"โครงการพัฒนาการส่งเสริมการเกษตรการปลูกมันสำปะหลังหรืออุบลโมเดล ซึ่งเป็นรูปแบบประชารัฐอย่างแท้จริง เป็นคำตอบที่ปลุกความหวังให้เกษตรกรและชุมชนในพื้นที่มีทางเลือก และแนวทางการทำมันอินทรีย์ต่อไปในอนาคต สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยความสามัคคีจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ร่วมคิดค้น วิจัยพัฒนาพันธุ์ ส่งเสริมถ่ายทอดความรู้ การเข้าใจสถานประกอบการเรื่องต้นทุนการรับซื้อ การแปรรูปต่างๆ ทำให้เส้นทางของทุกส่วนพึ่งพากันไปในมิติที่เป็นมิตร คือ เกษตรกรใส่ใจ เตรียมวัตถุดิบ รู้จักการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต โดยมีภาครัฐและเอกชนเข้ามาดูแลร่วมกันจนถึงเก็บเกี่ยวผลที่ตามมา คือเกษตรกรมีความยั่งยืนบนพื้นฐานของความรู้ ภาครัฐได้นำผลงานมาถ่ายทอดและเพิ่มผลผลิตภาคเอกชนก็มีวัตถุดิบที่มีคุณภาพ กระบวนการแบบนี้จะเกิดความยั่งยืนเป็นวัฎจักรแบบนี้ต่อไปประเทศไทยก็จะเป็นผู้นำในเรื่องเกษตรกรรมสร้างเศรษฐกิจที่ดีให้กับประเทศต่อไป" อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว นายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ ผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล กล่าวว่า กลุ่มบริษัทฯได้ดำเนินการส่งเสริมชาวไร่มันฯ ผ่านโครงการอุบลโมเดล ที่เป็นการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐมาตั้งแต่ปี 2557 โดยได้รับความร่วมมือจากกรมวิชาการเกษตร ให้ความรู้เพื่อพัฒนาการผลิตมันสำปะหลังด้วยเทคโนโลยีของกรมฯ ที่จะส่งผลให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น และลดต้นทุนต่อหน่วยการผลิตให้ต่ำลง โดยได้กำหนดเป้าหมายเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังต่อไร่ จากเดิม 3 ตันต่อไร่ เป็น 6 ตันต่อไร่ ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยผลผลิตในพื้นที่ของจังหวัด
ขณะเดียวกันเนื่องจากมันสำปะหลังที่ผลิตด้วยกระบวนการอินทรีย์เป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดต่างประเทศ จึงได้มีการรณรงค์ส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังในวิถีอินทรีย์ ที่สามารถตอบโจทย์ด้านต้นทุนการผลิตได้อย่างยั่งยืน ส่งผลดี 3 ด้านแก่ผู้เกี่ยวข้องตามสโลแกนของงานในวันนี้ คือ "ดินดี รายได้ดี สุขภาพดี" นั่นคือ ดินดี เพราะเกษตรกรไม่ใช้สารเคมี ซึ่งหากมีการใช้แนวทางอินทรีย์ สภาพดินในพื้นที่จะกลับมาอุดมสมบูรณ์ ส่งผลต่อคุณภาพผลผลิต รายได้ดี คือ กลุ่มบริษัทมีการประกันราคาสำหรับอินทรีย์ แก่เกษตรกรรุ่นแรกที่ผ่านการรับรองมาตรฐานอินทรีย์ประเทศไทยก่อน ทั้งนี้ จะมีการรับซื้อมันสำปะหลังในปี 2561 ปัจจุบัน มีเกษตรกร 27 รายให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการในปีแรกนี้ เพื่อเริ่มขั้นตอนการปรับเปลี่ยนแปลงปลูกตามมาตรฐานอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตกร สุขภาพดี คือ ผู้ผลิตและผู้บริโภคจะได้คุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขภาพแข็งแรง จากวิถีการผลิตแนวอินทรีย์
ปัจจุบัน โรงงานของกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอลมีความพร้อมด้านเครื่องจักร ทั้งในส่วนของโรงงานเอทานอล และโรงแป้งมันสำปะหลัง โดยได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากลประเภทอาหารทั้งGMP HACCP HALAL และ KOCHER"กลุ่มบริษัทอุบลฯ จึงภูมิใจ ที่อุบลโมเดลมีส่วนช่วยต่อยอดอาชีพแก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี ทำให้เกษตรกรมีรายได้มั่นคง ลดปัญหาการทิ้งถิ่นฐาน สนับสนุนอาชีพการปลูกมันสำปะหลัง ณ บ้านเกิดของตนเอง สร้างสังคมมีสุข พัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง ควบคู่กับการสร้างฐานเศรษฐกิจด้านพลังงานทดแทนอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน" นายเดชพนต์กล่าว
อุบลโมเดลถือเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในการขับเคลื่อนฐานเศรษฐกิจพลังงานทดแทน (ไบโออีโคโนมี่) ตามที่คณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิของประเทศ (คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ) ได้เร่งผลักดันให้เป็นคลื่นลูกใหม่ทางเศรษฐกิจไทย เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าการเกษตร โดยมีมันสำปะหลังเป็นพืชนำร่อง
โครงการไบโออีโคโนมี่ ซึ่งเป็นการขานรับโรดแมปด้านการส่งเสริมพลังงานทดแทนของภาครัฐทั้งในแง่การส่งเสริมการใช้เอทานอลในประเทศ และเพิ่มโอกาสการส่งออกด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทั้งนี้ รัฐบาลกำหนดเป้าหมายการใช้มันสำปะหลังเพื่อผลิตเอทานอล เพิ่มจาก 320 ล้านลิตรต่อปีเป็น 506ล้านลิตรต่อปี ในกรอบเวลาการดำเนินงาน 10 ปีนับจากนี้ (พ.ศ.2559-2568) พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็น 2 เท่าตัว ผ่านการสร้างมูลค่าเพิ่มจากมันสำปะหลังกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร เป็น 6.5-8.5 หมื่นบาทต่อปีต่อราย ส่งผลให้มีอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 3-5 แสนครัวเรือน และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในระยะเวลา 20 ปีให้มากกว่า 30 ล้านตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ
กิจกรรม "งานประชารัฐ พัฒนาชาวไร่มันฯ ขยันแบบอุบลโมเดล" จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 อันเป็นการรวมตัวของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในจังหวัดอุบลราชธานี ที่นอกจากจะได้มาร่วมเรียนรู้ "ลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต" ตามหลักของกรมวิชาการเกษตรแล้ว เกษตรกร ยังได้เดินตามแนวทาง "ขยันแบบอุบลโมเดล"ชักจูง แนะนำเพื่อนมาร่วมขยายผล ผ่านกระบวนการ "พี่สอนน้อง น้องสอนพี่" พัฒนาไปด้วยกัน ยกระดับทั้งจังหวัด ส่งผลพัฒนาทั้งประเทศ โดยมีฐานกิจกรรมการเรียนรู้ให้เข้าร่วม 6 ฐานจากวิทยากรต่างๆ ดังนี้ 1 นิทรรศการ Smart Farmer วิทยากรจากคณะกรรมการอุบลโมเดล ได้แก่ สำนักวิจัย และพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 / ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี / สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 4 / สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดฯ / สำนักงานเกษตรจังหวัดฯ และกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล 2 ฐานดิน โดยสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 4 3 ฐานปุ๋ย โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 4 ฐานอารักขาพืช โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดฯ 5 ฐานเครื่องจักรกลการเกษตร โดยสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม และ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร จ.นครสวรรค์ และ 6 ฐานปุ๋ยหมัก โดยสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี
ทางด้านตลาดมันสำปะหลังแปรรูป นับว่า ชาวไร่ในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียงมีโอกาสอันดีในการสร้างรายได้อย่างมั่นคงจากแหล่งรับซื้อที่แน่นอน ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอลมีกำลังการผลิตเอทานอลวันละ 4 แสนลิตรต่อวัน และมีกำลังการผลิตแป้งมันสำปะหลัง 700 ตันแป้งต่อวันโดยมีความต้องการมันสด 4,000 ตันต่อวัน และมันเส้น 1,200 ตันต่อวัน หรือโดยเฉลี่ยประมาณ 2 ล้านตันต่อปี
ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล ยังมีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจ โดยมีการจัดเตรียมเทคโนโลยีการผลิตที่มีคุณภาพ พร้อมทั้งได้ลงทุนเทคโนโลยีด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมแบบครบวงจรเป็นการดำเนินธุรกิจภายใต้นโยบายรับผิดชอบต่อสังคม และมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมมันสำปะหลังเป็นฐานการสร้างเศรษฐกิจด้านพลังงานทดแทนที่มั่นคง และนำความสุขมาสู่สังคมอย่างยั่งยืน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit