นายอานัติ วิเศษรจนา รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เปิดเผยในโอกาสเป็นประธานเปิดโครงการเกษตรเพื่อชีวิต"เกษตรกรรุ่นใหม่ ใส่ใจมาตรฐาน"ครั้งที่ 3 ณ จ.สงขลา ว่า การจัดงานครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อให้เป็นเวทีที่จะสรุปผลการดำเนินงานโครงการฯ ในปี 2559 และแผนการดำเนินงานในปี 2560 โดยมีนักศึกษาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเขตภาคใต้ 10 จังหวัด ประกอบด้วย จ.สงขลา พัทลุง ตรัง สตูล ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พังงา ระนอง และ จ.กระบี่ พร้อมด้วยอาจารย์ เจ้าหน้าที่จากกรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว และภาคเอกชนจำนวน180 คน ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น เสนอแนะแนวทางการดำเนินโครงการ ปัญหา อุปสรรค เพื่อพัฒนาหลักสูตร กิจกรรมให้ครอบคลุมวัตถุประสงค์ของโครงการที่ต้องการสนับสนุน และส่งเสริมเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั่วประเทศรวมถึงเกษตรกรรุ่นใหม่ เกิดองค์ความรู้ที่ดีด้านการเกษตร มาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ.) สามารถนำไปปฏิบัติใช้จริงได้ในแปลงตนเอง และขยายผลไปสู่พื้นที่ใกล้เคียงได้
นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญ คือ พิธีมอบรางวัล และประกาศเกียรติคุณแก่ผู้ชนะการประกวดฟาร์มมาตรฐานสินค้าเกษตรให้แก่นักศึกษาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเขตภาคใต้ 10 จังหวัด ที่ส่งโครงการเข้าประกวดรวม 41 โครงการ โดยแบ่งรางวัลเป็น 3 ประเภท ได้แก่ การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหารชนิดพืชอายุสั้น (พืชผัก พืชไร่) การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหารชนิดพืชยืนต้น (ไม้ผล) และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับข้าว โดยรางวัลชนะเลิศของแต่ละประเภทจะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 30,000 บาท เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ และมีทัศนคดีที่ดีต่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เห็นความสำคัญและเข้าสู่ภาคการเกษตรมากขึ้น ซึ่งภายในงานครั้งนี้จะมีการจัดแสดงนิทรรศการและผลผลิตจากฟาร์มของนักศึกษาในโครงการเกษตรเพื่อชีวิตเพื่อแลกเปลี่ยนกันด้วย
"โครงการเกษตรเพื่อชีวิต "เกษตรกรรุ่นใหม่ ใส่ใจมาตรฐาน" เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรรุ่นใหม่ได้ซึมซับเข้ามารักอาชีพการเกษตรให้มากขึ้นซึ่งถือว่าเป็นสายอาชีพที่มีความสำคัญ เพราะเป็นรากฐานของประเทศไทย ดังนั้นการที่กระทรวงเกษตรฯ โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาทำโครงการในลักษณะส่งเสริมเด็ก และเยาวชน หันมาสนใจในอาชีพเกษตรกรรม โดยมาจากวิทยาลัยเกษตรทั้งหลาย ที่นอกจากการเรียนรู้การทำเกษตรที่ยั่งยืนแล้วยังได้เน้นย้ำการทำเกษตรที่มีมาตรฐานด้วย เพราะผู้บริโภคในยุคปัจจุบันใส่ใจในเรื่องสุขภาพมากขึ้นผ่านกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน และกิจกรรมต่างๆ ที่กำหนดขึ้น เพื่อปลูกฝัง และเสริมสร้างประสบการณ์ด้านการผลิตสินค้าเกษตรตามมาตรฐาน มีการบริหารจัดการด้านการผลิต การแปรรูป จนถึงการตลาด ให้แก่เกษตรกรรุ่นใหม่ รวมถึงการย้ำให้เห็นความสำคัญในการสืบทอดอาชีพเกษตรกร ไม่ละทิ้งภาคการเกษตรในอนาคต" รองเลขาธิการ มกอช. กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit