หรรสา สุสายัณห์ กรรมการผู้จัดการ กองทุนบัวหลวง เปิดเผยว่า "ประเทศไทยมีการออมในอัตราที่ต่ำ เมื่อเทียบกับ GDP ของประเทศ หรือเทียบกับสากล รวมถึง ประเทศที่พัฒนาแล้ว และสำหรับคนที่มีการออมเพื่อการเกษียณอายุอยู่แล้ว เช่น คนที่อยู่ในระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไทย มีเพียง 2.8 ล้านคน จากจำนวนแรงงานในระบบประมาณ 27 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 10.4 ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำมาก และยังไม่ครอบคลุมประชากรทั้งประเทศ สถิติเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการออมมากนัก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชีวิตหลังเกษียณโดยเฉพาะกลุ่มคนชั้นกลางลงไป ที่อาจทำให้คุณภาพชีวิตไม่ดีเท่าที่ควร กองทุนบัวหลวงจึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนส่วนใหญ่หันมาให้ความสำคัญเรื่องการออมและการลงทุนให้มากขึ้น เพื่อสร้างเม็ดเงินที่เพียงพอในชีวิตหลังเกษียณ เราคิดว่าควรมุ่งสร้างความตระหนักไปที่ครอบครัวซึ่งประกอบด้วยเด็กและผู้ปกครอง เนื่องจากเป็นสถาบันแรกของสังคมไทย ถึงแม้เราจะไม่ทราบว่าในอีก 20-30 ปีข้างหน้าเด็ก ๆ และครอบครัวเหล่านั้นจะยังคงตระหนักเรื่องการออมอยู่หรือไม่ หรือการดำเนินการตามพันธกิจ "ทำให้ครอบครัวไทยมีความมั่นคงทางการเงิน" ของกองทุนบัวหลวง จะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด แต่เรายังคงเชื่อมั่นในความตั้งใจดีและภูมิใจในพันธกิจนี้ จึงเป็นที่มาของโครงการ "ยกระดับการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เพื่อปลูกฝังความเข้าใจเรื่องการออม" โดยได้ร่วมมือกับสถาบันนานมีบุ๊คส์ อินโนเวชั่น ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเด็ก รวมถึง มีหนังสือและสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับโครงการ โดยใช้หนังสือการ์ตูนความรู้ชุดครอบครัวตึ๋งหนืด ที่เป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆ อยู่แล้ว อีกทั้งยังมีนวัตกรรมการเรียนคณิตศาสตร์จากประเทศอังกฤษในนามMaths-Whizz ซึ่งเป็นการเรียนแบบ Personalize Learning มาช่วยให้เด็กๆ เรียนคณิตศาสตร์อย่างเข้าใจและสนุกสนานในคราวเดียวกัน"
"เราเริ่มต้นโครงการกับ 3 โรงเรียนนำร่อง ได้แก่ โรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย และโรงเรียนเซนต์ดอมินิก ซึ่งได้เริ่มดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยการอบรมเชิงปฏิบัติการ "กิจกรรมส่งเสริมการออม" ให้กับคุณครูทั้ง 3 โรงเรียนในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้คุณครูได้เรียนรู้วิธีการทำกิจกรรมฯ เพื่อนำไปใช้กับเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งก็ได้ทีมงานจากนานมีบุ๊คส์ที่พัฒนาหลักสูตรกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการออมจากหนังสือมาเป็นเครื่องมือ มาถ่ายทอดให้กับคณะครูทั้งสามโรงเรียนต่อไป"
คิม จงสถิตย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการ นานมีบุ๊คส์ อินโนเวชั่น กล่าวว่า "นานมีบุ๊คส์มีความยินดีมากที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ เพราะเราเองมีทั้งหนังสือ และนวัตกรรมการเรียนคณิตศาสตร์ที่ทันสมัยเข้ามาช่วยให้โครงการสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้จะเป็นแนวทางให้คุณครูนำไปสอนว่าเราจะทำอย่างไรให้เด็กรู้สึกว่าเรื่องการออมเป็นเรื่องใกล้ตัวและสนุก โดยเราจะใช้สื่อที่เข้าถึงเด็กๆได้ง่าย นั่นคือ หนังสือการ์ตูนความรู้ ที่เด็กชอบอ่านอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้เราจะพาการอ่านไปอีกขั้นหนึ่ง คือไม่ใช่แค่อ่านเพื่อสนุกอย่างเดียว แต่สามารถอ่านและนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้ โดยกิจกรรมทั้งหมดเราดึงเนื้อหามาจากหนังสือของเรา โดยทีมงานบรรณาธิการที่มีความเชี่ยวชาญในเนื้อหา ซึ่งคุณครูทุกคนที่มาเข้าร่วมถือเป็นกำลังสำคัญที่จะทำให้โครงการนี้จะสำเร็จได้ ต้องอาศัยคุณครูที่มีความใกล้ชิดกับเด็ก มีความสามารถในการสอนและการประยุกต์ใช้ที่เข้าถึงตัวเด็กได้ง่าย จะทำให้เด็กเกิดความตระหนักและซึมซับปลูกฝังวินัยเรื่องการออมได้ไม่ยาก"
การอบรมเชิงปฎิบัติการเรียนรู้กิจกรรมการออม ที่กองทุนบัวหลวงร่วมมือกับนานมีบุ๊คส์จัดเพื่ออบรมครู มีทั้งหมด 16 กิจกรรม ทุกกิจกรรมล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องใกล้ตัวของเด็ก ๆ เช่น การทำบัญชีรายรับรายจ่าย การออม การเลือกซื้อสินค้า หรือแม้กระทั่งเรื่องไกลตัวแต่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เช่น เงินเฟ้อ การลงทุน โดยทุกกิจกรรมสอดคล้องกับเนื้อหาตามสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ในสาระที่ 3 เศรษฐศาสตร์ ชั้น ป.1-ป.6 โดยแบ่งกิจกรรมออกเป็น ดังนี้· กิจกรรมการออม : การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย และการออมเงิน
กิจกรรมในส่วนนี้จะเน้นเรื่องการออมเงินพื้นฐาน ตั้งแต่การทำกระปุกออมสิน การเล่นเกมแบ่งรายรับปันรายจ่าย การทำบัญชีรายรับรายจ่าย การสะสมใบเสร็จรับเงิน แต่ละกิจกรรมจะให้เด็ก ๆ มีส่วนร่วมในการคิดวิเคราะห์เรื่องการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันไปด้วย เช่น เกมแบ่งรายรับปันรายจ่าย เริ่มต้นจะกำหนดให้เด็ก ๆ ได้รับเงินวันละ 100 บาท จากนั้นแจกแผ่นชิ้นส่วนรายการใช้จ่ายให้เด็ก ๆ ซึ่งมีทั้งของจำเป็นและของฟุ่มเฟือย ให้ได้ วิเคราะห์ว่าจะใช้เงินที่มีอยู่ไปกับของอะไรบ้าง โดยมีข้อแม้ว่าต้องออมก่อนใช้อย่างน้อย 20% เกมนี้จะช่วยให้เด็กรู้จักการตัดสิ่งของที่ไม่จำเป็นออกจากรายจ่ายและรู้จักการออมก่อนใช้ด้วย· กิจกรรมการออม : บัญชีเงินฝากและการลงทุนสำหรับเด็ก
กิจกรรมในส่วนนี้เป็นการออมเงินที่เหนือขึ้นอีกระดับคือ ให้รู้จักเงินฝากแบบต่าง ๆ รู้จักการลงทุนง่าย ๆ สไตล์เด็ก ๆ รวมทั้งลงทุนในกองทุนต่าง ๆ แต่ละกิจกรรมเด็ก ๆ จะต้องคำนวณดอกเบี้ยและกำไรที่จะได้รับ หรือแม้กระทั่งเงินที่หายไปจากการขาดทุน เช่น เกมกองทุนรวมมหาสนุก เริ่มต้นโดยครูแจกเงิน (ในจินตนาการ) ให้นักเรียนกลุ่มละ 5,000 บาท เพื่อให้นักเรียนใช้ลงทุนในธุรกิจที่เลือก ต่อมานักเรียนแต่ละกลุ่มต้องบริหารเงิน 5,000 บาท มาซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก เมื่อลงทุนครบทุกกลุ่มแล้ว ให้ตัวแทนจับสลากมูลค่าหน่วยลงทุน สลากนั้นจะบอกแนวโน้มธุรกิจที่นักเรียนเลือกลงทุน และมูลค่าหน่วยลงทุนต่อหน่วย ธุรกิจใดที่แนวโน้มดี มูลค่าหน่วยลงทุนก็มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น ทำให้เด็ก ๆ ได้กำไร แต่ถ้าจับสลากได้ธุรกิจที่มีแนวโน้มแย่ลง เด็ก ๆ ก็อาจจะขาดทุน เกมนี้จะช่วยให้เด็ก ๆ เข้าใจภาพรวมของการลงทุนมากขึ้น รวมทั้งรู้จักความเสี่ยงในการลงทุน· กิจกรรมการออม : การเลือกซื้อสินค้าและการประหยัดทรัพยากร
กิจกรรมในส่วนนี้ชี้ให้เห็นว่า การออมอาจไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปของเงินเท่านั้น แต่อาจจะอยู่ในรูปของการประหยัดพลังงาน เช่น น้ำ ไฟฟ้า น้ำมัน เป็นต้น เด็ก ๆ แต่ละกลุ่มนำเสนอวิธีประหยัดพลังงานง่าย ๆ ที่บ้านหรือที่โรงเรียน แล้วนำมาแชร์ให้เพื่อนกลุ่มอื่นฟัง เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง
ในช่วงท้ายเป็นการแบ่งปันแนวคิดร่วมกันในรูปแบบเวิลด์ คาเฟ่ โดยเริ่มจากจะให้แต่ละกลุ่มแบ่งปันไอเดียกันจากโจทย์ที่กำหนดให้ จากนั้นจะเลือกตัวแทน 1 คนเรียกว่า โฮส ที่อยู่ประจำกลุ่ม แล้วลูกทีมคนอื่น ๆ จะกระจายไปกลุ่มอื่น ๆ แทน เมื่อแต่ละกลุ่มได้ลูกทีมใหม่แล้ว โฮสมีหน้าที่อธิบายสิ่งที่คิดกันเมื่อสักครู่ ให้ลูกทีมฟัง ลูกทีมมีหน้าที่ฟังอย่างตั้งใจ หลังจากอธิบายเสร็จ ลูกทีมจะเสริมไอเดียของตนเองลงไป เมื่อเสร็จแล้ว จะวนอีกรอบ โดยครั้งนี้เปลี่ยนโฮสใหม่ และลูกทีมที่เหลือกระจายไปกลุ่มอื่น แล้ววนแบบนี้ไปเรื่อย ๆ สุดท้ายให้แต่ละกลุ่มมานำเสนอหน้าห้อง
ปิดท้ายด้วยความประทับใจจากคุณครูผู้เข้าร่วมอบรมฯ ทั้ง 3 โรงเรียน และในก้าวต่อไปของโครงการฯ จะเริ่มใช้กิจกรรมการออม และนวัตกรรม Maths-Whizz เซียนคณิตศาสตร์ในโรงเรียนเป็นระยะเวลา 1 ปีการศึกษา พร้อมการประเมินและติดตามผลตลอดโครงการ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit