สำนักงานทรัพย์สินฯ ฟื้นฟูพื้นที่รอบพระบรมมหาราชวัง ผุดที่จอดรถใต้ดินบรรเทาปัญหาจราจรรอบเกาะรัตนโกสินทร์ พร้อมชูสวนนาคราภิรมย์ แลนด์มาร์คใหม่ทางประวัติศาสตร์

23 Sep 2016
สำนักงานทรัพย์สินฯ ผนึกสำนักพระราชวัง และกทม. จัดสร้างอาคารที่จอดรถใต้ดิน หวังบรรเทาปัญหาการจราจรรอบเกาะรัตนโกสินทร์ พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์สวนนาคราภิรมย์และพื้นที่บริเวณคลังราชการ ชูมิติด้านสังคม-ศิลปวัฒนธรรม มั่นใจเป็นแลนด์มาร์คทางประวัติศาสตร์แห่งใหม่ พร้อมเตรียมบูรณะอาคารโบราณสถาน ๕ หลังในพื้นที่เป็นพิพิธภัณฑ์โขน คาดใช้ระยะเวลาก่อสร้าง ๒ ปี เตรียมจัดพิธีวางศิลาฤกษ์ ๑๐ ตุลาคมนี้
สำนักงานทรัพย์สินฯ ฟื้นฟูพื้นที่รอบพระบรมมหาราชวัง ผุดที่จอดรถใต้ดินบรรเทาปัญหาจราจรรอบเกาะรัตนโกสินทร์ พร้อมชูสวนนาคราภิรมย์ แลนด์มาร์คใหม่ทางประวัติศาสตร์

นางอรนุช อิ่มอารมณ์ หัวหน้าฝ่ายอาวุโส ฝ่ายบริหารงานอนุรักษ์ สำนักงานทรัพย์สิน ส่วนพระมหากษัตริย์ เปิดเผยว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เริ่มดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่รอบพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ โดยได้ดำเนินการปรับปรุงกลุ่มอาคารโบราณสถาน อันประกอบด้วย อาคารตึกแถวริมถนนหน้าพระลาน ท่าช้าง และท่าเตียน กลุ่มอาคารดังกล่าวตั้งอยู่โดยรอบพระบรมมหาราชวังซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและมีความสวยงามระดับโลก จากการทำงานดังกล่าวทำให้รับทราบถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบริเวณนี้ โดยเฉพาะปัญหาที่จอดรถที่ไม่เพียงพอ เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมทั้งประชาชน ผู้ประกอบการ นักศึกษา และข้าราชการ เดินทางเข้ามาในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดการจอดรถบนพื้นผิวถนนกีดขวางเส้นทางการจราจร เกิดความแออัดคับคั่ง และบดบังทัศนียภาพของสถานที่สำคัญบริเวณรอบพระบรมมหาราชวัง

ด้วยเหตุนี้ สำนักงานทรัพย์สินฯ จึงได้หารือกับสำนักพระราชวัง ถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และมีแนวคิดในการจัดทำโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณโดยรอบพระบรมมหาราชวัง ส่วนงานก่อสร้างอาคารจอดรถใต้ดิน "สวนนาคราภิรมย์ พร้อมกับงานบูรณะอาคารโบราณสถาน "อาคารคลังราชการ" เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด ลดปัญหาการขาดแคลนที่จอดรถ รวมถึงปรับปรุงภูมิทัศน์สวนนาคราภิรมย์เดิม เพื่อเปิดมุมมองพื้นที่ให้เห็นทัศนียภาพอันสวยงามบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ภายใต้แนวคิดการออกแบบที่คำนึงถึงความเหมาะสมและความกลมกลืนกับภูมิทัศน์โดยรอบ ทำให้สวนนาคราภิรมย์เป็นสวนสาธารณะที่ช่วยส่งเสริมความโดดเด่นของสถาปัตยกรรมโดยรอบเหล่านี้

