ปภ.เตือนโรคประจำตัวที่เป็นอุปสรรคต่อการขับรถ...เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน

01 Sep 2016
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เตือนโรคประจำตัวที่เป็นอุปสรรคต่อการขับรถ ทั้งการมองเห็น การควบคุมรถ และการแก้ไขเหตุฉุกเฉินเฉพาะหน้า อาทิ โรคเกี่ยวกับสายตา โรคสมองเสื่อม โรคอัมพฤกษ์หรือ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคข้อเสื่อมและข้ออักเสบ โรคพาร์กินสัน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคลมชัก เพื่อความปลอดภัย ควรหลีกเลี่ยง การขับรถด้วยตนเอง ไม่ขับรถติดต่อกันเป็นเวลานาน ไม่ขับรถผ่านเส้นทางที่มีการจราจรติดขัด และไม่ขับรถในช่วงเวลากลางคืน หรือเส้นทางที่มีทัศนวิสัยไม่ดี จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ปัญหาด้านสุขภาพและโรคประจำตัวบางโรคส่งผลต่อสมรรถนะในการขับรถ ทั้งการมองเห็น การควบคุมรถ และการแก้ไขเหตุฉุกเฉินเฉพาะหน้า โดยเฉพาะหากอาการของโรคกำเริบ ขณะขับรถ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอเตือนโรคประจำตัว ที่เป็นอุปสรรคต่อการขับรถ ดังนี้ โรคเกี่ยวกับสายตา ผู้ที่จอประสาทตาเสื่อมจะมองเห็นเส้นทางในช่วงเวลากลางคืนไม่ชัดเจน ส่วนผู้ที่เป็นต้อหิน ต้อกระจก จะมีมุมในการมองเห็นแคบและมองเห็นแสงไฟพร่ามัว เพื่อความปลอดภัย ควรหลีกเลี่ยงการขับรถในช่วงเวลากลางคืน หรือเส้นทางที่มีทัศนวิสัยไม่ดี โรคสมองเสื่อม ส่วนมากมักพบในผู้สูงอายุ โดยจะมีอาการหลงลืมจดจำเส้นทางไม่ได้ เพื่อความปลอดภัย ไม่ควรขับรถด้วยตนเองโดยเด็ดขาด โรคอัมพฤกษ์หรือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ทำให้ไม่มีกำลังแขนในการบังคับพวงมาลัยหรือเปลี่ยนเกียร์ ขาไม่มีแรงเหยียบคันเร่งและเบรก เพื่อความปลอดภัย ควรปรึกษาแพทย์และรักษาอาการของโรคให้หายเป็นปกติก่อนกลับมาขับรถ โรคข้อเสื่อมและข้ออักเสบ ทำให้ไม่มีแรงเหยียบเบรก คลัตช์ หรือคันเร่ง ขยับร่างกายลำบาก เมื่อต้องหยุดรถกะทันหัน จะไม่สามารถเหยียบเบรกได้ทัน รวมถึงไม่สามารถนั่งขับรถเป็นเวลานานได้ เพื่อความปลอดภัย ควรหลีกเลี่ยงการขับรถระยะทางไกลเป็นเวลานาน ไม่ขับรถผ่านเส้นทางที่มีสภาพการจราจรติดขัด โรคพาร์กินสัน จะมีอาการมือเท้าสั่นและกล้ามเนื้อเกร็งเป็นบางครั้ง กรณีอาการรุนแรงจะทำให้เกิดภาพหลอน หากขับรถ จะก่อให้เกิดอันตรายได้ โรคหัวใจ การขับรถในช่วงที่สภาพการจราจรติดขัด อาจทำให้เกิดอาการเครียด จนโรคหัวใจกำเริบ เพื่อความปลอดภัย ควรหลีกเลี่ยงการขับรถตามลำพัง และนำยาติดตัวไว้เสมอ รวมถึงควรจอดรถพักเป็นระยะ เพื่อป้องกันภาวะเครียดสะสม ทำให้โรคหัวใจกำเริบ โรคเบาหวาน หากระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ จะมีอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ สายตาพร่ามัว เหงื่อออกมาก ใจสั่น และหมดสติ หากอาการไม่รุนแรง สามารถขับรถได้ แต่หากอาการรุนแรง ห้ามขับรถโดยเด็ดขาด หากจำเป็นต้องขับรถ ควรเตรียมอาหาร ลูกอม น้ำหวานไว้รับประทาน เพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ทำให้หมดสติ ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ โรคลมชัก มีอาการชัก เกร็ง กระตุกโดยไม่รู้ตัว หมดสติ ควรหลีกเลี่ยงการขับรถ ด้วยตนเอง หากจำเป็นต้องขับรถ ต้องไม่มีอาการชักอย่างน้อย ๖ เดือน ควรมีเพื่อนร่วมทางไปด้วย เมื่อมีอาการเตือนของโรคลมชัก ให้จอดรถริมข้างทางในบริเวณที่ปลอดภัย ซึ่งผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุจากการชักขณะขับรถ ควรเว้นระยะในการขับรถและต้องไม่มีอาการชักอย่างน้อย ๑ – ๒ ปี จึงสามารถกลับมาขับรถได้อีกครั้ง ทั้งนี้ แม้ว่าปัญหาสุขภาพ และโรคประจำตัวบางโรคจะส่งผลกระทบต่อสมรรถนะในการขับขี่ แต่ถ้าหากพบแพทย์เพื่อประเมินความพร้อมของร่างกาย รู้จักสังเกตอาการของโรค หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้อาการของโรคกำเริบ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th