ดร.จรรยาวรรธน์ วุฒิจำนงค์ ดุษฎีบัณฑิตวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแมสซี กล่าวว่า มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิงทั่วโลก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ และภาครัฐเองก็ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรักษามะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี ประกอบกับอาหารเป็นปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม บวกกับบลูเบอรี่เป็นผลไม้ที่บริโภคกันแพร่หลายในชีวิตประจำวันของชาวนิวซีแลนด์และประชาชนในโลกตะวันตกทั่วไป จึงได้เลือกบลูเบอรี่มาทำการวิจัยเพื่อช่วยลดภาวะเสี่ยงดังกล่าว เพราะว่ามีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ของบลูเบอรี่ต่อสุขภาพหลากหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ ช่วยเพิ่มความจำ เพิ่มปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย และมีงานวิจัยที่สนับสนุนถึงประโยชน์ของบลูเบอรี่ในหลายๆแง่มุม ผู้บริโภคสามารถเพิ่มปริมาณการบริโภคบลูเบอรี่เข้าไปในชีวิตประจำวันได้ง่าย ต่างจากงานวิจัยพืชที่ไม่ใช่พืชอาหาร ถึงแม้ว่าจะพบว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพแต่ผู้บริโภคไม่รู้ว่าจะเพิ่มพืชนั้น ๆ เข้าไปในมื้ออาหารปกติได้อย่างไร
ดังนั้น ทางคณะผู้วิจัยจึงมีแนวคิดที่จะทำการวิจัยในสัตว์ทดลองโดยทำการกระตุ้นให้เกิดมะเร็งเต้านมชนิดที่ตอบสนองต่อตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจน (ER+) แล้วให้บลูเบอรี่เสริมกับอาหารปกติ โดยที่สัตว์ทดลองกลุ่มหนึ่งจะได้รับน้ำบลูเบอรี่คั้นแยกกาก และอีกส่วนได้รับอาหารผสมกากบลูเบอรี่ซึ่งมีใยอาหารมาก
ผลการวิจัยพบว่า สัตว์ทดลองในกลุ่มที่ได้รับอาหารผสมกากบลูเบอรี่ มีจำนวนที่เป็นมะเร็งเต้านมน้อยกว่าสัตว์ทดลองในกลุ่มที่ได้รับน้ำบลูเบอรี่คั้นแยกกาก โดยมะเร็งมีขนาดเล็กกว่าและยังมีความรุนแรงน้อยกว่าอีกด้วย ทั้งนี้ อาจจะเป็นผลจากปริมาณเอสโตรเจนในเลือดที่ลดลงในสัตว์ทดลองกลุ่มดังกล่าว กล่าวโดยสรุปคือ การบริโภคบลูเบอรี่ควรบริโภคทั้งผลซึ่งจะได้รับกากใยอาหารและให้ผลดีกว่าการบริโภคเฉพาะน้ำผลไม้ที่แยกกากออกไป
ดร.จรรยาวรรธน์ กล่าวเสริมว่า การศึกษาผลกระทบของการรับประทานบลูเบอรี่ต่อระบบภูมิคุ้มกันที่เกี่ยวข้องกับมะเร็ง รวมทั้งการศึกษาผลกระทบของการรับประทานบลูเบอรี่ในระดับโมเลกุลนั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก อย่างไรก็ตามงานวิจัยในครั้งนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า บลูเบอรี่จะสามารถลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งเต้านมในมนุษย์ได้ เนื่องจากงานวิจัยในครั้งนี้เป็นงานวิจัยที่ทำในสัตว์ทดลองเท่านั้น และสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดอาจมีการตอบสนองที่แตกต่างกัน การทดลองที่อาจจะเป็นไปได้ในมนุษย์ คือ การเสริมบลูเบอรี่ในอาหารของผู้ป่วยมะเร็งหลังการผ่าตัดเพื่อการฟื้นฟูร่างกาย
นอกจากนี้ เทคนิคที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ยังสามารถนำมาปรับใช้ในการวิจัยสารสำคัญจากพืชเขตร้อนที่สามารถปลูกได้ในประเทศไทย หรืออาจจะทำการวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับของเหลือจากอุตสาหกรรมการทำน้ำผลไม้ เช่น แอปเปิ้ล หรือผลไม้อื่น ๆ เนื่องจากการบริโภคใยอาหารสามารถลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมได้
ดร. จรรยาวรรธน์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโท จากคณะวิทยาศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี 2554 ได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยราชมงคล ล้านนา ไปศึกษาต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแมสซี (Massey University) ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งมีชื่อเสียงระดับชั้นนำของโลกในด้านอาหารและโภชนาการ รวมทั้งการทำวิจัยในขั้นสูง พร้อมด้วยคณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญระดับโลก
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit