ทางด้าน คุณอาทร เตชะธาดา กรรมการผู้จัดการสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการฯ กล่าวว่า ได้จัด โครงการ "อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์" สืบเนื่องเป็นครั้งที่ 2 เริ่มขึ้นเมื่อ 9 ก.พ. 2559 สิ้นสุด 7 ต.ค. 2559 เป็นโครงการฯ ที่มอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียน – นักศึกษา รวมมูลค่าทุนการศึกษาจำนวนสุทธิ 800,000 บาท ที่ทางธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้มอบให้กับผู้ที่ผ่านเข้ารอบโดยตรง โดยแบ่งเป็นทุนการศึกษาจำนวน 40 ทุน ทุนละ 20,000 บาท
การจัดค่ายฯ ในครั้งที่ 2 นี้ ได้คัดเลือกน้องที่มีคุณภาพมากขึ้นจากผู้เข้าสมัครจำนวนมาก ประโยชน์ของการเข้าค่ายในครั้งนี้คือ น้องๆ ได้ร่วมกิจกรรมเสริมความรู้เรื่องงานวิจารณ์และได้ฝึกปฏิบัติจริง โดยมีทฤษฎีวรรณกรรมต่างๆ เสริมเข้ามาด้วย ซึ่งเกิดประโยชน์ต่อตัวเยาวชนเองและเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมทุกคน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ายินดีที่การจัดค่ายฯ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการมีศักยภาพมากขึ้น
การวิจารณ์นั้นแตกต่างจากการเขียนเพื่อนำเสนอเนื้อหาทั่วไป ปัจจุบันนี้มักจะพูดเรื่องการเขียนและการวิจารณ์สลับกันไปมา ซึ่งในค่ายวิจารณ์วรรณกรรมได้เชิญอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิผู้เชี่ยวชาญศาสตร์และศิลป์ที่หลากหลาย นำโดย คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ (ศิลปินแห่งชาติ 2536 สาขาวรรณศิลป์) มามอบความประทับใจ "สุนทรียรสบทกวี" ให้เกียรติมาเป่าขลุ่ยและขับบทกวี, คุณนิเวศน์ กันไทยราษฎร์ ทำกิจกรรม "อุ่นเครื่อง" และคุณชมัยภร (บางคมบาง) แสงกระจ่าง, คุณวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง, คุณจรูญพร ปรปักษ์ประลัย มาให้ความรู้ในหัวข้อ "พลังมหัศจรรย์ของการอ่าน" และเรื่อง "หลักการวิจารณ์และการเขียนบทวิจารณ์ให้มีสีสัน" ในกิจกรรมเข้าค่ายฯ นี้มีการฝึกอบรมติวเข้มโดยจะให้น้องๆ ฝึกปฏิบัติเขียนบทวิจารณ์ด้วยตนเอง โดยแบ่งกลุ่มเขียนบทวิจารณ์งานประเภทสารคดี ,นิยาย ,เรื่องสั้นและกวีนิพนธ์ โดยมีอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิให้ข้อแนะนำอย่างใกล้ชิดพร้อมตรวจบทวิจารณ์ในค่ายฯ ซึ่งความรู้จากค่ายวิจารณ์วรรณกรรมแห่งนี้ น้องๆ ที่มาเข้าร่วมจะสามารถนำความรู้หลักการวิจารณ์ นำไปต่อยอดได้ในงานต่างๆ ได้ เมื่อเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ในสังคม ก็สามารถจับประเด็นในการวิจารณ์ไปใช้ในสายงานวิชาชีพที่ตนเองเลือก อีกทั้งพัฒนาตนเองให้เป็นผู้นำในด้านต่าง ๆ ต่อไปได้
ชมัยภร แสงกระจ่าง กล่าวถึงบทบาทของนักวิจารณ์วรรณกรรมไว้ว่า "นักวิจารณ์วรรณกรรมเป็นส่วนหนึ่งของวงการวรรณกรรม วงการวรรณกรรมจะมีนักเขียน นักอ่านและต้องมีนักวิจารณ์ด้วย เพราะนักวิจารณ์คือผู้ประสานระหว่างนักอ่านกับนักเขียน ซึ่งถ้ามีแต่นักอ่านกับนักเขียนบางทีเขาสื่อสารกันไม่ได้ สื่อสารกันไม่เข้าใจหรือไปไม่ถึงกัน นักวิจารณ์คือผู้ประสานผู้ที่อยู่ตรงกลาง ผู้ที่ทำให้นักอ่านเข้าใจนักเขียนมากขึ้น เป็นผู้ที่ทำให้นักเขียนรู้จักนักอ่านมากขึ้น รู้ว่านักอ่านที่มีคุณภาพอยู่ตรงไหน รู้ว่านักอ่านเขาต้องการอะไร เพราะฉะนั้นนักวิจารณ์วรรณกรรมจึงสำคัญมาก ถ้าวงการไหนหรือบ้านเมืองไหนก็ตามที่ไม่มีนักวิจารณ์เท่ากับไม่มีการสะท้อนเรื่องของการสร้างสรรค์งานศิลปะออกมาเลยว่ามันเกิดอะไรขึ้น ดังนั้นต้องมีนักวิจารณ์ด้วย" ทางคณะผู้จัดโครงการฯ ขอเอาใจช่วยในการสร้างสรรค์เยาวชนไทยรุ่นใหม่ สู่นักวิจารณ์ไฟแรง นำไปสู่การสร้างทรัพยากรทางปัญญาที่หลากหลายและมีคุณภาพต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit