ทพ.อดิเรก ศรีวัฒนาวงษา นายกทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย และกรรมการทันตแพทยสภา กล่าวว่า ตามที่มีข่าวเรื่องการบังคับใช้กฎหมายฉบับใหม่เกี่ยวกับเครื่องถ่าย X-ray ซึ่งรวมไปถึง เครื่อง X-ray ทันตกรรม ตาม พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 และมีการออกข่าวในหลายทิศทางซึ่งได้สร้างความสับสนให้กับผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมนั้น เพื่อความชัดเจนและทราบแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ที่ผ่านมาได้เข้าพบ นายวิวิช ธรรมวีระพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักกำกับดูแลความปลอดภัยทางรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ขอทราบแนวทางปฏิบัติเพื่อให้ทันตแพทย์ได้มีการเตรียมตัวและดำเนินการได้ถูกต้อง
ทั้งนี้ พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 เป็นฉบับที่ออกมาแทน พ.ร.บ.ฉบับ พ.ศ. 2504 และ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2508 ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับ 2559 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 และจะมีผลต่อวิชาชีพทันตกรรม ดังนี้
1. คลินิกที่มีเครื่องกำเนิดรังสี-เครื่องถ่าย X-ray ทางทันตกรรม ต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี (RSO- Radiation Safety Officer) ประจำตลอดเวลาทำการ ซึ่งตามกฎหมายฉบับปัจจุบันนี้ไม่มีการยกเว้นทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ดังนั้นในคลินิกที่มีทันตแพทย์สลับกันทำงาน ต้องให้แน่ใจว่าตลอดเวลาทำการ มีทันตแพทย์ที่เป็น RSO หรือเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี ซึ่งหมายความว่าในคลินิกอาจต้องมีทันตแพทย์มากกว่า 1 คน ที่มีใบ RSO
2. ทันตแพทย์ทุกคนสามารถไปขึ้นทะเบียนเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีได้ โดยต้องผ่านการสอบขึ้นทะเบียนเป็น RSO
3. พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 แต่เนื่องจากยังไม่มีกฎกระทรวงที่กำหนดรายละเอียดและวิธีการสอบขึ้นทะเบียนเป็น RSO ดังนั้นจึงต้องใช้บทเฉพาะกาลให้ผู้ที่มีใบ RSO ตาม พ.ร.บ.ฉบับปัจจุบัน มีผลต่อไป จนกว่าจะมีการออกกฎกระทรวงว่าด้วยเรื่องการสอบขึ้นทะเบียนเป็น RSO ตาม พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 มาบังคับใช้จึงจะมีแนวทางปฏิบัติใหม่ ดังนั้นหากใครไม่มีใบ RSO จะไม่สามารถใช้เครื่อง X-ray ทันตกรรม หากตรวจพบจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559
ดังนั้นทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) จึงได้จัดให้มีการสอบเฉพาะทันตแพทย์เพื่อเป็น RSO ก่อนที่ พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 ฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ โดยเห็นชอบร่วมกันว่าจะจัดสอบทั่วประเทศ ประมาณ 8-10 ศูนย์สอบ ในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2559 และใช้คณะทันตแพทยศาสตร์ทั่วประเทศเป็นสนามสอบ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกนั้น อาจใช้โรงพยาบาลจังหวัด 1-2 แห่งเข้าร่วมเป็นสถานที่ด้วย
ทพ.อดิเรก กล่าวต่อว่า การสอบจะประกอบไปด้วย 2 ส่วน ส่วนที่เป็นกฎหมาย คือ พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 และเนื้อหาบางส่วนใน พ.ร.บ.เดิมที่ถูกนำมาใช้ต่อเนื่อง กฎกระทรวงเดิมที่ส่วนใหญ่ยังมีผลบังคับใช้ และเกี่ยวข้องกับเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยทางรังสี
ส่วนที่สองคือเทคนิคทางรังสี ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับเครื่องเอ็กซเรย์ทันตกรรมชนิดต่างๆ รูปแบบของรังสี การติดตั้ง ห้องถ่ายภาพเอ็กซเรย์ชนิดต่างๆ ทั้งในปากและนอกปาก และอื่นๆ แต่ไม่รวมเทคนิคการถ่ายภาพรังสี เช่น การ Locate foreign body เทคนิคการถ่ายเอ็กซเรย์แบบต่าง ๆ
ทั้งนี้ ทันตแพทยสภาและทันตแพทยสมาคมจะจัดให้มีการบรรยายเพื่อสร้างความเข้าใจก่อนการสอบ ในส่วนของกฎหมายจะเชิญวิทยากรจากสำนักงาน ปส. และส่วนของเทคนิคทางรังสีจะเชิญวิทยากรจากคณะทันตแพทย์ต่างๆ โดยจะเป็นการจัดให้เข้าฟังฟรี และมีการถ่ายทอดสดผ่านทางอินเตอร์เน็ต ผู้ที่เข้าฟังจะสามารถสอบถามประเด็นต่างๆ จากวิทยากรได้ผ่านกระดานข่าว การจัดบรรยายดังกล่าวนี้คาดว่าจะมีขึ้น 1 สัปดาห์ก่อนการสอบในเดือนพฤศจิกายน 2559 สถานที่จัดบรรยายจะใช้ศูนย์ประชุมในกรุงเทพมหานครที่เดินทางได้สะดวกและมีที่จอดรถเพียงพอต่อทันตแพทย์ที่เข้าฟัง ซึ่งจะต้องมีการลงทะเบียนเพื่อให้ทราบจำนวนผู้เข้าฟังสำหรับการเตรียมจัดห้องประชุมให้พอเพียง
"เมื่อกำหนดวันสอบ สถานที่สอบ วันจัดบรรยายและสถานที่จัดบรรยายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะประชาสัมพันธ์ให้ทันตแพทย์ได้รับทราบและเตรียมตัวให้พร้อมเข้าฟังบรรยายและสอบ ค่าสมัครสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นเจ้าพนักงานความปลอดภัยทางรังสี คือ 800 บาท" นายกทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยและกรรมการทันตแพทยสภา กล่าว