จากสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ทั้งที่เป็นภัยธรรมชาติ หรือภัยจากการกระทำของมนุษย์นับวันจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น ทุกเหตุการณ์ทำให้เกิดการสูญเสียทรัพย์สินและบุคคลอันเป็นที่รักซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้ประสบภาวะวิกฤต การดูแลจิตใจด้วยตนเองเบื้องต้น รวมถึงการช่วยเหลือจากคนใกล้ชิดแก่ผู้ที่อยู่ในภาวะวิกฤต ก็จะช่วยลดปัญหาสุขภาพจิตลงได้นพ. เสรี ตู้จินดา ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กาย- จิตเป็นของคู่กัน เมื่อร่างกายเจ็บป่วยใจก็เป็นทุกข์ได้ เมื่อเจ็บป่วยทางจิตอาจมีปัญหาทางกายตามมาได้ เราพบว่า 1/4 ถึง1/3 ของประชาชนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตครั้งหนึ่งในช่วงชีวิต และคนใกล้ชิดอาจประสบปัญหาสุขภาพจิตได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัวเพื่อนร่วมงาน กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้ประชาชนมีสุขภาพดี ทั้งการป้องกันและการรักษาโรค ถึงแม้ว่าปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวชประชาชนยังเข้าถึงการรักษาได้ไม่มาก อาจจะด้วยความไม่รู้ก็ดีหรือ ความรู้สึกถูกตีตราหรือการการกีดกันก็ดี การช่วยเหลือเบื้องต้นหรือการปฐมพยาบาลด้านสุขภาพจิตนี้จะช่วยให้บุคคลเหล่านี้เข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขพร้อมให้การดูแลประชาชนทุกคน มีคลินิกจิตเวชให้บริการ ในทุกระดับทุกอำเภอทุกจังหวัด ตามนโยบายเรื่องระบบบริการสุขภาพและจิตเวช มีจิตแพทย์เกือบทุกจังหวัดทั่วประเทศจังหวัดใดมีจิตแพทย์ประจำก็จะมีจิตแพทย์หมุนเวียนตรวจ
ด้าน นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้กล่าวเพิ่มเติมว่าปัญหาสุขภาพจิตเป็นปัญหาที่พบบ่อยมีผลกระทบต่อตนเองครอบครัว และสังคมโดยรวม จากการสำรวจสุขภาพจิตคนไทย ปีพ.ศ.2556 พบว่า มีปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติด ของประชากรไทย ประมาณ ร้อยละ 32 และการศึกษาภาระโรคและ การบาดเจ็บ ปีพ.ศ.2556 พบว่า โรคซึมเศร้าและโรคจิตเภท เป็น 1 ใน 10 อันดับแรกของการสูญเสียปีสุขภาวะจากการเจ็บป่วยและ ความพิการทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่พวกเขาเหล่านี้ได้รับความช่วยเหลือ น้อยมากส่วนมากเป็นผู้ที่มีปัญหารุนแรงและอาจได้รับการรักษาไม่เพียงพอ
การปฐมพยาบาลด้านสุขภาพจิตเป็นการช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต หรืออยู่ในภาวะวิกฤตสุขภาพจิต โรคทางกายและอุบัติเหตุ ประชาชนได้รับการช่วย เหลือเบื้องต้น และ สามารถส่งต่อความช่วยเหลือและทำให้รอดชีวิตได้มาก แต่การช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตก็ยังมีข้อจำกัด เพราะความไม่รู้ การตีตรา และการกีดกัน ด้านสุขภาพจิต ไม่ใช่การสอนให้สามารถวินิจฉัยโรคหรือเป็นผู้รักษา แต่เป็นการสอนให้ตระหนักถึงอาการ ของปัญหาสุขภาพจิตรวมทั้งแต่ละชนิด วิกฤต สุขภาพจิต วิธีการช่วยเหลือเบื้องต้น
ปัจจุบันสังคมยังคงมีอคติกับผู้ป่วยจิตเวช และเมื่อใดก็ตามที่ผู้ป่วยจิตเวชได้ก่อเหตุรุนแรงปรากฏเป็นข่าวครึกโครม ก็ยิ่งทำให้สังคมเกิดความกลัว ความหวาดระแวง และความเกลียดชัง ตอกย้ำ ตราบาป ลดคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเขาให้น้อยลงไปเรื่อยๆ ซึ่งในความเป็นจริง ผู้ป่วยจิตเวชสามารถรักษาให้หายและกลับคืนสู่สังคมได้จริง สามารถใช้ชีวิตได้เช่นเดียวกับคนปกติทั่วไป ยิ่งเข้ารับการรักษาแต่เนิ่นๆ ได้เร็วเท่าไร ยิ่งดี
ด้าน นายแพทย์นพดล วาณิชฤดี รักษาการผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาได้กล่าวว่าในปีงบประมาณ2559 (ตุลาคม2558-กันยายน2559) มีผู้ป่วยจิตเวชเข้ารับการรักษาที่สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาโดยจัดลำดับโรคไว้ดังนี้คือ (1.) โรคจิตเภท(Schizophrenia) ร้อยละ 51.04 (2.) โรคซึมเศร้า(Depressive episode) ร้อยละ10.13 (3.)โรคความผิดปกติทางอารมณ์(Bipolar affective disorder) ร้อยละ7.16 (4.)โรควิตกกังวลอื่นๆ(Anxiety disorders) ร้อยละ 6.07 (5.) โรคจิตที่มีความผิดปกติทางอารมณ์(Schizoaffective disorders) ร้อยละ 3.35 ในขณะที่ผู้ป่วยโรคจิตที่เกิดจากการใช้สารเสพติดประเภทกระตุ้นประสาท (Mental and behavioural disorders due to use of other stimulants, including caffeine) พบร้อยละ 1.89 และผู้ป่วยโรคจิตจากการดื่มแอลกอฮอล์ ประสาท (Mental and behavioural disorders due to use of alcohol) พบร้อยละ 1.85
ปัญหาการเจ็บป่วยด้านสุขภาพจิตและจิตเวชรวมไปถึงภาวะวิกฤตด้านจิตใจ เป็นปัญหาสำคัญหากได้รับการช่วยเหลือที่ทันท่วงที โดยครอบครัว ชุมชน สังคมและบุคคลใกล้ชิดก็จะสามารถช่วยให้ผู้ที่ประสบปัญหาเหล่านี้ได้รับการดูแลช่วยเหลือที่ถูกต้องเหมาะสม ทำให้บุคคลเหล่าได้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีศักดิ์ศรีในสังคม