สำหรับส่วนงานก่อสร้างอาคารจอดรถใต้ดิน และปรับปรุงภูมิทัศน์ด้านบนสวนนาคราภิรมย์และ คลังราชการ เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักพระราชวัง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และกรุงเทพมหานคร มีพื้นที่รวมขนาดประมาณ ๗.๕ ไร่ โดยกำหนดให้มีพิธีวางศิลาฤกษ์ในวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๙ นี้ ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ ๒ ปี ซึ่งรูปแบบโครงการ ประกอบด้วยส่วนงานอาคารจอดรถใต้ดิน

๑. อาคารจอดรถใต้ดิน ๓ ชั้นครึ่ง สามารถจอดรถยนต์ส่วนบุคคลและรถตู้หลังคาสูงได้ จำนวน ๗๐๐ คัน ส่วนงานปรับปรุงภูมิทัศน์ด้านบนสวนนาคราภิรมย์

๑. การก่อสร้างอาคารประกอบย่อยระดับพื้นดิน ได้แก่ ลิฟท์ล็อบบี้ ศาลาดนตรี อาคารควบคุมระบบแสงและเสียง ห้องน้ำสาธารณะ รวมจำนวน ๕ หลัง

๒. งานก่อสร้างเรือนรับรองริมแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน ๑ หลัง

๓. การปรับเปลี่ยนภูมิสถาปัตย์ระดับพื้นดินเหนืออาคารจอดรถ และบริเวณโดยรอบเต็มพื้นที่โครงการ ให้เป็นสวนสาธารณะสำหรับประชาชนและนักท่องเที่ยว

๔. บูรณะอาคารโบราณสถาน ในพื้นที่ของ "อาคารคลังราชการ" จำนวน ๕ หลัง เป็นพิพิธภัณฑ์โขน ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ ภายในจะนำเครื่องโขนที่ชาวบ้านทำมาถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งมีความวิจิตรงดงามมากมาจัดแสดง

ในส่วนงานการออกแบบอาคารจอดรถใต้ดิน บริษัท เมตริก วิศวกรที่ปรึกษา และสถาปนิก จำกัด โดยคุณอานนท์ ฉ่ำชื่นวงษ์ ตัวแทนจากบริษัทฯ กล่าวถึงการดำเนินการออกแบบอาคารจอดรถใต้ดิน จำนวน 3 ชั้นครึ่งว่า รูปแบบของอาคารจอดรถจะเป็นแบบแยกชั้น (Spit type) โดยแต่ละชั้นสูง 2.70 เมตร ทำให้สามารถจอดรถตู้ชนิดหลังคาสูงได้ทุกชั้น อีกทั้งยังมีระบบแนะนำที่จอดรถ เพื่อดูจำนวนรถที่จอดอยู่ในแต่ละชั้นได้ และยังมีแนวคิดในการจัดสรรพื้นที่ให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม โดยมีการออกแบบทางเข้า-ออกที่สอดคล้องกับบริบทรอบข้าง ออกแบบช่องจอดสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชราให้อยู่ใกล้โถงลิฟต์และห้องน้ำมากที่สุด สามารถใช้ Wheelchair ต่อเนื่องจากช่องจอดรถมายังทางเท้า โดยมีทางลาดรองรับ เป็นต้น นอกจากนี้ยังคำนึงถึงเรื่องความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้าง และระบบรักษาความปลอดภัยที่มีความพร้อมกว่ามาตรฐาน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดแก่ผู้ใช้พื้นที่ อาทิ ออกแบบให้มีระบบดับเพลิงอัตโนมัติ (Sprinkler) ใช้ร่วมกับระบบสายฉีดน้ำครอบคลุมอาคารทุกชั้น ใช้ระบบดับเพลิงอัตโนมัติแบบ GAS สำหรับห้องไฟฟ้า และต่อท่อดับเพลิงจากอาคารจอดรถใต้ดินไปยังฝั่งตลาดท่าเตียน เป็นต้น โดยส่วนพื้นที่ด้านบนจะยังคงเป็นสวนสาธารณะที่มีความสวยงามตามเดิม

ส่วนงานภูมิสถาปัตย์ระดับพื้นดินเหนืออาคารจอดรถนั้นออกแบบโดย ดร.พรธรรม ธรรมวิมล ร่วมกับบริษัท ภูมิสถาปนิกกรุงเทพ จำกัด เปิดเผยถึงแนวคิดการออกแบบบนพื้นฐานความสำคัญในด้านต่างๆ ดังนี้ ๑.ลักษณะเด่นที่ตั้งพื้นที่ ผู้ออกแบบอาศัยเรื่องการศึกษาแนวแกนของเมืองสมัยอดีตเป็นแนวคิดในการออกแบบ จึงมองเห็นความสำคัญของที่ตั้งแห่งนี้ในการเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างฝั่งรัตนโกสินทร์และฝั่งธนบุรี โดยมีพระปรางค์วัดอรุณเป็นภูมิสัญลักษณ์ ๒.มุมมองและทัศนียภาพที่งดงาม ความโดดเด่นของพื้นที่แห่งนี้คือความเป็นช่องมองมุมกว้างที่สำคัญ เปิดมุมมองสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และพระปรางค์วัดอรุณฯ และ ๓.การออกแบบ สามารถรองรับกิจกรรมประโยชน์ใช้สอยสาธารณะ การสัญจร และการท่องเที่ยวได้อย่างครบถ้วน

อนึ่ง พื้นที่สวนนาคราภิรมย์เดิมเป็นที่ตั้งของกรมการค้าภายในเดิมและองค์การคลังสินค้า อยู่ในความรับผิดชอบของ ๓ หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กรมธนารักษ์ และกรุงเทพมหานครฯ ถูกออกแบบให้เป็นสวนเปิดโล่ง สามารถมองเห็นความสง่างามของสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติทั้งสองฝั่งแม่น้ำ อาทิ มองเห็นความงามของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง วัดพระเชตุพน-วิมลมังคลาราม และภาพความสวยงามของพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม พระอุโบสถ วัดระฆังโฆสิตาราม ตลอดจนอาคารราชนาวิกสภา โดยพื้นที่บริเวณนี้เปิดให้ประชาชนใช้เป็นลานอเนกประสงค์เพื่อการออกกำลังกาย การพักผ่อนหย่อนใจ และเป็นจุดชมวิวที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสวนสาธารณะแห่งนี้ว่า "สวนนาคราภิรมย์" อันหมายความว่า สวนเป็นที่น่ารื่นรมย์ยิ่งของชาวพระนคร

สำนักงานทรัพย์สินฯ ฟื้นฟูพื้นที่รอบพระบรมมหาราชวัง ผุดที่จอดรถใต้ดินบรรเทาปัญหาจราจรรอบเกาะรัตนโกสินทร์ พร้อมชูสวนนาคราภิรมย์ แลนด์มาร์คใหม่ทางประวัติศาสตร์ สำนักงานทรัพย์สินฯ ฟื้นฟูพื้นที่รอบพระบรมมหาราชวัง ผุดที่จอดรถใต้ดินบรรเทาปัญหาจราจรรอบเกาะรัตนโกสินทร์ พร้อมชูสวนนาคราภิรมย์ แลนด์มาร์คใหม่ทางประวัติศาสตร์ สำนักงานทรัพย์สินฯ ฟื้นฟูพื้นที่รอบพระบรมมหาราชวัง ผุดที่จอดรถใต้ดินบรรเทาปัญหาจราจรรอบเกาะรัตนโกสินทร์ พร้อมชูสวนนาคราภิรมย์ แลนด์มาร์คใหม่ทางประวัติศาสตร์