Hemophilia) หรือโรคเลือดออกง่ายหยุดยากเป็นโรคเรื้อรัง ที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมผู้ป่วยฮีโมฟีเลียสามารถออกกำลังกายได้แต่ควรทำอย่างระมัดระวังไม่ให้เกิดแผล หรือการกระแทกแรงๆ เช่น การเดิน-วิ่ง (อย่างระมัดระวัง) ยืดผ้า หรือการยกเวทเบาๆ ว่ายน้ำ เป็นการกระตุ้นให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ช่วยลดการทำงานของกระดูก และลดการหลั่งเลือดออกมาด้วย จะช่วยให้กล้ามเนื้อมีความทนทานสูง และแข็งแรงขึ้นแต่การออกกำลังกายต่างๆ ต้องอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องด้วย ค่อยเป็นค่อยไป อย่าหักโหม เพราะอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้