หากกล่าวในเชิงบริบททางการเมือง ไตรมาส 3/59 อาจจะดูน่าตื่นเต้นสำหรับประเทศไทย แต่หลังจากที่มีการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญไปแล้วเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม และการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้ายังต้องรอไปอีก 5 ไตรมาสข้างหน้า ประเด็นเศรษฐกิจจึงกลับมาเป็นจุดสนใจหลักอีกครั้ง
ในไตรมาส 2/59 จีดีพีเติบโตเกินกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับปีก่อน หลังจากขยายตัวร้อยละ 3.2 ในไตรมาส 1 แต่เมื่อปรับตามฤดูกาลแล้ว อัตราการเติบโตรายไตรมาสชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 1.0 เป็นร้อยละ 0.8 โดยการขยายตัวของจีดีพี มี 3 ปัจจัยสนับสนุนหลัก ได้แก่ การบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ และการท่องเที่ยว (การส่งออกด้านบริการ) การยุติของปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงช่วยคลายความกังวลของเกษตรกร และทำให้รายได้เกษตรกรปรับตัวดีขึ้น และส่งเสริมการใช้จ่ายของผู้บริโภค ขณะเดียวกัน การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 20.5 ในรายไตรมาสเทียบกับปีก่อน (และร้อยละ 20.4 ในรอบครึ่งปีแรกของปี 2559)
อย่างไรก็ตาม เราตระหนักว่าแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยมาจากการส่งออกสุทธิที่เป็นผลมาจากการลดลงอย่างมีนัยสำคัญของการนำเข้า ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนถึงการลงทุนภาคเอกชน การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและการส่งออกที่ซบเซา ข้อมูลเศรษฐกิจช่วงปลายไตรมาส 2 และต้นไตรมาส 3 สะท้อนว่าโมเมนตัมการเติบโตโดยรวมชะลอลง โดยเฉพาะด้านสินเชื่อธุรกิจ คำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรม และการส่งออก ในขณะที่ดัชนีที่เกี่ยวกับผู้บริโภค เช่น การเติบโตของค่าจ้าง และหนี้ครัวเรือน ยังสะท้อนว่าผู้บริโภคน่าจะคงการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังในระยะกลาง
ดังนั้น เราจึงยังคงมีมุมมองที่ระมัดระวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และคงการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2559 และ 2560 ไว้ที่ระดับร้อยละ 2.8 หากเศรษฐกิจไทยเริ่มจะชะลอตัวลงมากกว่าคาด ไม่ว่าจากสาเหตุอะไรก็ตาม เช่น อุปสงค์ในตลาดโลกที่อ่อนแอลง เราคาดว่ามาตรการทางการคลังยังเพียงพอที่จะรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจไทยไว้ที่ระดับปานกลางได้การจัดทำงบประมาณขาดดุลมูลค่า 390 พันล้านบาทในปีงบประมาณ 2560 (หรือคิดเป็นร้อยละ 2.7 ของจีดีพี) ในเชิงกฎหมายรัฐบาลสามารถขาดดุลเพิ่มขึ้นได้อีกเป็นร้อยละ 50 หากมีความจำเป็น นอกจากนี้ รัฐบาลยังสามารถเลือกที่จะผลักดันโครงการโครงสร้างพื้นฐานบางโครงการที่พร้อมและมีขนาดเล็กกว่าให้เดินหน้าก่อนได้ ในช่วงที่โครงการที่มีขนาดใหญ่กว่ายังล่าช้าเนื่องจากติดขัดด้านกฎระเบียบหรือขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง
ในด้านเงินเฟ้อ เราได้ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปในปี 2559 และ 2560 มาอยู่ที่ร้อยละ 0.3 และร้อยละ 2.0 จากร้อยละ 0.7 และร้อยละ 2.1 ตามลำดับ จากการลดลงอย่างผิดคาดของภาวะราคาอาหารในไตรมาส 3 เรายังมองว่ามีความเป็นไปได้ที่ธปท.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกร้อยละ 0.25 เหลือร้อยละ 1.25 ในไตรมาส 4/59 เนื่องแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำและความเสี่ยงขาลงต่อเศรษฐกิจไทยที่ยังคงมีอยู่ประเด็นด้านนโยบาย
ดร. วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เน้นย้ำในการกล่าวสุนทรพจน์เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินยังคงให้ความสำคัญกับการรักษาพื้นที่การดำเนินมาตรการทางการเงิน หากว่ามีความจำเป็นต้องใช้เพื่อบรรเทาผลกระทบหรือเหตุการณ์เชิงลบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น หากโมเมนตัม ของการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอลง เราคาดว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงต่อไปจะเป็นไปอย่างจำกัด
ในขณะเดียวกัน ผู้ว่าธปท.กล่าวว่า ธปท.จะยังคงดูแลไม่ให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินในระดับที่มากเกินไป เพื่อมิให้กลายเป็นปัจจัยถ่วงการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งบ่งชี้ว่าหากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงมากยังคงกดดันค่าเงินบาทให้แข็งค่าขึ้น ธปท.น่าจะพยายามชะลอการแข็งค่าต่อไปเพื่อทอดเวลาให้ภาคธุรกิจได้ปรับตัว
ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ธปท.สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ด้วยการปรับโครงสร้างทางการเงินของไทยหลายด้าน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การเข้าถึงบริการทางการเงินสามารถทำได้ง่ายขึ้น ส่งเสริมและพัฒนาความรู้ความเข้าใจด้านการเงิน และลดต้นทุนการทำธุรกรรมทางการเงิน ตัวอย่างเช่น การผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อให้การป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน และการเคลื่อนย้ายเงินทุนทำได้คล่องตัวขึ้น สนับสนุนการปรับปรุงฐานข้อมูลของ SME และการบังคับใช้พรบ.หลักประกันทางธุรกิจ (Business Security Act) เพื่อลดต้นทุนการกู้ยืม และร่วมจัดตั้งระบบโอนเงินรูปแบบใหม่สำหรับลูกค้ารายย่อย
สำหรับนโยบายการคลัง เราคาดว่ายังคงเป็นการดำเนินการแบบสองด้านควบคู่กันไป คือ การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น และการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการปฏิรูปในระยะยาว ซึ่งรวมถึง แผนแม่บทการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบคมนาคมขนส่ง แผนเศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากนี้ คาดว่าการปรับปรุงด้านกฎระเบียบอื่นๆ เช่น ข้อเสนอของกระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อเร็วๆ นี้ ที่จะขยายระยะเวลาใบอนุญาตการทำงาน และการลดอัตราภาษีเงินได้สำหรับผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยชาวต่างชาติที่ปฏิบัติงานในโครงการการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพื่อสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชนในส่วนนี้ความเสี่ยง
ภาพรวมการส่งออกยังคงอ่อนแอ และมีโอกาสสูงที่จะกระทบต่อการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงรายได้และแนวทางการปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกัน ระยะเวลาของการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ยังคงคาดเดาได้ยาก เช่น รถไฟความเร็วสูง ถึงแม้ว่าเราคาดว่าแนวโน้มการลงทุนภาครัฐโดยรวมจะดีขึ้น และประการสุดท้าย คือ การเติบโตของการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่งยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อเศรษฐกิจในช่วงต่อไปเนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศยังคงอ่อนแอ จึงต้องให้ความระมัดระวังในประเด็นเรื่องความปลอดภัย หรือเหตุการณ์ทางการเมืองที่อาจจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อการท่องเที่ยวได้เสมอ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit