นายยุทธ ชินสุภัคกุล ประธานกรรมการ บริษัท โรงพิมพ์ตะวันออก จำกัด (มหาชน) (EPCO) เปิดเผยว่า ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติให้บริษัทฯเข้าซื้อหุ้นสามัญทั้งทางตรงและทางอ้อม ในสัดส่วน 49.50% ของ บริษัท พีพีทีซี จำกัด (PPTC) ซึ่งเป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดเล็ก ระบบ Cogeneration กำลังการผลิตสูงสุดรวมประมาณ 120 เมกะวัตต์ และไอน้ำกำลังการผลิตสูงสุดรวมประมาณ 30ตันต่อชั่วโมง ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ซึ่งในปัจจุบัน PPTC ก่อสร้างโรงไฟฟ้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้เริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ให้กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2559 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ยังได้อนุมัติให้ทำรายการเข้าซื้อหุ้นสามัญทางอ้อม ในสัดส่วน 30% ของ บริษัท เอสเอสยูที จำกัด (SSUT) ซึ่งเป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดเล็ก ระบบ Cogeneration กำลังการผลิตสูงสุดรวมประมาณ 240 เมกะวัตต์ และไอน้ำกำลังการผลิตสูงสุดประมาณ 60 ตันต่อชั่วโมง ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จและเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ให้กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ประมาณเดือนกันยายน 2559
การเข้าลงทุนโรงไฟฟ้าแก๊สธรรมชาติทั้ง 2 โครงการรวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 2,649.68 ล้านบาท โดยลงทุนผ่าน บริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (EP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ EPCO โดยถือหุ้นในสัดส่วน78.06% โดยบริษัทฯได้แต่งตั้ง บริษัทหลักทรัพย์ ดิสคัฟเวอร์ แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ DISCOVER เป็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ (IFA) เพื่อให้ความเห็นต่อการเข้าทำรายการสำหรับแหล่งที่มาของเงินที่ใช้ในการลงทุนครั้งนี้ จะมาจากเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนของ EP จำนวน 750 ล้านบาท รวมถึงการออกและเสนอขายหุ้นกู้ของบริษัทฯ และ/หรือ EP โดยเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ ในวงเงิน 2,000 ล้านบาท
ประธานกรรมการ บริษัท โรงพิมพ์ตะวันออก จำกัด (มหาชน) (EPCO) กล่าวอีกว่า การเข้าซื้อหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าว จะช่วยส่งเสริมและสร้างความเติบโตของรายได้ที่มั่นคงให้แก่บริษัทฯในอนาคต ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกำไรและกระแสเงินสดกลับมาในระยะเวลาอันรวดเร็ว และในท้ายที่สุดจะช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯในระยะยาว และจากการเข้าซื้อโรงไฟฟ้าแก๊สธรรมชาติ กำลังการผลิต 360 เมกะวัตต์ในครั้งนี้ ส่งผลให้กลุ่มบริษัทมีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 425 เมกะวัตต์ ก่อนที่จะนำบริษัทลูกคือ EP เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในปี 2560 และตั้งเป้าหมายกุมกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 600 เมกะวัตต์ ภายในปี 2561
นอกจากนี้ ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นยังได้อนุมัติยกเลิกแผนการการลงทุนโครงการโซลาร์ฟาร์มในประเทศญี่ปุ่น จากกำลังการผลิตที่เคยแจ้งไปทั้งหมด 48 เมกะวัตต์ โดยโครงการที่ขอยกเลิกประกอบด้วย โครงการ Shirakata 1-3 กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 5.336 เมกะวัตต์ และโครงการ Genbi กำลังการผลิตไฟฟ้า 10 เมกะวัตต์ รวมทั้งสิ้น 15.336เมกะวัตต์ เนื่องจากติดปัญหาจากพันธมิตรที่ไม่สามารถจัดหาที่ดินและใบอนุญาตให้ได้ตามสัญญา จึงจำเป็นต้องทำการยกเลิกแผนการลงทุนดังกล่าวไป โดยบริษัทฯ ยังไม่ได้ลงทุนในโครงการดังกล่าวใดๆทั้งสิ้น
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit