เด็กสารสาสน์เอกตราสุดเจ๋ง โชว์ไอเดียประดิษฐ์ Ingenious Robotic Arm แขนกลอัจฉริยะ สั่งงานผ่านเสียง ช่วยผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง

05 Sep 2016
นักเรียนสารสาสน์เอกตราสุดเจ๋ง เปิดตัวสิ่งประดิษฐ์ Ingenious Robotic Arm แขนกลอัจฉริยะ เพื่อบรรเทาทุกข์ผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ ประจำปี 2559 ของโรงเรียนสารสาสน์เอกตรา ภายใต้คอนเซ็ปต์ "การสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์"
เด็กสารสาสน์เอกตราสุดเจ๋ง โชว์ไอเดียประดิษฐ์ Ingenious Robotic Arm แขนกลอัจฉริยะ สั่งงานผ่านเสียง ช่วยผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง

รายงานข่าวจากโรงเรียนสารสาสน์เอกตราเปิดเผยว่า จากการจัดกิจกรรม "สัปดาห์วิทยาศาสตร์ 2559" ภายใต้คอนเซ็ปต์ "การสร้างสรรค์นวัตกรรมโดยใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์" มาพัฒนาศักยภาพของตัวเอง โดยการประกวดผลงานทางวิทยาศาสตร์ในปีนี้ ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โครงงาน "แขนกลอัจฉริยะ" ที่ได้โชว์ไอเดียประดิษฐ์ Ingenious Robotic Arm แขนกลอัจฉริยะ สั่งงานผ่านเสียง บรรเทาทุกข์ผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยทีมนักประดิษฐ์ประกอบด้วย นายรพีพัชร อรุณีนิรนาม, นายกรกฎ ชิดเชียร์, นายเอกภณ ก่อสินเจริญ, นายวศิน เรื่องปราชญ์ และนายอิธิวัสส์ จิราธิกุลธัญสิริ

นายรพีพัชร์ อรุณีนิรมาน นักประดิษฐ์เยาวชนคนเก่ง หนึ่งในทีมประดิษฐ์ Ingenious Robotic Arm แขนกลอัจฉริยะ กล่าวว่า "หลังจากที่เคยชมภาพยนตร์เรื่องไอรอนแมน ได้เห็นแขนกลที่เป็นผู้ช่วยอัจฉริยะ และได้เห็นผู้ป่วยที่เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จึงอยากประดิษฐ์อุปกรณ์หุ่นยนต์ที่สามารถใช้งานได้จริง และมีประโยชน์ต่อผู้อื่น ทางกลุ่มจึงได้ประดิษฐ์ Ingenious Robotic Arm แขนกลอัจฉริยะ ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการช่วยเหลือผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง และผู้พิการที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

สำหรับความพิเศษของแขนกลอัจฉริยะที่ประดิษฐ์ขึ้นนั้น มีคุณสมบัติ คือการรับคำสั่งด้วยเสียง ต่างจากในปัจจุบันที่แขนกลอัจฉริยะที่มักจะสั่งงานด้วยรีโมทหรืออุปกรณ์บังคับ จึงนำแนวคิดมาต่อยอดพัฒนาใหม่ให้สามารถสั่งด้วยเสียงได้ เพื่อความสะดวกสำหรับผู้ใช้ โดยอุปกรณ์แขนกลอัจฉริยะที่คิดค้นขึ้นมานั้น ใช้งานง่ายผ่านระบบสั่งการด้วยเสียงจากสมาร์ทโฟน โดยทางทีมใช้เวลาในการผลิตและพัฒนาทั้งสิ้นเป็นเวลา 2 เดือน โดยขั้นตอนแรกเริ่มจากการวาดโครงสร้าง, คิดสูตรของโปรแกรมในการประดิษฐ์, ปรับแนวความคิดในการสั่งงานด้วยเสียง, ประกอบรูปร่าง, ต่อวงจร และทดสอบจนกว่าจะใช้งานได้จริง ซึ่งทางทีมได้ใช้โปรแกรม SketchUp ซึ่งเป็นโปรแกรมสามมิติ ที่สามารถสั่งให้เคลื่อนไหวตามเสียงได้นั่นเอง

"ในอนาคตข้างหน้าจะพัฒนาเป็นระบบไฮดรอลิก ช่วยให้เคลื่อนไหวได้เร็วและแรงยิ่งขึ้น เพื่อช่วยเหลือคนบาดเจ็บที่อยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ ด้วยการทำงานเป็นระบบไร้สาย เพื่อสะดวกต่อการใช้งานและเหมาะกับผู้ป่วยที่เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง" นักประดิษฐ์เยาวชนคนเก่งจากรั้วสารสาสน์เอกตรากล่าว

ด้านนางสุภาวดี โชติวรรณพร รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการประถมและมัธยม กล่าวว่า การจัดงานในปีนี้เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งและค่อนข้างพอใจกับโครงงานของนักเรียน เพราะเด็ก ๆ ทุกคน ในทุก ๆ ระดับชั้นได้มีส่วนร่วมในการประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ อีกทั้งการจัดกิจกรรมเหล่านี้ ยังเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน ในการพัฒนาทักษะกระบวนการความคิดทางวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นฟิสิกส์ เคมี และเพื่อเสริมสร้างเจตคติที่ดีต่อวิชาวิทยาศาสตร์ รวมทั้งยังต้องการให้ตระหนักถึงความสำคัญในการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปต่อยอดในการพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ซึ่งในอนาคตนักเรียนจะต้องเติบโตเป็นพลเมืองทีดี ที่พัฒนาให้ประเทศก้าวหน้า สิ่งที่สำคัญสำหรับเด็กเอกตรา คือต้องตั้งใจศึกษา ค้นหาความรู้นำไปสู่การพัฒนาตนเองให้เป็นคนที่มีคุณภาพ ที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศในการสร้างความรู้ สร้างปัญญา และสร้างขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศต่อไป และสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ การมีความรู้ควบคู่คุณธรรม ดังปรัชญาของโรงเรียนที่ว่า "คุณธรรม นำวิชา ภูมิปัญญา พาพัฒนา"

HTML::image( HTML::image( HTML::image(