มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เตรียมเปิด "ศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์" และ "ศูนย์ความร่วมมือทางวิชาการด้านการดูแลแบบประคับประคอง" โดยวิถีธรรมชาติแห่งแรกของไทย ภายใต้การบูรณาการศาสตร์ทางการแพทย์ ศาสตร์ทางการพยาบาล และนิติศาสตร์ เพื่อให้ปลายทางของชีวิตผู้ป่วยมีความสมบูรณ์แบบสูงสุด พร้อมตั้งเป้าสู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนทักษะ ความเชี่ยวชาญด้านการประคับประคองผู้ป่วย ตลอดจนพัฒนาสู่ศูนย์กลางความเป็นเลิศทางวิชาการ อย่างไรก็ดี ศูนย์ฯ ดังกล่าว มีกำหนดสร้างแล้วเสร็จ และพร้อมใช้จริง ภายในปี 2561 นอกจากนี้ ภายในงานเปิดตัวทั้ง 2 ศูนย์ฯ ดังกล่าว มธ. ยังได้เปิดตัวนวัตกรรมพยาบาลยุคใหม่ที่รองรับการรักษาพยาบาลในอนาคตจำนวนมาก อาทิ เตียงปรับระดับอัตโนมัติเพื่อการจัดท่าสำหรับเด็กเล็ก เครื่องวัดและกระตุ้นการหายใจสำหรับทารก หุ่นจำลองแผลกดทับ และหุ่นจำลองท่อปัสสาวะเทียม รวมถึงนวัตกรรมพยาบาลผลงานของนักศึกษา อาทิ เครื่องยกขาสูงอัตโนมัติ อุปกรณ์ตรวจจับการหลุดของสายน้ำเกลือ ฯลฯ ที่สามารถคว้ารางวัล จากเวทีประกวดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์จากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา
ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า จากสถิติผู้ป่วยระยะสุดท้าย มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ เนื่องด้วยโรคภัยไข้เจ็บ การประสบอุบัติเหตุ และปัญหาสุขภาพในผู้สูงอายุ ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนกว่า 22,260,000 ราย โดยในปี 2593 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุมากเป็นอันดับที่ 63 ของโลก ซึ่งคิดเป็น 14.3% ของผู้สูงอายุทั่วโลก โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2559 สูงถึง 13% (ข้อมูลจาก องค์การช่วยเหลือผู้สูงอายุระหว่างประเทศ ประจำปี 2557) โดยที่ผ่านมา การรักษาพยาบาลผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว ยังคงมุ่งเน้นการรักษาทางกาย มากกว่าการเยียวยาทางจิตใจ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการดูแลรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีเวลาร่วมกันกับครอบครัว ด้วยเทคนิคการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative care) ก่อนจากไปอย่างสงบโดยวิถีธรรมชาติ มธ. ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มุ่งพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในด้านสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ควบคู่ไปกับการพัฒนาศาสตร์ด้านการแพทย์และพยาบาล จึงกำหนดจัดตั้ง "ศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์" (Thammasat Hospice Palliative Care) และ "ศูนย์ความร่วมมือทางวิชาการด้านการดูแลแบบประคับประคอง" (International Palliative Care Collaborating Center: IPCCC) โดยวิถีธรรมชาติแบบครบวงจรแห่งแรกของไทย เพื่อให้ปลายทางของชีวิตผู้ป่วยมีความสมบูรณ์แบบสูงสุด ภายใต้การบูรณาการศาสตร์การแพทย์ พยาบาล และนิติศาสตร์เข้าด้วยกัน อันตอกย้ำปณิธานสำคัญของมหาวิทยาลัยที่ว่า "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์...มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน" อย่างแท้จริง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง ศรีสนิท เลขานุการศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ กล่าวเสริมว่า การดูแลรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายภายในศูนย์ธรรมศาสตร์ธรรมรักษ์จะอยู่ในรูปแบบกึ่งบ้านกึ่งโรงพยาบาล (Hospice) ศูนย์บำบัดที่เชื่อมต่อระหว่างบ้านและโรงพยาบาลเข้าด้วยกัน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ควบคู่ไปกับการบรรเทาทุกข์ของญาติ ตลอดจนสร้างความเข้าใจแก่ญาติในแง่ของสัจธรรมและใช้โอกาสนี้ทำกิจกรรมร่วมกันกับผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด โดยจะมีทีมแพทย์ผู้รักษาและพยาบาลคอยให้คำแนะนำในการดูแล การสื่อสารและสังเกตปฏิกิริยาการเจ็บป่วยของผู้ป่วยในแต่ละระยะ อาทิ หากผู้ป่วยมีสิ่งใดที่ติดค้างและปรารถนาจะกระทำ ทีมการดูแลทั้งแพทย์ พยาบาล นักจิตวิยา และนักกฎหมาย จะร่วมมือกันกับญาติในการจัดการดูแลตาม ความเชื่อและความศรัทธาที่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายปรารถนา ก่อนที่จะจากไปอย่างสงบ เป็นต้น
สำหรับการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว ในเบื้องต้นศูนย์ธรรมศาสตร์ฯ จะรับผู้ป่วยจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เข้ามารักษาในลักษณะของการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) ในกรณีที่ผู้ป่วยหรือญาติแสดงความประสงค์ที่สามารถกระทำได้ ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 เพื่อเป็นการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้มีหนทางไปสู่ความสงบในบั้นปลายของชีวิต โดยมีเป้าประสงค์สำคัญ คือ การให้ความสำคัญกับผู้ป่วยและครอบครัวเป็นหลัก โดยเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เพื่อให้การรักษาครอบคลุมในทุกด้าน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณ และ มีความต่อเนื่องในการประมวลผลอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ศูนย์ฯ ดังกล่าว มีกำหนดจัดสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2561 บริเวณซอยคลองหลวง 25 ถนนพหลโยธิน อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี บนพื้นที่ 44 ไร่ ด้วยงบประมาณลงทุนกว่า 250 ล้านบาท โดยภายในจะประกอบด้วย เตียงผู้ป่วย ซึ่งในเบื้องต้นสามารถรองรับได้ 20 เตียง ห้องพักญาติผู้ป่วย 20 ห้อง เครื่องมือและอุปกรณ์การรักษาที่ทันสมัย มูลค่ารวมกว่า 50ล้านบาท พร้อมด้วยแวดล้อมโดยรอบศูนย์ฯ ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายและมีความสุขสงบ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง กล่าว
รองศาสตราจารย์ ดร.มรรยาท รุจิวิชชญ์ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มธ. กล่าวว่า คณะพยาบาลศาสตร์ ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นคณะอย่างสมบูรณ์ เมื่อปี 2539 ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการบริการด้านการดูแลสุขภาพแก่สังคม ตลอดจนขยายโอกาสการเข้าถึงการรักษาของประชาชนทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยตลอด 20 ปี ที่ผ่านมา คณะพยาบาลฯ ได้ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพได้มาตรฐานระดับสากล และมีความโดดเด่นด้านคุณธรรมจริยธรรมให้แก่วงการรักษาพยาบาลของประเทศเป็นจำนวนกว่า15,000 คน การจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมสุขภาพเพื่อเป็นแหล่งฝึกปฏิบัติของนักศึกษาพยาบาลทุกหลักสูตร และเป็นแหล่งการทำวิจัยควบคู่กับการเรียนการสอน ตลอดจนพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญ ทั้งในศาสตร์การรักษาพยาบาล และการบูรณาการองค์ความรู้ทางการพยาบาลและเทคโนโลยีมาพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมให้ทันสมัย เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการให้บริการวิชาการแก่สังคม อันจะเอื้อประโยชน์ต่อการรักษาพยาบาล และการรักษาผู้ป่วยของศูนย์ธรรมศาสตร์ธรรมรักษ์ ในอนาคต อาทิ
· นวัตกรรม "เตียงปรับระดับอัตโนมัติเพื่อการจัดท่าสำหรับทารกและเด็กเล็กระบบอัจฉริยะ" (PPG: Intelligence Version) คิดค้นและพัฒนาโดยอาจารย์สุภาวดี ทับกล่ำ อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น คณะพยาบาลศาสตร์ มธ. เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง "เตียงควบคุมอัตโนมัติสำหรับเด็ก" กับ "เครื่องตรวจจับเสมหะ"เพื่อปรับและจัดท่านอนของเด็กเล็กให้มีทางเดินหายใจที่เหมาะสม โดยสามารถพลิกตะแคงได้ตามกำหนด ทั้งสูงต่ำ ซ้ายขวา อีกทั้งยังสามารถตั้งโปรแกรมปรับองศาและตั้งเวลาอัตโนมัติตามที่ต้องการล่วงหน้า ขณะเดียวกัน หากเด็กเล็กมีอาการหายใจติดขัดจากเสมหะที่คั่งค้างในปอด เครื่องตรวจจับเสียงเสมหะจะทำหน้าที่ตรวจจับเสียงเสมหะในปอดรวมทั้งวิเคราะห์เสียงหายใจที่ผิดปกติในทันที พร้อมแสดงผลแบบ Real time ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ ผลงานดังกล่าว สามารถคว้ารางวัลเหรียญทองเกียรติยศ และรางวัล Special Prize จากประเทศฮ่องกง ในงานประกวดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ครั้งที่ 44 ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
· นวัตกรรม "เตียงพลิกตะแคงตัวระบบไฟฟ้า" คิดค้นและพัฒนาโดย ผศ.จิณพิชญ์ชา มะมม อาจารย์ประจำกลุ่มวิชา การพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ คณะพยาบาลศาสตร์ มธ. เตียงนอนพลิกตะแคงตัวระบบไฟฟ้า จะทำงานโดยใช้ไฟฟ้ามีคุณสมบัติ 1) สามารถพลิกตะแคงตัวซ้ายและขวาหน้า 3 ระหว่าง 0-30 องศากับแนวระนาบเพื่อป้องกันการเกิดแรงกดทบบริเวณปุ่มกระดูก 2) สามารถยกหัวเตียง ระหว่าง 0-60 องศากับแนวระนาบเพื่อป้องกันการเกิดแรงกดทับบริเวณท้ายทอย ใบหูใบหน้าและเพื่อยกศีรษะสูงเวลารับประทานอาหาร หรือเวลาเปลี่ยนอิริยาบถ 3) สามารถยกส่วนข้อพับเข่า0-45 องศา กับแนวระนาบเพื่อป้องกันการเกิดแรงกดทับบริเวณใต้เข่า ข้อเข่า ส้นเท้า ตาตุ่ม เตียงพลิกตะแคง จะช่วยอำนวยความสะดวกในการพลิกตะแคงอย่างถูกต้องแก่ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีข้อจำกัดทางการเคลื่อนไหว ซึ่งส่งผลให้คุณภาพการดูแลผู้ป่วยดีมากขึ้น ทั้งนี้ ผลงานดังกล่าว ได้รับรางวัลเหรียญทอง ในงานประกวดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ครั้งที่ 43 ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
นอกจากนี้ คณะพยาบาลศาสตร์ ยังมีศูนย์ความร่วมมือทางวิชาการด้านการดูแลแบบประคับประคอง (International Palliative Care Collaborating Center: IPCCC) ศูนย์ให้คำปรึกษาและจัดอบรมแก่ผู้สนใจด้านการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง โดยมีจุดประสงค์เพื่อรวบรวมสมาชิกที่มีความสนใจในศาสตร์ของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายทั้งในและต่างประเทศเข้ามาเป็นสมาชิกไม่น้อยกว่า 5 ประเทศในการสร้างงานวิจัย และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน รวมไปถึงการพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ใหม่ในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายอย่างมีประสิทธิภาพ และยังเป็นศูนย์ฝึกและค้นคว้าวิจัยสำหรับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา รวมถึงจัดอบรมให้กับพยาบาลและผู้ดูแลผู้ป่วย ตลอดจนพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศทางด้านวิชาการด้านการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง รองศาสตราจารย์ ดร.มรรยาท กล่าว
"มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งมั่นสู่การเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อสังคมไทยปลูกฝังจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ต่อบุคลากรและนักศึกษา ด้วยการยึดมั่นในความเป็นธรรม การมีจิตสาธารณะ และการมีความรับผิดชอบต่อสังคม ควบคู่ไปกับการสร้างบัณฑิตยุคใหม่ให้มีคุณสมบัติผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21 สอดรับตามแนวคิด "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์...มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง"
ทั้งนี้ พิธีเปิด ศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ (ศูนย์ชั่วคราว) จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ คณะพยาบาลศาสตร์ ชั้น 1 อาคารราชสุดา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะพยาบาลศาสตร์ มธ. ศูนย์รังสิต หมายเลขโทรศัพท์ 02-986-9213 ต่อ 7316-8 เว็บไซต์ http://nurse.tu.ac.th หรือ งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต หมายเลขโทรศัพท์ 02-564-4493 เว็บไซต์ http://www.tu.ac.th